โรคผิวหนังเป็นยีสต์ในสุนัข (Canine Malassezia dermatitis)

สาเหตุ

ปัจจุบันเมื่อพบว่ามีเชื้อยีสต์ (Malassezia) มีมากถึง 18 สปีชีส์ด้วยกัน โดย โรคผิวหนังเป็นยีสต์ในสุนัข มักเกิดจากการติดเชื้อยีสต์ที่ชื่อว่า Malassezia pachydermatis ซึ่งพบได้บ่อยในสุนัข ส่วนสปีชีส์อื่น ๆ พบได้ในปริมาณน้อยกว่า เช่น Malassezia nana ในช่องหู หรือ Malassezia slooffiae บริเวณร่องเล็บ โดยโรคผิวหนังเป็นยีสต์มักพบในสัตว์ที่มีผิวหนังเปียกชื้น อับชื้น ยีสต์เป็นเชื้อที่ฉวยโอกาส มักเกิดแทรกซ้อนในสัตว์ที่เป็นโรคผิวหนังแบบอื่นๆได้ง่าย สามารถเกิดจากพันธุกรรม และพบร่วมกันน้องหมาที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนัง โดยสายพันธุ์ที่สุ่มเสี่ยง (Breed predisposition) และสุนัขที่มีโรคภูมิแพ้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดยีสต์ได้ นอกจากนี้ยังมีเคสที่เกิดแบบไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic) อีกด้วย

ยีสต์ตัวนี้สามารถพบได้ในสุนัขปกติอยู่แล้วจำนวนน้อย จึงไม่สามารถก่อให้เกิดความผิดปกติของผิวหนังได้ หากมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สายพันธุ์ ภาวะภูมิแพ้ อายุ พันธุกรรม การได้รับยากดภูมิคุ้มกันนานๆ ความอับชื้น และอื่นๆ อีกมากมาย ก็จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่ผิวหนังสุนัขไม่สามารถควบคุมเชื้อตัวนี้ได้ ทำให้เชื้อเพิ่มปริมาณมากขึ้นและก่อให้เกิดโรคตามมาได้

สายพันธุ์ที่สุ่มเสี่ยง (Breed predisposition)

– Basset Hounds
West Highland White Terriers
Shih Tzu, English Setters
– American Cocker Spaniels
– Boxers
Dachshunds
Poodles
– Australian Silky Terriers
– และสายพันธุ์อื่นๆที่มีผิวหนังย่นเป็นร่อง (skin fold) เนื่องจากผิวหนังจะมีความอับชื้น ทำให้เชื้อยีสต์สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เหนี่ยวนำให้เกิด Malassezia dermatitis แบบเฉพาะที่

ปัจจัยอื่นๆที่เหนี่ยวนำให้เกิดโรคยีสต์

– แพ้น้ำลายเห็บหมัด
– แพ้อาหาร
– ความผิดปกติของการแบ่งเซลล์ในชั้นของผิวหนังที่ไม่สมบูรณ์ (cornification/keratinization disease) โดยเซลล์ที่แบ่งตัวใหม่ในชั้นผิวหนังจะเกาะยึดกันหลวมๆ ทำให้ผิวหลุดลอกออกเป็นแผ่นเห็นเป็นขุยได้
– โรคทางระบบฮอร์โมน และต่อมไร้ท่อ

อาการ

โรคผิวหนังเป็นยีสต์ในสุนัข มีอาการที่หลากหลายแบบด้วยกัน ดังนี้
– มักพบว่ามีคราบเหนียว มันเยิ้มที่ผิวหนัง รอบริมฝีปาก ลำคอ อุ้งเท้า ซอกเล็บ ขาหนีบ ตามร่องผิวหนัง(skin fold) ใบหู
– มีอาการคันรุนแรง
– ผิวหนังเป็นผื่นแดง
– มีสะเก็ดรังแค
– ขนร่วง
– หูอักเสบ (otitis externa) พบขี้หูมีสีเหลืองเหนียว คันหู สะบัดหู
– ส่วนในสุนัขเป็นยีสต์เรื้อรังจะพบว่าผิวหนังบริเวณที่เป็นเปลี่ยนสีไป ผิวหนังหนา แข็ง เหมือนผิวหนังช้าง (elephant-like skin) ขนร่วง มีกลิ่นเหม็น

การวินิจฉัย

สังเกตจากลักษณะผิวหนัง และเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อ Malassezia ในสุนัข โดยเก็บตัวอย่างจากผิวหนังมาย้อมสี (Skin cytology) เพื่อดูกลุ่ม ยีสต์ แบคทีเรีย หรือเซลล์ต่างๆ โดยวิธีการเก็บตัวอย่างสามารถทำได้หลายวิธี เช่น วิธีกดทับบนสไลด์ (impression smear), วิธีกดทับบนเทปใส (tape impression smear) และ ขูดเก็บตัวอย่าง (scraping) ส่วนช่องหูแนะนำให้วิธี เก็บด้วยไม้พันสำลีปราศจากเชื้อ (swab smear)

