การรับ สุนัขจรจัด หรือน้องหมาไร้บ้าน มาเลี้ยงต้องเตรียมตัวอย่างไร

สำหรับคนรักน้องหมาแล้ว หลายคนคงทนที่จะเห็น สุนัขจรจัด หรือน้องหมาไร้บ้านต้องเร่ร่อนอยู่ข้างถนน อดมื้อกินมื้อ มีสุขภาพย่ำแย่เจ็บป่วยไปไม่ได้ หลาย ๆ คนจึงอยากที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ หรือรับเลี้ยงน้องหมาไร้บ้านไปดูแลเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว เพื่อหวังว่าจะเปลี่ยนชีวิตของน้องหมาเหล่านี้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยลดปัญหาสุนัขจรจัดที่เพิ่มมากขึ้นในสังคม พร้อมทั้งตั้งใจที่จะมอบความรักความอบอุ่นให้กับน้องหมาไร้บ้านที่พวกมันไม่เคยได้รับมาก่อนในชีวิต

ซึ่งการรับ สุนัขจรจัด หรือน้องหมาไร้บ้าน มาเลี้ยงจะต้องเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

 

สุนัขจรจัด มาจากไหน

1.อุบัติเหตุ เช่น พลัดหลง หลุดจากบ้านแล้วกลับไม่ถูก อาจเกิดจากเจ้าของที่เลี้ยงแบบปล่อยให้อาหารอย่างเดียว แต่ไม่ได้ดูแล หรือเอาใจใส่ว่าหมาของตนจะออกไปทำอะไรที่ไหน
2.ความตั้งใจของเจ้าของที่จะทิ้งหรือไม่เลี้ยงดูน้องหมาต่อไป จะด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม เช่น น้องหมาไม่ได้สวยน่ารักดั่งใจ หรือตามที่คาดหวังไว้ น้องหมาเจ็บไข้ได้ป่วย เบื่อการรักษาเยียวยา เกิดภาระและมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น หรือจะเป็นนิสัยที่ไม่เชื่อฟังหรือดุร้าย ซึ่งปัญหาที่ว่ามาทั้งหมดนั้นจริงๆแล้วเกิดจากเจ้าของที่ไม่มีความพร้อมที่จะเลี้ยงดู สุดท้ายก็ไม่รับผิดชอบอ้างว่าเลี้ยงดูไม่ไหว ตัดสินใจไม่รับผิดชอบทิ้งน้องให้กลายเป็นหมาไร้บ้านเสียอย่างนั้น

 

ผลกระทบจากหมาจรจัดมีอะไรบ้าง?

หมาจรจัดก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. สาธารณสุข หมาจรจัดเป็นพาหะสำคัญของโรคพิษสุนัขบ้า เพราะไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเหมือนหมาบ้าน ทำให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่ระดับต้น ๆ ของเมืองเลยทีเดียว
2. สภาพแวดล้อม ได้แก่ ทางเสียง เช่น การเห่าหอน สร้างความรำคาญ หรือสร้างสิ่งปฏิกูล เช่น การขับถ่ายอุจจาระตามที่ต่าง ๆ รื้อคุ้ยขยะเลอะเทอะ สกปรกก่อให้เกิดโรคได้ และผลกระทบทางสายตา ไม่น่ามองเป็นต้น
3. เศรษฐกิจ เมืองใหญ่ ๆ ต้องเสียงบประมาณเพื่อจัดการกับหมาจรจัดเป็นจำนวนมาก ที่เห็นชัด ๆ ก็อย่างเช่นเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาฉีดให้หมาจรจัดทั่วประเทศ หรือการจัดสร้างศูนย์ช่วยเหลือ สร้างที่พักและจัดหาที่อยู่ต่าง ๆ

