แมวตัวเมียติดสัตว์ หรือที่ถูกต้องคือ ติดสัด เป็นพฤติกรรมเริ่มต้นของวงรอบการผสมพันธุ์ ในแมว และสัตว์เลี้ยง วงรอบติดสัดของแมวและสุนัข มีความแตกต่างกันกันอย่างไร ไปติดตามกันเลยค่ะ
แมวตัวเมียติดสัตว์ เป็นอย่างไร เป็นคำถามยอดฮิตที่เหล่าพ่อแม่มือใหม่สอบถามกันเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ เลยค่ะ จริงแล้วคำว่า ติดสัตว์ หรือที่ถูกต้องคือ ติดสัด เป็นพฤติกรรมการสืบพันธุ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติเมื่อสัตว์เลี้ยงเติบโตถึงวัยเจริญพันธุ์ เพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องนี้มากขึ้น บ้านและสวน Pets จะให้คุณหมอมาอธิบายให้ฟังกันค่ะ
วงรอบสัดของแมว
แมวเพศเมียจะเริ่มแสดงอาการเป็นสัด (แมวตัวเมียติดสัตว์) เมื่ออายุประมาณ 4-10 เดือน โดยมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ได้แก่ น้ำหนักตัว สายพันธุ์ (แมวขนยาวหรือขนสั้น) และแสงแดด
ส่วนเรื่องน้ำหนักตัว ใช้ในการประเมินเรื่องความสมบูรณ์ของร่างกายที่โตเต็มที่ และไม่ผอมจนเกินไป เนื่องจากฮอร์โมนเพศที่ควบคุมพฤติกรรมการสืบพันธุ์ สร้างมาจากไขมันประเภทโคเลสเตอรอล
ถ้าอายุถึงเกณฑ์แต่สัตว์ผอมมาก ระดับไขมันที่ขาดพร่องอาจมีผลต่อการสร้างอนุพันธ์ต่าง ๆ ของฮอร์โมนเพศที่น้อยลงด้วย สัตว์ที่ผอมจึงมักจะแสดงอาการสัดช้า
ส่วนเรื่องของสายพันธุ์แมวขนสั้นหรือขนยาว พบว่า แมวกลุ่มขนสั้นจะเป็นสัดแรกได้เร็วกว่ากลุ่มแมวขนยาว
และปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญต่อวงรอบสัดในแมวมาก คือ แสง เนื่องจากแสงเป็นปัจจัยการกระตุ้นการทำงานของระบบฮอร์โมนเพศในแมว ความเข้มแสงที่เพียงพอและยาวนานกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน จะมีผลต่อต่อมไพเนียลภายในสมองที่จะหลั่งสารเมลาโตนินลดลง จนกระตุ้นกระบวนการสร้างฮอร์โมนเพศและกระตุ้นให้แมวเป็นสัด
ดังนั้น จะเห็นว่าแสงมีผลอย่างมากต่อรอบการเป็นสัดและสังเกตได้ชัดในโซนประเทศเมืองหนาว ที่มีแสงแดดต่อวันน้อย แมวจะแสดงสัดตามฤดูกาลในช่วงฤดูร้อนที่มีแสงเพียงพอและตลอดฤดูร้อนอาจจะแสดงอาการสัดได้หลายรอบ (seasonal polyestrous) ส่วนบ้านเราเมืองร้อนที่มีฤดูร้อนน้อย ร้อนปานกลาง และร้อนมาก แมวจึงมีโอกาสแสดงสัดได้ตลอดปี หง่าวกันบ่อย ๆ มีลูกดกตลอดปี
การดูแลลูกหมาและลูกแมวหลังคลอด
วงรอบติดสัด ของสุนัขและแมว แตกต่างกันอย่างไร
จากที่กล่าวมาข้างต้น แมวจะเป็นสัดได้บ่อย ๆ (polyestrous) นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ วงรอบสัดในแมวและสุนัข แตกต่างกัน เนื่องจากแมวส่วนมากต้องได้รับการกระตุ้นให้ตกไข่ (induce ovulation) จากการขึ้นผสมของแมวตัวผู้
ในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาทีที่ตัวผู้ขึ้นผสมนั้น หนามที่ปลายอวัยวะเพศผู้ (penile spine) จะเสียดสีกับผนังช่องคลอดแมวตัวเมียซึ่งจะกระตุ้นการตกไข่ แต่ก็มีแมวบางตัวในบางรอบสัดเกิดการตกไข่ได้เองเช่นกัน (spontaneous ovulation)
การสังเกตจากภายนอกไม่สามารถแยกได้ว่าแมวตัวเมียตกไข่แล้วไหมหรือตกไข่เองรึเปล่า ที่ต้องเล่าลึกขนาดถึงการตกไข่เพราะว่า แมวกลุ่มที่เป็นสัดแล้วไม่เกิดการตกไข่ร่วมกับแสงเพียงพอจะกลับไปติดสัดใหม่ได้ทันที
