ปรสิต หรือ Parasite ที่พบในสัตว์เลี้ยงของเราทั้งน้องหมาและน้องแมว คือสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บนตัวสัตว์เลี้ยงและมักก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพหรืออันตรายที่ร้ายแรงตามมา มีทั้งที่อาศัยอยู่ภายนอก เช่น เห็บ หมัด เหา หรือ ที่อาศัยอยู่ภายใน เช่น พยาธิในทางเดินอาหารชนิดต่างๆ เป็นต้น
วันนี้ บ้านและสวน Pets จะให้คุณหมอมาเล่าถึงข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับพยาธิภายนอก พยาธิภายใน และ การถ่ายพยาธิ ที่เหมาะสมแก่น้องหมาน้องแมวให้ทุกท่านได้ทราบกันค่ะ
เห็บ (Ticks)
มาเริ่มกันที่ “เห็บ” เลยละกันนะคะ เห็บมีทั้งตัวแบนๆ เล็กๆ กับตัวเป้งๆ ใหญ่ๆ ที่มีเลือดอยู่เต็มท้อง ขนาดต่างกันแบบนี้เพราะเป็นตัวผู้กับเป็นตัวเมียค่ะ โดยตัวผู้มักจะตัวเล็กกว่า บางทีก็เกาะอยู่ใกล้ๆ กัน หรือ กำลังผสมพันธุ์กันอยู่ ซึ่งจะมีทั้งหมด 4 ระยะคือ ไข่ (Egg) ตัวอ่อน (Larva) ตัวกลางวัย (Nymph) และ ตัวเต็มวัย (Adult) มักพบในสุนัขเป็นหลัก เมื่อเห็บจะเปลี่ยนระยะจะลงจากตัวสุนัขมาลอกคราบข้างล่างแล้วกลับขึ้นไปบนตัวสุนัขอีกรอบ ซึ่งอาจจะเป็นสุนัขตัวเดิมหรือตัวใหม่ก็ได้ กินเลือดเป็นอาหารทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ไม่สามารถกระโดดได้ ชอบอากาศที่ค่อนข้างร้อนและมีความชื้นสูง ทนกับสภาพแวดล้อมได้ดี ตัวเมียที่กินเลือดจนอิ่มจะลงมาวางไข่ข้างล่างตามซอกหลืบ มุมผนัง ซึ่งวางไข่แต่ละทีจะได้ไข่เห็บเกือบ 5,000 ฟอง หลายท่านคงเคยสงสัยว่า ถ้าบี้เห็บตัวเมียจนเลือดกระจาย ไข่ที่อยู่ข้างในจะกลายเป็นกองทัพเห็บอ่อนตามมาไหม หมอขอตอบว่าไม่นะคะ เพราะไข่ในท้องไม่ผ่านวิธีการฟักตามธรรมชาติ จึงไม่สามารถฟักเป็นตัวอ่อนได้
เห็บพวกนี้ นอกจากจะทำให้สุนัขคันและดูดเลือดสุนัขแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ได้แก่ พยาธิในเม็ดเลือด (Blood parasites) ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากทำให้สุนัขมีภาวะเลือดจาง เกล็ดเลือดต่ำ และเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา แม้ว่าภายในบ้านจะไม่มีเห็บเลย แต่สุนัขไปโดนเห็บกัดมาจากที่อื่น เช่น สนามหญ้า ร้านอาบน้ำตัดขน หรือแม้แต่โรงพยาบาลสัตว์ก็อาจจะติดเชื้อได้อย่างง่ายดาย เพราะเห็บตัวเดียวที่มีเชื้อกัดและดูดเลือดสุนัขเพียงครั้งเดียวก็สามารถเป็นพยาธิเม็ดเลือดได้ หรือแม้แต่โดนกัดครั้งเดียวตอนเด็กๆ เชื้ออาจแฝงอยู่กับสุนัขได้ตลอดชีวิต และแสดงอาการออกมาเมื่อไหร่ก็ได้
หมัด (Fleas)
ส่วน “หมัด” จะตัวเล็กๆลีบๆ มีขาที่แข็งแรง สามารถกระโดดได้ไกลและเคลื่อนที่ได้เร็วมาก มีทั้งหมด 4 ระยะเช่นเดียวกับหมัด ได้แก่ ไข่ (Egg) ตัวอ่อน (Larva) ดักแด้ (Pupa/Cocoon) และตัวเต็มวัย ( Adult ) มักพบในแมว มีเพียงระยะตัวเต็มวัยเท่านั้นที่ต้องกินเลือดเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังผสมพันธุ์และไข่บนตัวแมวด้วย โดยไข่ของหมัดมักมีขนาดเล็ก สีขาว ไม่ค่อยติดกับขนแมวทำให้หล่นลงพื้นได้ง่ายและใช้เวลา 2 – 16 วันจึงจะฟักเป็นตัวอ่อน ซึ่งตัวอ่อนเนี่ยไม่ได้เป็นอันตรายกับแมวนะคะเพราะอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อม กินฝุ่นผง เลือดแห้ง หรือ อุจจาระของตัวเต็มวัยเป็นอาหาร แต่อย่าปล่อยให้โตไปถึงตัวเต็มวัยเชียว เพราะเวลาหมัดกัดจะปล่อยน้ำลายลงไปที่ปากแผลก่อนแล้วค่อยดูดเลือด แมวหรือสุนัขบางตัวอาจมีภาวะภูมิแพ้จากการถูกน้ำลายหมัดได้ (Flea allergic dermatitis) ทำให้เป็นโรคผิวหนังและขนร่วงตามมา นอกจากนี้ยังเป็นพาหะของพยาธิตัวตืดเรียกว่า “พยาธิตืดหมัด” (Dipylidium Caninum) ที่พบในสุนัขและแมว และเป็นพยาธิที่สามารถติดต่อสู่คนได้อีกด้วย
