ประเภทของอาหารสัตว์เลี้ยง ในประเทศไทยมีหลากหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภครวมถึงให้สัตว์เลี้ยงมีมีความต้องการอาหารที่หลากหลาย
ตามหลักการโภชนาการสามารถจำแนก ประเภทของอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นสามรูปแบบ ประกอบด้วย
- อาหารเปียก (Wet food)
- อาหารแห้ง (Dry food)
- อาหารกึ่งแห้งกึ่งเปียก (Semi-moist food)
ตามหลักโภชนาการ สัตวแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญ ไม่สามารถกำหนดได้ว่า อาหารประเภทใดดีที่สุด เพราะอาหารสัตว์แต่ละประเภทมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน
ดังนั้น เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรศึกษาข้อดีและข้อควรระวังของอาหารประเภทต่างๆ แก่สัตว์เลี้ยง เพื่อส่งเสริมการเลือกใช้อาหารสัตว์ได้เหมาะสมมากที่สุด
รายละเอียดของอาหารสัตว์เลี้ยงแต่ละประเภท
1. อาหารเปียก มีความชื้นมากกว่าร้อยละ 60 โดยปกติแล้วจะมีค่าอยู่ระหว่างร้อยละ 70 ถึง 80
อาหารเปียกถือว่าเป็นอาหารที่มีความน่ากินมากที่สุดเมื่อเทียบกับอาหารชนิดอื่น ดังนั้น เมื่อสัตว์เลี้ยงอยู่ในภาวะเจ็บป่วย เบื่ออาหาร กินอาหารยาก หรือต้องป้อนอาหารผ่านสายยาง สัตวแพทย์มักจะเลือกใช้ และแนะนำเจ้าของ ให้อาหารเปียกแก่สัตว์เลี้ยง
ลักษณะเนื้ออาหารเปียกมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ผลิตและการประยุกต์ใช้ในทางโภชนาการสามารถใช้ได้ทุกรูปแบบในสัตว์ที่ปกติ
อย่างไรก็ตาม ขนาด ความแน่นของเนื้อ และความฟูของอาหาร มักจะส่งผลต่อความน่ากินของสัตว์เลี้ยง
ตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดคือ อาหารแมว ลักษณะการกินอาหารของแมวคล้ายกับช้อนขนาดเล็กตักอาหารเข้าสู่ปาก
พฤติกรรมการกินของแมวในแต่ละครั้งจะดันอาหารไปติดกับภาชนะที่ใส่อาหาร ทำให้อาหารถูกดันไปชิดกับขอบด้านใดด้านหนึ่ง โดยอาหารที่ถูกดันเข้าไปจะมีเนื้อที่แน่นมากขึ้น ส่งผลให้แมวส่วนใหญ่ไม่กินอาหารในลักษณะดังกล่าว
แต่ถ้าย้ายก้อนอาหารดังกล่าวมาไว้ตรงกลางภาชนะ พบว่าแมวจะกินอาหารดังกล่าว ดังนั้นรูปแบบของอาหารจึงมีความสัมพันธ์กับการกินได้ของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะในสัตว์เลี้ยงที่มีโครงหน้าเป็นหน้าสั้น ที่การกินอาหารจะค่อนข้างยากกว่าสายพันธุ์ที่มีหน้ายาว
- การเก็บรักษาอาหารเปียก
ข้อควรระวังเมื่อให้สัตว์เลี้ยงกินอาหารเปียกคือ ถ้าสัตว์เลี้ยงกินอาหารไม่หมดภายใน 30 นาที แนะนำให้ทิ้งอาหารที่เหลือ และล้างภาชนะให้สะอาดทันที เพราะอาหารที่มีความชื้นสูงร่วมกับอากาศร้อนของเมืองไทย ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาภายหลัง
