การฝังเข็มสัตว์เลี้ยง

8 สิ่งที่ควรรู้ก่อนรักษาด้วยศาสตร์ การฝังเข็มสัตว์เลี้ยง

ในปัจจุบันการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกเริ่มเป็นที่นิยมและมีความต้องการมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการรักษาอาการป่วยต่างๆ ในคน ไม่ว่าจะเป็น การใช้สมุนไพร การฝังเข็ม ครอบแก้ว หรือ แม้แต่การนวดกดจุด เพื่อบำบัดอาการต่างๆ จนเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ซึ่งวิธีการรักษาทางเลือกนี้ ก็สามารถใช้ในสัตว์เลี้ยงได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ยังคงจำกัดในวงแคบๆ อยู่ วันนี้ บ้านและสวน Pets จะมาอธิบาย เรื่อง การฝังเข็มสัตว์เลี้ยง ให้เข้าใจง่ายที่สุดกันครับ

1.ที่มาของการฝังเข็มในสัตว์เลี้ยง

ประเทศจีนเป็นต้นกำเนิดของการฝังเข็ม โดยมีการขุดพบหลักฐานช่วงยุคหินใหม่ อายุไม่ต่ำกว่าสี่พันปีซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุด ทำมาจากหินที่ถูกปรับแต่งให้บางและเล็กลง เพื่อนำมาใช้รักษาโรค เราเรียกเครื่องมือชนิดนี้ว่า “เปี่ยนสือ” ต่อมาก็มีพัฒนาการทำเข็ม มาจากวัสดุพวก กระดูก ไม้ไผ่ ทองแดง เหล็ก ทองคำ และ เงิน นอกจากนี้ ยังมีตำราการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดและตกทอดมาในยุคปัจจุบัน คือ ตำราหวงตีเน่ยจิง ซึ่งเป็นการรวบรวมทฎษฎีทางการแพทย์และการรักษาโรคต่างๆ เอาไว้อย่างครบครัน รวมถึงศาสตร์ของการฝังเข็ม

อีกทั้งหมอยังมีตำนานบทหนึ่งเกี่ยวกับหมอฝังเข็มที่เล่าต่อกันมา นามว่า “มาซือหวง” มาเล่าให้ฟัง โดยมาซือหวงหรือหมอฝังเข็มท่านนี้เป็นหมอที่มีความสามารถเก่งกาจในการรักษาม้าด้วยสมุนไพรจนชื่อเสียงระบือไปไกล ไปถึงหูของเทพพระเจ้ามังกร ซึ่งประจวบเหมาะพอดีที่ตอนนั้นเทพพระเจ้ามังกรกำลังป่วย ท่านจึงได้บินลงมาหามาซือหวง เพื่อทำการรักษา จากนั้นเมื่อมาซือหวงได้มอบสมุนไพร่ให้แก่เทพมังกรและรักษาอาการจนหายเป็นปกติแล้ว จึงกลับมารับหมอมาซือหวงไปอยู่ด้วย จากนั้นท่านหมอก็หายไปจากโลกมนุษย์ อืมมมม..ม สงสัยออกนอกเรื่องไปไกลเลยกลับเข้าเรื่องต่อครับ..555.

บิดาในการฝังเข็มสัตว์ ท่านหมอท่านนี้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ครับ ท่านมีนามว่า ท่านหมอ “โปเล” หรือชื่อในวงการ จะมีนามว่า “ซุนหยาง” ซึ่งมีความรู้ความสามารถในเรื่องของม้ามาก และได้เขียนตำราไว้ 3 เล่ม คือ ตำราบุคลิกของม้า, ตำราการรักษาโรคในม้า และ การฝังเข็มในม้า ซึงถือได้ว่าเป็นบิดาในการฝังเข็มในสัตว์เลยครับ

2.ที่มาของการฝังเข็มสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย

ในประเทศไทย การฝังเข็มรักษาสัตว์มีมานานกว่า 20 ปีแล้วครับ แต่เป็นการรักษากันอยู่ในวงแคบ ๆ ซึ่งสัตวแพทย์ในยุคแรก ๆ จะแสวงหาความรู้ได้จากการหาตำรามาศึกษาเอง ไม่มีสถานที่สอน ทำให้ต้องอ่านเอง ทดลองเอง ด้วยความสงสัยหมอจึงไปหาข้อมูลเรื่องนี้มาเพิ่ม จนพบว่า สัตวแพทย์คนแรกๆ ที่เรียนจบการฝังเข็มในสัตว์ คือ ท่านอาจารย์หมอชำนาญ ตรีณรงค์ ซึ่งท่านไปเรียนที่สถาบัน Chi institute ที่อเมริกาในช่วงปี 2006 และ ใช้เวลาเรียนประมาณ 1 ปี ก่อนจะกลับมาที่ไทย

