ประวัติสายพันธุ์
แมวพันธุ์ เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ จัดอยู่ในประเภทแมวขนสั้น ที่มีต้นกำเนิดตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ. 1950 โดยนักผสมพันธุ์สัตว์ (Fancier) ได้ทำการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างแมวพันธุ์แท้ของอเมริกัน ช็อตแฮร์ (American Shorthair) กับแมวพันธุ์เปอร์เซีย (Persians) เพื่อปรับปรุงลักษณะโครงสร้างพื้นฐานของร่างกาย และเพื่อให้สีขนมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น โดยนักผสมพันธุ์สัตว์ได้นำสีขนสีเงินของแมวพันธุ์เปอร์เซียเข้าไปผสมกับสีขนของแมวพันธุ์อเมริกัน ช็อตแฮร์ และในช่วงแรกของการผสมนี้ แมวพันธุ์เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ ยังไม่เป็นที่ยอมรับ และยังไม่เป็นนิยมจากผู้คนส่วนมาก ทำให้ไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึง และเริ่มจางหายออกไปจากประวัติสายพันธุ์แมว
ในปี ค.ศ. 1967 แมวพันธุ์เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ ได้กลับมาเป็นที่ยอมรับและนิยมอีกครั้ง เนื่องจากสมาคม The Cat Fanciers Association (CFA) ในสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับให้แมวพันธุ์เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ชนะเลิศในการประกวดสายพันธุ์แมวจากแมวทุกสายพันธุ์ นอกจากนี้สมาคมยังได้ทำการเพิ่มแมวพันธุ์เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ว่า เป็นแมวที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ของแมวพันธุ์อเมริกัน ช็อตแฮร์และแมวพันธุ์เปอร์เซีย
ในปี ค.ศ. 1979 สมาคม The International Cat Association (TICA) ได้มีการขึ้นทะเบียนแมวพันธุ์เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ ว่าเป็นแมวที่เกิดจากผสมระหว่าง 2 สายพันธุ์
ในปี ค.ศ. 1987 สมาคม CFA ได้เพิ่มสายพันธุ์ที่ใช้ทำการผสมข้ามสายพันธุ์ เพื่อให้มีลักษณะที่เหมาะสมกับแมวพันธุ์เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์มากขึ้น โดยเป็นการนำแมวพันธุ์ขนสั้นมาผสมพันธุ์กับแมวพันธุ์อเมริกัน ช็อตแฮร์ นอกเหนือจากการนำแมวพันธุ์อเมริกันช็อต แฮร์ผสมกับแมวพันธุ์เปอร์เซีย ได้แก่ การนำแมวพันธุ์เบอร์มีส (Burmese cat) ผสมกับอเมริกัน ช็อตแฮร์ หรือการนำแมวพันธุ์รัสเซียน บลู (Russian Blue) ผสมกับอเมริกัน ช็อตแฮร์
ในปัจจุบัน แมวพันธุ์เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสมาคมที่เกี่ยวข้องกับสายพันธุ์แมวทั้งหมด ได้แก่ สมาคม CFA, สมาคม TICA, สมาคม American Cat Fanciers Association (ACFA), และสมาคม Fédération Internationale Féline (FIFe)
ลักษณะทางกายภาพ
แมวพันธุ์เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ เป็นแมวขนาดกลาง หัวมีลักษณะกลมใหญ่, หน้าสั้นแบน มีแก้ม มีลักษณะคล้ายแมวพันธุ์เปอร์เซีย, คอสั้นและหนา, จมูกแบน สั้น สีดำ (Nose leather), ดวงตากลมใหญ่ ให้ความรู้สึกน่ารัก หูมีขนาดเล็ก ฐานหูไม่กว้าง แต่ส่วนปลายจะกว้างออกและเอียงไปข้างหน้า, ลำตัวเป็นกล้ามเนื้อแน่น (Good muscle tone), ขาสั้น หนา แข็งแรง, หางตรงและสั้นสมส่วนกับความยาวลำตัว
ลักษณะขนสั้น หนา เป็นมันวาว (Glossy) และสีขนของแมวพันธุ์นี้จะได้รับมาจากแมวพันธุ์เปอร์เซีย ซึ่งมีทั้งหมด 96 รูปแบบ โดยทุกรูปแบบจะต้องมีสีพื้นฐานเป็นส่วนประกอบอย่างน้อยหนึ่งสี เช่น สีดำ (Black), สีครีม (Cream), สีฟ้า (Blue), สีหิมาลายัน (Himalayan), สีกระดองเต่า (Tortoiseshell), หรือสีลายสลิด (Tabby) เป็นต้น
แมวพันธุ์เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ มีความสูงมาตรฐานอยู่ที่ 10-12 นิ้ว หรือ 25.4-30.5 เซนติเมตร มีความยาวลำตัวมาตรฐานอยู่ที่ 1-1.5 นิ้ว หรือ 30.5-45.72 เซนติเมตร และมีน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ 7-12 ปอนด์ หรือ 3-7 กิโลกรัม