เมื่อเปิดบรรจุภัณฑ์อาหารเปียกแล้ว ควรใช้ให้หมดภายในครั้งเดียว หรือถ้าต้องการเก็บไว้ใช้ครั้งต่อไป ต้องปิดอาหารให้มิดชิด และเก็บไว้ในตู้เย็นช่องปกติเท่านั้น และพยายามใช้ให้หมดภายใน 48 ชั่วโมง
เมื่อนำอาหารเปียกออกมาจากตู้เย็น ไม่ควรนำไปอุ่นในเตาไมโครเวฟ เนื่องจากความร้อนจากรังสีไมโครเวฟจะทำลายวิตามินในอาหาร ส่งผลให้สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ
การอุ่นอาหารเปียกอย่างเหมาะสมคือ ใช้น้ำอุ่นผสมกับอาหารเปียกที่นำออกจากตู้เย็นจนได้อุณหภูมิที่เหมาะสม แล้วจึงนำไปให้สัตว์เลี้ยงต่อไป
- ข้อควรพิจารณาของอาหารเปียก
นอกจากนี้ อาหารเปียกมีส่วนประกอบของเนื้ออาหารค่อนข้างน้อย ทำให้สัตว์เลี้ยงต้องกินในปริมาณมาก เพื่อให้ได้พลังงานที่เพียงพอต่อหนึ่งวัน
สัตวแพทย์อธิบายเพิ่มเติมว่า สัตว์เลี้ยงจะกินอาหารเปียกอย่างรวดเร็ว และหยุดกินทันที เนื่องจากปริมาตรของอาหารเต็มความจุของกระเพาะอาหาร และมักสร้างความเข้าใจผิดให้กับเจ้าของว่า สัตว์เลี้ยงกินอาหารอิ่มแล้ว แต่ในความจริง อาหารเปียกมีส่วนผสมของน้ำสูง ไม่ใช่เนื้ออาหาร จึงทำให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกอิ่มเร็ว
ถ้าเจ้าของไม่ได้คำนวณปริมาณอาหารอย่างถูกต้อง สัตว์เลี้ยงมีความเสี่ยงที่จะได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียพอ ซึ่งสังเกตได้จากสัตว์เลี้ยงจะมีน้ำหนักลดลง
อาหารเปียกส่วนใหญ่มักเติมสารบางชนิดเพื่อให้เกิดความเป็นเนื้อมากขึ้นทำให้ไม่เห็นน้ำในตัวอาหาร ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจผิดให้เรามองว่าไม่มีน้ำในส่วนผสมของอาหาร
ในอีกแง่หนึ่ง อาหารเปียกกระตุ้นความอยากอาหารของสัตว์ได้ดี จึงอาจส่งผลให้เจ้าของเจ้าให้อาหารแก่สัตว์เลี้ยงมากเกินไป ซึ่งนำไปสู่ภาวะอ้วนของสัตว์เลี้ยงได้ ดังนั้น ปริมาณการให้อาหารจึงมีความจำเป็นที่จะต้องคำนวณเพื่อให้สัตว์เลี้ยงของเรามีรูปร่างที่สมส่วน
- ข้อดีของอาหารเปียก
สุดท้ายข้อดีของอาหารรูปแบบเปียกคือ การส่งเสริมให้สัตว์กินน้ำได้มากขึ้น ถ้าเทียบกันระหว่างน้ำสะอาดกับอาหารเปียก สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่จะเลือกกินอาหารเปียก
ดังนั้น ในกรณีที่ต้องการให้สัตว์เลี้ยงกินน้ำเพิ่มขึ้นเช่น กรณีเป็นโรคไต โรคนิ่ว หรือป้องกันการเกิดนิ่ว เป็นต้น การให้กินอาหารเปียกจะส่งเสริมให้สัตว์เลี้ยงได้รับอาหารเพิ่มขึ้น
ในอีกทางหนึ่ง การให้อาหารเปียกในรูปแบบของซุปจะมีปริมาณน้ำมาก และมีความน่ากินมากด้วย นอกจากนี้ อาหารปรุงสุกแช่แข็ง หรืออาหารทำเองที่บ้าน (Home cook diet) ก็จัดเป็นกลุ่มของอาหารเปียกด้วยเนื่องจากจะมีความชื้นอยู่ประมาณร้อยละ 60-80
2. อาหารแห้ง มีความชื้นอยู่ระหว่างร้อยละ 3 ถึง 11