หลังจากนั้น โอกาสในการเรียนรู้จึงเปิดกว้างมากขึ้น เริ่มมีการจัด workshop มีสัตวแพทย์จากจีนและอเมริกาวนเวียนเข้ามาสอน แต่ก็ยังไม่มีองค์ความรู้ที่มากพอ และ ก็ยังอยู่ในวงแคบ ๆ จนมาถึงยุคปัจจุบัน ที่มีสถาบันเปิดสอนหลายแห่ง โดยสถาบันที่มีคนไปเรียนมากสุดก็น่าจะเป็น Chi Institute เพราะ มีองค์ความรู้ครบที่สุด ซึ่งตัวหมอเองก็เรียนการฝังเข็มมาจากที่นี้เหมือนกันครับ

3.เมื่อไหร่เราต้องพาน้องหมาน้องแมว มารักษาด้วยการฝังเข็ม ?

ตามที่หมอได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น การฝังเข็มมีคนพยายามจัดให้เป็นการรักษาแบบ “ทางเลือก” แต่ในความเป็นจริง การฝังเข็มสามารถใช้เป็นการรักษาหลักก็ได้ รักษาเสริมก็ดี หรือ อาจใช้เป็นการรักษาควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบันเลยก็ไม่ผิดอะไร หรือ แม้แต่ใช้ควบคู่ไปกับการกายภาพบำบัด

ซึ่งจากประสบการณ์ที่หมอเจอเคสมา ส่วนใหญ่จะเป็นเคสที่สิ้นหวังหมดกำลังใจจากการรักษาแบบปกติ หรือ รักษามานานแล้ว แต่อาการยังทรงตัว ไม่ดีขึ้น จึงมาเปลี่ยนแนวทางรับการรักษาแบบทางเลือก และ โรคที่พบส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น อาการปวด อัมพาต ขาอ่อนแรง กระดูกทับเส้นประสาท เป็นต้น รองลงมาก็จะเป็นกลุ่มโรคที่มีความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปัญหาของโรค ตับ ไต หัวใจ เป็นต้นครับ หรือ แม้กระทั่งโรคที่หาสาเหตุไม่เจอก็จะถูกส่งตัวมาฝังเข็ม

จะเห็นได้ว่า การฝังเข็มในสัตว์เลี้ยง แม้เป็นการรักษาแบบทางเลือก แต่ถ้าเราเข้าใจกลไกของโรค และ เอามาใช้ในลักษณะ modern medicine ผสมผสานกันให้ถูกต้องพอเหมาะพอเจาะ ก็มักจะประสบความสำเร็จในการรักษาครับ

4.การฝังเข็มเจ็บไหม ?

คำถามสุดฮิตข้อแรกที่มีถามมากที่สุด ถ้าตอบตรง ๆ ว่า ไม่เจ็บก็เหมือนจะโกหกครับ แต่ในความเป็นจริงความรู้สึกของเข็มที่แทงลงไปบนตัวน้องหมาน้องแมวเจ็บน้อยมาก อาจจะมีคนถามว่าหมอรู้ได้อย่างไรว่าเจ็บน้อย ผมขอตอบว่าผมทดลองแทงตัวเองมาก่อน เลยมั่นใจครับ ซึ่งความรู้สึกเจ็บมีน้อยถึงน้อยมากจริง ๆ เพราะเข็มที่ใช้มีขนาดเล็กและมีความยืดหยุ่นสูง เล็กกว่าเข็มที่ใช้ฉีดยาอีกครับ ซึ่งระยะเวลาที่ฝังเข็มจะอยู่ที่ 20 – 30 นาที ครับ

5.เมื่อฝังเข็มลงไปจะเกิดอะไรขึ้น ?