อายุขัย
แมวพันธุ์เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ โดยทั่วไปมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 8-15 ปี หรือมากกว่านั้น
ลักษณะนิสัย
แมวพันธุ์เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ มีนิสัยคล้ายคลึงกับแมวพันธุ์เปอร์เซีย อย่าง นิสัยว่านอนสอนง่าย อ่อนโยน ขี้เล่น กระตือรือร้น เงียบ ไม่มีนิสัยชอบร้อง สามารถอยู่ในบ้านตัวเดียวได้ ซึ่งในแมวเพศผู้จะมีความน่ารัก ขี้อ้อนและรักเจ้าของมากกว่าเพศเมีย รวมถึงสามารถเข้ากับคนภายในครอบครัว แมว หรือสัตว์ตัวอื่นได้ปานกลาง
ชอบเล่นของเล่นประเภทที่ใช้เหยื่อปลอมล่อให้แมววิ่งเล่น ลูกบอล หรือของเล่นที่ทำให้แมววิ่งได้ สามารถเล่นได้เองโดยไม่ต้องมีเจ้าของคอยอยู่เล่นด้วย
การเข้ากับเด็ก
แมวพันธุ์เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ สามารถปรับตัวเข้ากับเด็กได้ เนื่องจากแมวพันธุ์นี้มีความอ่อนโยน ขี้เล่น สามารถทนกับเสียงเด็กร้องที่ดังหรือวิ่งเล่นกับเด็กได้ โดยไม่แสดงอาการรำคาญหรือเล่นรุนแรงกับเด็ก
การดูแล
การออกกำลังกาย
แมวพันธุ์ เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายมาก เพียงให้แมวได้กระโดด, วิ่งเล่น, หรือให้แมวได้ใช้พลังงานต่อวันบ้าง โดยทั้งนี้เจ้าของสามารถเล่นของเล่นกับแมว เพื่อกระตุ้นให้แมวได้ออกกำลังกายได้ เช่น การปาลูกบอลให้แมววิ่ง เป็นต้น นอกจากนี้เจ้าของควรสังเกตแมวขณะที่เล่น หากพบอาการผิดปกติ เช่น แมวหายใจแรง หรือแสดงอาการผิดปกติเกิดขึ้น ให้หยุดเล่น และนำเข้าที่ร่มให้แมวได้พัก
อาหาร
แมวพันธุ์เอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ ไม่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารพิเศษเพิ่มเติม เพียงให้อาหารที่เหมาะสมและปริมาณแคลอรี่ที่เพียงพอต่อสัตว์ โดยปริมาณแคลอรี่ที่แนะนำต่อวันในแมวคือ 70 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หากให้อาหารมากเกินความจำเป็นต่อสัตว์จะส่งผลให้สัตว์มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไปจนถึงการเกิดโรคอ้วนได้
โรคประจำพันธุ์
- โรคระบบประสาท
- โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก หรือเกิดจากบาดแผลทางใจ (Separation Anxiety Disorder)
- โรคระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy : HCM)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Dilated Cardiomyopathy : DCM)
- โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
- ภาวะหลอดเลือดดำที่ตับลัดเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด (Portosystemic Shunts : PSS)
- โรคระบบทางเดินปัสสาวะและไต
- โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างของแมว (Feline Lower Urinary Tract Disease : FLUTD)
- ภาวะเกิดถุงน้ำภายในไต (Polycystic Kidney Disease : PKD)
- โรคระบบทางเดินหายใจ
- โรคระบบทางเดินหายใจผิดปกติของสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น (Brachycephalic Syndrome)
- โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
- โรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติ (Hip Dysplasia)
- โรคระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน
- โรคเม็ดเลือดแดงแตกจากภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านเม็ดเลือดแดงของลูกสัตว์ที่มีในนมน้ำเหลืองของแม่สัตว์ (Neonatal Isoerythrolysis :NI หรือ Hemolytic Icterus)
- โรคตา
- ภาวะไม่มีเปลือกตาตั้งแต่กำเนิด (Eyelid Agenesis)
- โรคต้อกระจก (Cataract)
- โรคเชอร์รี่อาย (Cherry Eye)
- โรคเปลือกตาม้วนออก (Ectropion Eyelids)
- คราบน้ำตา (Tear Staining) จากการที่ร่างกายผลิตน้ำตามากเกินไป
เรื่อง : ทรงภูมิ อานันทคุณ