การป้องกันและกำจัดเห็บหมัด
การป้องกันและกำจัดเห็บหมัดโดยใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีตามท้องตลาดมีหลายรูปแบบ เช่น กิน หยอดหลัง พ่น แชมพู แป้ง หรือกระทั่งยาฉีด เป็นต้น โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์แบบหยดหลังและกินจะทำการหยด ”ทุกๆเดือน” อย่างไรก็ตามคุณหมอต้องบอกก่อนว่าไม่มียาหรือผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่ป้องกันได้ 100% เป็นผลิตภัณฑ์ จึงจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังไม่ให้โดนเห็บหมัดกัด จัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อกำจัดเห็บหมัดทุกๆ ระยะที่ไม่ได้อยู่บนตัวสุนัขและแมวอย่างต่อเนื่อง และควรปรึกษาสัตวแพทย์ทุกครั้งก่อนเลือกใช้วิธีใดๆ ก็ตาม
ปรสิตภายในหรือพยาธิในทางเดินอาหารของสุนัขและแมว
จากการสำรวจพบว่า สุนัขและแมวจรจัดในประเทศไทยมักจะติดพยาธิอยู่หลายชนิด โดยชนิดที่พบมาก ได้แก่ พยาธิปากขอ (Hook worm) พยาธิตัวกลม (Round worm) พยาธิตัวตืด (Tape worm) และโปรโตซัว (Toxoplasmosis) ซึ่งสุนัขและแมวสามารถติดพยาธิได้ค่อนข้างง่าย และ ติดได้หลากหลายช่องทางทั้งจากการกินไข่พยาธิที่ออกมากับอุจจาระ การกินตัวอ่อนพยาธิที่อยู่ตามสิ่งแวดล้อม ติดพยาธิตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ติดผ่านการ ”กินนม” จากแม่ที่มีพยาธิหรือผ่านทาง ”สายรก” หรือ แม้แต่การกินหมัดหรือเหาที่มีพยาธิ ส่งผลให้เกิดอาการป่วยต่างๆ ตามมา ซึ่งอาการที่พบหรือความรุนแรงจะแตกต่างกันไปตามชนิดและจำนวนของพยาธิที่มีอยู่ ยกตัวอย่างอาการที่พบได้บ่อยครั้ง ได้แก่ ท้องเสีย อาเจียน ซึม ขนหยาบกร้าน ท้องมาน โลหิตจากจากการเสียเลือดเนื่องจากพยาธิดูดกินเลือดในลำไส้ บางทีอาจจะเห็นตัวพยาธิปนออกมากับตัวพยาธิหรือสัตว์เอาก้นไถพื้นให้เจ้าของเห็นชัดเจน ซึ่งอาการก็จะมีตั้งแต่ไม่รุนแรงมากจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ จึงจำเป็นที่จะต้องถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอ
ล่าสุดได้มีข้อแนะนำสำหรับลูกสุนัขและลูกแมวว่าควรได้รับ การถ่ายพยาธิ ไส้เดือนและพยาธิปากขอตั้งแต่อายุ 2 สัปดาห์ และให้ยาต่ออีกทุก 2 สัปดาห์จนอายุครบ 8 สัปดาห์ หลังจากนั้น จึงเริ่มการป้องกันพยาธิโดยใช้ยาที่มีประสิทธิภาพสำหรับพยาธิไส้เดือนและพยาธิปากขอ “เป็นประจำทุกเดือน” เพื่อจัดการกับการติดเชื้อใหม่ที่อาจเพิ่งรับมา โดยเฉพาะในลูกสัตว์ที่มีโอกาสสูงที่จะได้รับพยาธิจากแม่สัตว์ สัตว์ตัวอื่นและสิ่งแวดล้อม หรืออย่างน้อยควรจะถ่ายพยาธิทุกๆ 3–4 เดือนในสัตว์ที่มีความเสี่ยงน้อย สำหรับแม่สุนัขหรือแมวที่กำลังให้นมลูก ควรได้รับการถ่ายพยาธิพร้อมกับลูกสัตว์ด้วย เนื่องจากพยาธิบางชนิดติดผ่านน้ำนมได้ หรือหากเจ้าของมีความกังวล สามารถนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจอุจจาระทุกๆ 3 เดือน ในช่วงอายุ 1 ปีแรก และประจำทุกๆปี ปีละ 1-2 ครั้งได้ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการให้ยาป้องกัน ซึ่งนอกจากจะถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอแล้วก็ควรกำจัดอุจจาระจากสนามหรือกระบะทรายทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่พยาธิพัฒนาเป็นตัวอ่อนต่อไป
บทความโดย
สพ.ญ.อาภาพร เจตนาวณิชย์
Apaporn Chettanawanit, DVM
โรงพยาบาลสัตว์เพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา
Pet Friends Hospital
Products for Ticks & Fleas รวมผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัด ฉบับรวบรัดหมดห่วง
โรคเอดส์แมว (Feline Immunodeficiency Virus; FIV)