เมื่อเราปักเข็มลงไปตามจุดต่าง ๆ ที่ใช้ในการรักษาจะเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นกับเส้นเลือดทั่วทุกจุดในร่างกาย ทำให้เลือดสามารถนำสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะเนื้อเยื้อต่าง ๆ และมีการกำจัดของเสียที่คั่งค้างได้ดีขึ้นกว่าปกติ อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นต่อมใต้สมองให้มีการหลั่งสารสื่อสัญญาณประสาทออกมาที่สำคัญและเด่น ๆ เช่น

  •  Endorphins สารตัวนี้มีฤทธิ์ระงับปวดที่แรงมาก มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน แต่ Endorphins ระงับปวดได้แรงกว่ามอร์ฟีน ถึง 1,000 เท่า จึงมีฤทธิ์ในการลดความเจ็บปวดให้แก่ร่างกายได้ดีและปลอดภัยกว่าการใช้ มอร์ฟีน. แถม Endorphins ยังช่วยให้ผ่อนคลายและอารมณ์ดีได้อีกด้วย
  •  Serotonin จะช่วยควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก กระตุ้นความอยากอาหารและการย่อยอาหาร ร่วมถึงการนอนหลับ
  •  Corticosteroid ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ กระตุ้นระบบการทำงานของร่างกาย

การฝังเข็ม มีผลกับการทำงานของระบบประสาท ด้วยการกระตุ้นเส้นประสาทส่วนปลาย ก่อให้เกิดสัญญาณประสาทเข้าสู่ก้านสมองและสมอง ซึ่งมีการเชื่อมโยงกันเป็นระบบเครือข่ายไปยังศูนย์กลางเซลประสาท ทำให้สัญญาณประสาทส่งกลับไปควบคุมการทำงานของอวัยวะระบบต่าง ๆ โดยผ่านระบบประสาทอัตโนมัติเพื่อไปยังอวัยวะได้อย่างแม่นยำ

6.ถ้าร่างกายปกติ แล้วฝังเข็มจะมีอันตรายหรือไม่ ?

ในการรักษาด้วยการฝังเข็มสามารถ “กระตุ้น” ให้อวัยวะทำงานเพิ่มขึ้น หรืออาจ “ยับยั้ง” ให้อวัยวะทำงานลดลงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพวะของสัตว์ป่วย ณ เวลานั้น ๆ กล่าวคือ ถ้าอวัยวะหรือระบบนั้น ๆ อยู่ในสภาวะที่ทำงานน้อยเกินไป การฝังเข็มจะออกฤทธิ์ “กระตุ้น” ให้มันทำงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติ ในทางตรงกันข้ามถ้าอวัยวะหรือระบบนั้น ๆ อยู่ในสภาวะที่ทำงานมากเกินไป การฝังเข็มจะออกฤทธิ์ “ยับยั้ง” ทำให้ทำงานลดน้อยลงจนไปสู่ระดับปกติ

แล้วถ้าร่างกายอยู่ในภาวะที่อวัยวะหรือระบบนั้นปกติดี การฝังเข็มจะทำให้เกิดการทำงานที่มากขึ้นหรือลดลงไหม คำตอบคือ ไม่ครับ เพราะการรักษาด้วยการฝังเข็ม หัวใจหลักคือการปรับสมดุลร่างกาย ฉะนั้นการฝังเข็มจะไม่มีผลในการรักษาที่เกินขนาด เหมือนการใช้ยาแบบโอเวอร์โดส ขณะที่การกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การฝังเข็มมีฤทธิ์กระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวกินสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรคในร่างกาย แล้วกระตุ้นให้มีการสร้างแอนติบอดีมากขึ้นครับ

7.โรคที่สามารถรักษาด้วยการฝังเข็มมีอะไรบ้าง ?

การฝังเข็มสัตว์เลี้ยง สำหรับโรคในทางสัตวแพทย์ที่เข้ามารับการรักษาด้วยการฝังเข็ม เช่น

หมอนรองกระดูก ทับเส้นประสาท
ข้อสะโพกเสื่อม
– ความเสียหายที่เกิดกับระบบประสาท
– ภาวะชัก
– ระบบขับถ่ายผิดปกติ
– แขนขากล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพาต อัมพฤกษ์
อัลไซเมอร์
– โรคเกี่ยวกับระบบเลือด
– โรคทางเดินหายใจ
– โรคหัวใจ

8.ผลข้างเคียงที่พบได้หลังฝังเข็ม ?

ที่พบและเจอบ่อย ๆ คือ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ซึมลง เบื่ออาหาร จะมีอาการอยู่ประมาณ 2 วัน แล้วจะกลับมาเป็นปกติ การแก้ไขให้เช็ดตัวโดยไม่ต้องให้ยาลดไข้

บทความโดย

น.สพ.ดารัชพงษ์ แสงทอง
Daruschapong Sangthong ,DVM
คลินิคสัตวแพทย์และสัตว์เลี้ยง
ฝังเข็ม กายภาพ เอนไซม์บำบัดในสัตว์
Clinic Vet and Pet
Acupuncture, Rehabilitation and Enzymatic Therapy

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่