การเพาะเชื้อ ในแบบต่าง ๆ เช่น แบบที่สามารถใช้บอกได้เบื้องต้นได้ว่ามีหรือไม่มีเชื้อ ซึ่งสามารถนำมาใช้วินิจฉัยโรคในทางคลินิก หรือแบบที่สามารถเพาะเชื้อเพื่อหาเชื้อและปริมาณของเชื้อได้ ซึ่งมักใช้ในงานวิจัยมากกว่า

การวินิจฉัยเพิ่มเติมอื่นๆเพื่อหาสาเหตุแท้จริง (underlying cause) ของการเกิดโรค เช่น การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง(Intradermal allergy testing), การเปลี่ยนอาหารเป็นสูตรสำหรับสุนัขแพ้อาหารเพื่อทดสอบภูมิแพ้ทางอาหาร (hypoallergenic food trial), การทดสอบการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ (endocrine tests) และการตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนังส่งตรวจ (Skin biopsy)

การรักษา

1. อาบน้ำ หรือฟอกบริเวณที่เป็นยีสต์ด้วย 2% miconazole/ 2% chlorhexidine shampoo ทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างออก ทำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือทางเลือกแรกในการรักษา รองลงมาคือการใช้ 3% chlorhexidine shampoo ฟอกทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างออก ทำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยทั้งสองแบบให้อาบสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น สัปดาห์ละครั้งต่อเนื่อง
2. ให้กินยาฆ่าเชื้อราและยีสต์ Ketoconazole หรือ Itraconazole อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ หรือตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ซึ่งสามารถให้ผลการรักษาที่น่าพึงพอใจทั้งคู่ การเลือกใช้ให้พิจารณาจากรูปแบบยาที่ใช้ได้ในแต่ละประเทศและงบประมาณของเจ้าของเป็นหลัก
3. ในกรณีที่เป็นยีสต์ในหู ให้ล้างหูด้วยน้ำยาล้างหู แล้วหยดยาที่มีส่วนผสมของยาฆ่ายีสต์เช่น Clotrimazole อย่างน้อย 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นเช็คซ้ำว่ายังพบยีสต์อยู่หรือไม่ หากยังพบยีสต์ให้หยดหูต่อเนื่องตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ต่อไป
4. ในรายที่มีอาการคัน แนะนำให้ยาลดอาการคัน ซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกันเช่น Chlorpheniramine, Hydroxyzine และ Oclacitinib maleate (Apoquel) เป็นต้น โดยให้ตามอาการคัน หรือตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
หลังจากรักษาทางยากินและยาใช้ภายนอก อาการคันจะลดลงใน 1 สัปดาห์ วิการจะดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ โดยระยะการรักษาจนหายดีใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน และหลังจากรักษาหายแล้ว ต้องให้ยาฆ่าเชื้อราและยีสต์ต่อ 7-10 วัน

การป้องกันโรคยีสต์ในสุนัข

การรักษายีสต์นั้น สามารถหายได้หลังจากได้รับยา และการรักษาอย่างเหมาะสม โดยสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ใหม่หากมีปัจจัยเหนี่ยวนำทำให้เกิดยีสต์อีก จึงควรป้องกันภาวะเปียก อับชื้น เช่น อาบน้ำแล้วเป่าให้แห้ง หมั่นเช็ดทำความสะอาดตามร่องผิวหนัง(skin fold) เป็นต้น
ในรายที่ไม่สามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยง(predisposing factor) ได้ ในระยะยาวแนะนำให้ใช้ 2% chlorhexidine/ 2% miconazole shampoo หรือ 3% chlorhexidine shampoo อาบน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้การใช้ topical hydrocortisone aceponate ซึ่งเป็นยากลุ่ม steroids ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเนื่องจากภาวะภูมิแพ้ และลดอาการคัน ยังสามารถป้องกันการเกิดหูอักเสบ(otitis externa) ในเคสที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนัง (allergic skin disease) ได้อีกด้วย
ส่วนการใช้ยาฆ่ายีสต์ Itraconazole แบบ pulse therapy คือการให้ยาหลังจากที่สัตว์หายดีแล้ว และหยุดยาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีแผนการให้ยาต่อเนื่องเป็นระยะ เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำอีก โดยมีรายงานว่าสามารถป้องกันการเกิดผิวหนังเป็นยีสต์ Malassezia dermatitis ในสุนัขได้ (แต่ใช้ไม่ได้กับหูอักเสบมียีสต์) อย่างไรก็ตามมีรายงานที่พบว่าการใช้ Itraconazole แบบ pulse therapy นั้นสามารถก่อให้เกิดปัญหาการดื้อยาได้เช่นกัน

บทความโดย

สพ.ญ. เณศรา ชมวิวัฒน์
Nessara Chomwiwat, DVM
โรงพยาบาลสัตว์จัสโก้ รัชดา
Jusco Ratchada Animal Hospital

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่