เมื่อน้องแมวฉี่ไม่ออกหรือมีปัญหาภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ปัจจุบันมีผู้ให้การสนใจเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น…โดยเฉพาะแมว…เนื่องจากเพราะความน่ารัก ความช่างเอาใจของเจ้าแมวน้อยหรืออาจจะเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย จึงทำให้ผู้เลี้ยงหรือที่ผู้ที่ได้อยู่ใกล้นั้นตกหลุมรักได้อย่างง่ายดาย ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมว

แต่นอกจากเลี้ยงได้แล้ว เราก็ควรต้องรู้และสังเกตอาการรวมถึงความผิดปกติที่เกิดกับแมวของเราเป็นด้วย ซึ่งความผิดปกติหนึ่งที่พบได้บ่อยในแมวนั้นก็คือ ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมว หรือ ที่มักนิยมเรียกกันติดปากว่า “แมวปัสสาวะ(ฉี่)ไม่ออก” นั่นเอง

ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมว
ขอบคุณภาพจาก : www.acvs.org

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ คืออะไร?

คือการที่ผนังกระเพาะปัสสาวะมีการหนาตัวและอักเสบ โดยมักจะมีการสะสมของตะกอนโปรตีน นิ่วหรือก้อนลิ่มเลือดเป็นส่วนมาก การอักเสบที่เกิดขึ้นนี้มักเกิดร่วมไปถึงท่อทางเดินปัสสาวะส่วนล่างที่ต่อจากกระเพาะปัสสาวะไปจนถึงท่อปัสสาวะส่วนปลายได้ และสาเหตุใหญ่ๆ ของการอักเสบนั้นมักเกิดจากการติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย หรือจากการไม่ติดเชื้อ เช่น การมีนิ่ว เป็นต้น

ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมว
ขอบคุณภาพจาก : www.studyblue.com – www.meadowsvetclinic.com – www.vscdsurgerycenters.com

ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั้นส่วนใหญ่เราพบได้ทั้งในแมวเพศผู้และเพศเมีย แต่ในแมวเพศผู้มักจะพบได้มากกว่า เนื่องจากโครงสร้างของระบบทางเดินปัสสาวะที่ซับซ้อนและง่ายต่อการอุดตันมากกว่าในเพศเมียค่ะ

แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรว่าแมวของเราเริ่มมีปัญหานี้ ?

  • เข้ากระบะทรายเป็นเวลานานและมีการเบ่งถ่ายมากกว่าปกติ ซึ่งอาการเหล่านี้เจ้าของบางคนอาจสับสนกับภาวะท้องผูกค่ะ การที่จะทราบได้ว่าแมวของเรานั้นอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ออกกันแน่ เบื้องต้นที่ทำเองได้คือ การนวดคลำบริเวณตำแหน่งของกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ (กรณีเจ้าของมีประสบการณ์เคยคลำมาก่อน) ว่าบริเวณไหนที่มีความแข็งแน่นมากกว่ากัน ก็จะเป็นการประเมินอาการเบื้องต้นได้ค่ะ
  • ไม่พบปัสสาวะในกระบะทรายหลังจากแมวขับถ่าย หรือพบว่ามีปัสสาวะแต่มีกองปัสสาวะขนาดเล็กผิดปกติ และในบางกรณีอาจพบว่ามีเลือดปนร่วม รวมถึงพบเลือดเลอะเปรอะอยู่รอบๆอวัยเพศ บางครั้งอาจจะพบว่าแมวของเราปัสสาวะเรี่ยราดหรือมีปัสสาวะเล็ดอยู่ตามพื้นบ้านร่วมด้วย
  • อวัยวะเพศบวมแดง เจ็บเวลาถูกจับ หรือพบว่าแมวมีการเลียบริเวณอวัยวะเพศบ่อยผิดปกติ
  • แมวมีอาการซึม เก็บตัว ทานอาหารและน้ำลดลง
  • กรณีที่อาการดำเนินหน้าไปอย่างต่อเนื่องและไม่ได้รับการรักษา แมวจะเริ่มมีอาการอ่อนแรง อาเจียน และเข้าสู่สภาวะช็อคได้ในที่สุด (ถ้าถึงภาวะนี้ถือว่ามีความอันตรายมากค่ะ)

ปัสสาวะของเขา(น้องหมา น้องแมว) บอกอะไรเราได้บ้าง

ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมว แมวฉี่ไม่ออก
ขอบคุณภาพจาก : www.care.com – coveredincathair.com

แล้วเมื่อไหร่ที่ควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์ ?

ควรรีบทำการรักษาเมื่อเริ่มพบความผิดปกติทันที เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุของโรคได้อย่างรวดเร็วที่สุด เนื่องจากภาวะที่พัฒนามากขึ้นส่งผลต่อการรักษาที่ต้องใช้ระยะเวลาที่มากขึ้น รวมทั้งความยากในการรักษาก็จะมากขึ้นตามไปด้วยค่ะ

การรักษาแมวฉี่ไม่ออกทำด้วยวิธีไหนได้บ้าง ?