ข้อมูลจาก : tcijthai.com

จากข้อมูลเมื่อปลายปี 2562 จากสื่อที่อ้างข้อตัวเลขจากกรมปศุสัตว์ระบุว่า มีสุนัขจรจัดหรือด้อยโอกาสประมาณ 2.6 ล้านตัว แมวจรจัดหรือด้อยโอกาสประมาณ 1 ล้านตัว รวมทั่วประเทศประมาณ 3.6 ล้านตัว ส่วนข้อมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แผนที่แสดงจำนวนสุนัข – แมว (ปี 2562 รอบที่ 1) สำรวจโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เข้าถึงข้อมูล ณ 22 ก.พ. 2563) ระบุว่าทั่วประเทศยกเว้นกรุงเทพฯ มีสุนัขไม่มีเจ้าของ 109,123 ตัว แมวไม่มีเจ้าของ 55,021 ตัว รวมสุนัขและแมวไม่มีเจ้าของ 164,144 ตัว เท่านั้น
**ซึ่งตัวเลขนี้ต่ำกว่าของกรมปศุสัตว์เป็นอย่างมาก**

 

การเตรียมตัวก่อนรับสุนัขจรจัดมาเลี้ยง

จากปัญหาเรื่องหมาจรจัดข้างต้น จึงมีผู้ใจบุญจำนวนไม่น้อยที่รับอุปการะน้องหมาจรจัดที่ไร้บ้าน จะด้วยความสงสาร หรือโชคชะตาฟ้าลิขิตใด ๆ ก็ตาม 5555 แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้อุปการะมักจะประสบปัญหาคือเรื่องของพฤติกรรมเดิมของหมา เช่น การกัด วิ่งหนี ความกลัว และการไม่ยอมรับในเจ้าของใหม่ จนทำให้ผู้อุปการะหลายคนต้องนำสุนัขที่รับไปกลับไปคืน

1.การทำความเข้าใจสุนัขจรจัด

ผู้อุปการะจะต้องเข้าใจน้องหมาจรจัดก่อนที่จะนำมาเลี้ยง เนื่องจากแต่ละตัวจะมีประสบการณ์ในชีวิตที่ต่างกัน เช่น บางตัวถูกทิ้งตั้งแต่เด็ก อาจจะเคยโดนแกล้ง โดนแย่งอาหาร ทำให้น้องมีนิสัยก้าวร้าว หรือบางตัวถูกทำร้ายมาก่อน อาจมีความระแวง กลัวว่าเราจะมาทำร้ายตัวเขา ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวมาหากเราทำความเข้าใจมาก่อน ก็จะค่อย ๆ เรียนรู้และปรับพฤติกรรมของน้องหมาจรจัดเหล่านี้ได้

2.สุขภาพ

อย่างที่เห็น ๆ กันน้องหมาจรจัดนั้นเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่ถูกละเลยมากที่สุด ส่วนใหญ่มีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ผิวหนังเป็นแผล ขนสังกะตัง ดังนั้นเมื่อตัดสินใจรับมาอุปการะแล้ว สิ่งที่เจ้าของใหม่จะต้องทำคือการดูแลสุขภาพ พาน้องหมาไปพบแพทย์ ฉีดวัคซีน และรักษาอาการต่าง ๆ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา มากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพของแต่ละตัว

โปรแกรมวัคซีนในสุนัขและแมว ฉีดให้ครบถ้วนเพื่อสุขภาพที่ดี

3.สถานที่เลี้ยง

เมื่อเรารับน้องหมาจรจัดมาเลี้ยงที่บ้าน ให้นึกไว้เสมอว่า แต่เดิมนั้นน้องหมาจรจัดไม่เคยถูกจำกัดพื้นที่มาก่อน การนำมาอยู่บ้านหลังใหม่อาจจะทำให้น้องหมาเกิดความเครียด หรือพยายามหนีออกนอกบ้านได้ ดังนั้นการเตรียมสถานที่เพื่อเลี้ยงน้องหมาจึงต้องมีความพร้อม อาจจะต้องใจเย็นให้น้องสร้างความคุ้นเคยและค่อยๆปรับตัวได้ในที่สุด