ด้วยเหตุนี้แมวในเขตร้อนบ้านเราที่อยู่ตัวเดียวเป็นโสดจึงหง่าวได้บ่อย จนเป็นเรื่องให้เจ้าของหลายท่านต้องสงสัย
ส่วนแมวกลุ่มที่ตกไข่แล้วจะเข้าสู่ระยะหลังตกไข่ (diestrus) ประมาณ 45-65 วัน ขึ้นอยู่กับไข่ที่ตกมานั้นจะได้รับการผสมติดหรือไม่
หากผสมติด แมวจะตั้งท้อง 63-65 วัน แต่ถ้าตกไข่แต่ไข่ไม่ได้รับการผสม หรือผสมไม่ติด จะอยู่ในระยะนี้ประมาณ 45 วัน และเตรียมกลับสัดใหม่ แต่หากปริมาณแสงไม่เพียงพอ เช่น เข้าฤดูหนาวที่สว่างช้าและค่ำเร็ว หรือแมวเลี้ยงในห้องมืด แมวก็ไม่แสดงอาการเป็นสัดนานจนกว่าจะได้รับแสงที่เพียงพอเพื่อกระตุ้นกลไลระบบฮอร์โมนให้กลับข้าสู่วงจรติดสัด
อาการเป็นสัด (proestrus-estrus) ในแมว พบประมาณ 2-19 วัน (เฉลี่ยประมาณ 7 วัน) อาการร้องหง่าวพบได้ทั้งในเพศเมียและเพศผู้ที่มารอตามผสม นอกจากนั้นแมวเพศเมียจะมีพฤติกรรมเปลี่ยน คลอเคลียมากขึ้น อยากออกไปนอกบ้าน บางตัวอาจแสดงอาการปัสสาวะบ่อย โดยอาการที่แสดงออกมากหรือน้อยอาจแตกต่างไปในแต่ละตัว ช่วงที่เป็นสัดแมวจะไม่แสดงอาการอวัยวะเพศบวมและไม่มีเลือดหยดออกจากอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่แมวต่างจากสุนัข
วงรอบสัดของสุนัข
ส่วนในสุนัขนั้น จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และแสดงสัดแรกในช่วง 6-12 เดือน โดยมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ได้แก่ น้ำหนักตัวและสายพันธุ์ เรื่องน้ำหนักตัวเหตุผลเดียวกับในแมว ส่วนสายพันธุ์สุนัขสายพันธุ์เล็ก จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 6-8 เดือน พบเร็วกว่าสายพันธุ์ใหญ่ที่อาจจะแสดงสัดแรกเมื่ออายุ 12-24 เดือน
วงรอบการเป็นสัดในสุนัขจะค่อนข้างสม่ำเสมอ ไม่มีเรื่องแสงเข้ามาเป็นปัจจัยและไม่ต้องกระตุ้นการตกไข่เหมือนในสัตว์ตระกลูแมว
วงรอบสัดในสุนัขจะมี 4 ระยะที่ชัดเจน ได้แก่ ระยะที่ 1 (proestrus) สุนัขแสดงอาการเป็นสัดชัดเจน อวัยวะเพศบวมและมีเลือดหยดออกทางอวัยวะเพศ แต่ยังไม่ยอมยืนนิ่งให้ตัวผู้ขึ้นผสม ระยะนี้เฉลี่ยประมาณ 9 วัน
สู่ระยะที่สอง (estrous) สุนัขตัวเมียจะยอมยืนนิ่งรับการขึ้นผสมจากตัวผู้ เฉลี่ยประมาณ 9 วันเช่นกัน จึงจะเห็นว่าสุนัขเพศเมียมีอาการเป็นสัดมีเลือดออกจากอวัยวะเพศได้นาน 2-3 สัปดาห์
หลังระยะที่สุนัขแสดงอาการเป็นสัดแล้วจะเข้าสู่ระยะที่ 3 (diestrus) สุนัขที่ผสมติดก็จะตั้งท้อง ส่วนสุนัขที่ไม่ได้ผสมหรือผสมไม่ติดจะไม่แสดงอาการใด ๆ เฉลี่ยประมาณ 2 เดือน และเข้าสู่ระยะเงียบ (anestrus) ระยะนี้สุนัขทุกตัวไม่แสดงอาการใด ๆ เฉลี่ยประมาณ 4-5 เดือน แล้วจะกลับเข้าสู่วงรอบใหม่
อาจนับได้อย่างคร่าว ๆ ว่าใน 1 ปีสุนัขมีอาการเป็นสัดประมาณ 1-2 ครั้ง หรือ แสดงอาการเป็นสัดทุก 6-8 เดือน
บทความโดย
สพ.ญ. ชื่นสุมน ลิ้มมานนท์ (อว.สพ. เวชศาสตร์ระบบสืบพันธุ์)
Chunsumon Limmanont, DVM, MS, DTBT
ศูนย์เวชศาสตร์ระบบสืบพันธุ์ โรงพบาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
Theriogenology Center, Kasetsart University Veterinary Teaching Hospital