การรักษาแบ่งเป็น 2 วิธีใหญ่ๆ คือ

1. การรักษาด้วยการสวนคาท่อปัสสาวะร่วมกับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและยาลดอักเสบ ในกรณีที่เกิดภาวะทางเดินปัสสาวะส่วนปลายมีการอุดตันจากการสะสมของตะกอนโปรตีนหรือนิ่วทรายขนาดเล็ก ที่ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งจะส่งผลให้แมวไม่สามารถปัสสาวะได้เอง สัตวแพทย์จะทำการสวนท่อปัสสาวะคาไว้เพื่อให้ปัสสาวะสามารถระบายออกได้ตามปกติ ระหว่างที่รอให้การอักเสบของทางเดินปัสสาวะลดลงและสามารถกลับมาปัสสาวะได้หลังจากถอดท่อ โดยระยะเวลาในการสวนท่อปัสสาวะนั้นทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 3-7 วันแล้วแต่ความรุนแรงของแต่ละเคส
กรณีที่เป็นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจากแบคทีเรีย สัตวแพทย์จะทำการเพาะเชื้อจากน้ำปัสสาวะเพื่อการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับการติดเชื้อที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปการให้ยาปฏิชีวนะจะมีการให้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานขั้นต่ำ 2 สัปดาห์ และการหยุดยานั้นควรอยู่ภายใต้การพิจารณาของสัตวแพทย์ ไม่ควรทำการหยุดยาเองถึงแม้ว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นจะดูหายเป็นปกติแล้วก็ตาม เนื่องจากการจะพิจาณาหยุดยาได้นั้นต้องประกอบด้วยการตรวจปัสสาวะ เพาะเชื้อปัสสาวะซ้ำ รวมถึงอาจมีการอัลตราซาวน์กระเพาะปัสสาวะก่อนพิจารณาหยุดยา เพื่อให้มั่นใจได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นได้ถูกรักษาและแก้ไขอย่างดีแล้ว

2. การรักษาด้วยการผ่าตัด ในกรณีที่ภาวะการณ์อักเสบที่เกิดขึ้นเกิดจากการมีนิ่วเป็นสาเหตุ วิธีการรักษานั้นคือการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะเพื่อนำนิ่วออก นอกจากนี้การรักษาด้วยการผ่าตัดนั้นยังใช้เพื่อทำการรักษาในกรณีที่แมวตัวผู้มีท่อทางเดินปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรัง จนเกิดการตีบตันขึ้นจนไม่สามารถรักษาด้วยการสวนท่อหรือรักษาทางยาได้ ซึ่งวิธีที่ใช้ในการผ่าตัดคือการผ่าตัดย้ายตำแหน่งของท่อปัสสาวะ เพื่อตัดส่วนของท่อปัสสาวะที่มีปัญหาออกไปและสร้างทางเปิดของปัสสาวะขึ้นมาใหม่ โดยตำแหน่งในการผ่าตัดนั้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของท่อปัสสาวะที่มีปัญหาค่ะ

การดูแลแมวเมื่อมีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

กรณีแมวที่มีอาการเรื้อรังหรือรุนแรง สัตวแพทย์จะแนะนำให้ทำการแอดมิทเพื่อการให้สารน้ำทดแทน ร่วมกับการดูแลจากสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีที่สุด แต่ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง สามารถดูแลที่บ้านได้ ถ้ายังอยู่ในช่วงที่ยังมีการสวนคาท่อปัสสาวะอยู่ ควรระมัดระวังอย่าให้ท่อหลุดออกก่อนถึงกำหนด นอกจากนี้ต้องป้อนยาที่ได้รับมาอย่างเคร่งครัด เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีที่สุดของแมวเราค่ะ

วิธีการป้องกันปัญหาภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • วางกระบะทรายในบริเวณที่มีความเงียบสงบ และมีจำนวนที่เพียงพอต่อประชากรแมวในบ้าน โดยจำนวนของกระบะทรายที่เหมาะสมคือ ”จำนวนแมวที่มี+1” เช่น กรณีมีแมว 3 ตัว กระบะทรายที่ควรมีขั้นต่ำคือ 4 อันเป็นต้น
  • ตั้งถ้วยน้ำในหลายๆตำแหน่งในบ้าน เพื่อช่วยในการกระตุ้นการกินน้ำของแมว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันปัญหาที่สำคัญ
  • เลี่ยงปัจจัยที่เป็นสิ่งกระตุ้นการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เช่น ความเครียด ความอ้วน เป็นต้น

บทความโดย

สพ.ญ.ติราภา รัตนเมธี
Tirapa Rattanamatee, DVM
หน่วยโรคไตและทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
Nephrology and Urology Clinic, Kasetsart Veterinary Teaching Hospital, Bangkhen

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่