4.การฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ

เนื่องจากน้องหมาจรจัดอาจไม่ใช่หมาเด็ก แต่อาจจะเป็นหมาวัยรุ่น หรือหมาแก่ ดังนั้นเรื่องของสุขภาพโดยรวมจึงสำคัญ น้องหมาอาจจะป่วยเป็นโรคต่าง ๆ มานาน ซึ่งต้องใช้งบเงินในการรักษาพอสมควร รวมถึงอาหารการกินที่ต้องปรับให้มีประโยชน์ ดังนั้นเรื่องความพร้อมของกำลังทรัพย์จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่น้อยไปกว่าความรักที่เราพร้อมมีให้น้องหมาจรจัดเหล่านี้

5.ปลอกคอและป้ายชื่อ

ผู้อุปการะควรหาปลอกคอพร้อมกับติดชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์เอาไว้ที่ปลอกคอ เพื่อช่วยป้องกันในกรณีที่น้องหมาเกิดพลัดหลงหรือสูญหาย เนื่องจากในช่วงแรกน้องหมาจรจัดอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นชินกับบ้านใหม่ บางตัวจึงอาจพยายามหนี หรือซ่อนตัว เพราะกลัวสิ่งแวดล้อมที่ไม่เคยเจอ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง

6.ฝึกน้องหมาให้รู้จักเข้าสังคม

สิ่งสำคัญที่ผู้เลี้ยงไม่ควรมองข้ามเลยก็คือ การฝึกให้น้องหมารู้จักเข้าสังคม โดยเฉพาะในบ้านที่มีน้องหมาอยู่ก่อนแล้ว ควรทำให้น้องหมาทำความรู้จักกัน โดยเราอาจจะเริ่มขั้นตอนแรกด้วยการสร้างความมั่นใจให้น้องหมาไร้บ้าน เพราะบางตัวอาจจะเคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาก่อน เช่น เคยถูกทุบตี กลัวเสียงดัง กลัวหมาตัวใหญ่กว่า เป็นต้น เริ่มต้นควรใช้วิธีพาสุนัขเดินสำรวจรอบบ้านก่อน ปล่อยให้น้องคุ้นชินกับสถานที่ และรู้สึกปลอดภัยว่าบ้านไม่ได้เป็นอันตราย ก่อนพาไปแนะนำให้รู้จักสมาชิกในครอบครัว และปล่อยให้ดมน้องหมาที่เลี้ยงไว้ก่อนหน้า โดยจะต้องใส่สายจูงเอาไว้เพื่อป้องกันน้องหมากัดกัน

เมื่อน้องหมาคุ้นชิน ไว้ใจคนในครอบครัว หรือปรับตัวเข้ากับน้องหมาภายในบ้านได้แล้ว ผู้เลี้ยงก็อาจจะค่อย ๆ แสดงออกทางภาษากายด้วยการใช้มือสัมผัส ค่อย ๆ ลูบขาของน้องหมาเบา ๆ เพื่อทดสอบดูว่า น้องต่อต้านการสัมผัสตัวหรือไม่ ถ้าหากไม่ต่อต้านก็ค่อย ๆ เปลี่ยนจากการลูบขา มาลูบศีรษะแทน โดยสัมผัสตัวน้องเป็นประจำทุกวัน รวมถึงสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน อย่าปล่อยให้น้องเหงาจนเกิดความเครียด เพื่อป้องกันพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กัดแทะข้าวของ ซึ่งวิธีนี้เหล่านี้จะช่วยทำให้น้องเกิดความมั่นใจ เกิดความมั่นคงทางอารมณ์

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น การรับน้องหมาจรจัดหรือน้องหมาไร้บ้านเข้ามาเลี้ยง บ้านและสวน Pets คิดว่าจะยาก หรือง่ายนั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลา ความรักและความเข้าใจ เพียงเท่านี้สุนัขจรจัดที่ไร้บ้านก็จะกลายเป็นน้องหมาบ้านที่น่ารัก มีความสุขแล้วละค่ะ

 

เรื่อง : ลีฬภัทร กสานติกุล