ความชื้นต่ำในอาหาแห้งส่งผลให้สามารถเก็บรักษาในพื้นที่แห้งได้เป็นระยะเวลานานเมื่อเปิดบรรจุภัณฑ์แล้ว
เนื่องจาก เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราเจริญเติบโตได้ไม่ค่อยดีในสภาพความชื้นต่ำ อย่างไรก็ตาม เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรเก็บอาหารแห้งให้เหมาะสม และสังเกตวันหมดอายุ รวมไปถึงสภาพของอาหารร่วมด้วย
อาหารแห้งมีส่วนผสมของเนื้ออาหารในปริมาณมากเมื่อเทียบกับอาหารเปียก ส่งผลให้สัตว์ไม่จำเป็นต้องกินอาหารในปริมาณมาก เพื่อให้ได้พลังงานและสารอาหารตามความต้องการต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ความน่ากินก็ลดลงไปตามปริมาณความชื้นในอาหารที่ลดลง ในทางกลับกัน เจ้าของสามารถวางอาหารให้สัตว์เลี้ยงได้นานถึง 24 ชั่วโมง ทำให้ง่ายต่อการจัดการมากกว่าอาหารเปียก
นอกจากนี้ ในขณะที่สัตว์เลี้ยงเคี้ยวอาหารแห้งจะเกิดการขบกันระหว่างเม็ดอาหารกับฟัน ทำให้โอกาสการเกิดหินปูนหรือคราบหินปูนน้อยกว่าการกินอาหารเปียก
คำแนะนำจากนักโภชนาการอาหารสัตว์ไม่แนะนำให้นำอาหารแห้งมาผสมน้ำเพื่อให้ทานง่ายขึ้น เพราะความน่ากินจะลดต่ำลงมากถ้าต้องการให้ทานง่ายขึ้นแนะนำให้เลือกใช้เป็นอาหารเปียกแทน
3. อาหารกึ่งแห้งกึ่งเปียก เป็นอาหารที่มีความชื้นอยู่ระหว่างร้อยละ 25 ถึง 35
อาหารประเภทนี้ย่อมมีความน่ากินมากกว่าอาหารแห้ง แต่น้อยกว่าอาหารเปียก และด้วยปัจจัยเรื่องความชื้นของอาหาร ทำให้ไม่สามารถใส่อาหารในชามได้นาน โดยให้อาหารดังกล่าวในลักษณะเดียวกับอาหารเปียก คือทิ้งอาหารทันทีหากสัตว์เลี้ยงกินไม่หมดภายใน 30 นาที และควรใช้ให้หมดหลังเปิดบรรจุภัณฑ์ภายใน 48 ชั่วโมง
ในประเทศไทยเริ่มมีอาหารประเภทนี้วางจำหน่ายแล้ว เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถสังเกตได้จากปริมาณความชื้นที่ระบุไว้ข้างถุงอาหารสัตว์ตามที่ได้แนะนำในข้างต้น
จากข้อมูลในข้างต้นจะเห็นข้อดีข้อเสีย และข้อพึงระวังของประเภทอาหารสัตว์รูปแบบต่างๆ ดังนั้น เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรเลือกใช้รูปแบบของอาหารให้ตรงกับจุดประสงค์ พร้อมกับคำนึงถึงการใช้อาหารแต่ละประเภทอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพของสัตว์เลี้ยง
นอกจากนี้ ปริมาณอาหาร ประเภทอาหาร และคุณค่าทางโภชนาการ เป็นเรื่องมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เข้า และร่วมพิจารณาด้วย หากเกิดความสงสัยในรายละเอียดหรือต้องการคำแนะนำเฉพาะสัตว์เลี้ยงของท่าน ขอแนะนำให้เจ้าของปรึกษากับสัตวแพทย์เพื่อได้รับการแนะนำและเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงมากที่สุด
เรื่อง รศ.น.สพ.ดร.อรรถวิทย์ โกวิทวที ที่ปรึกษาคลินิกโภชนาการ โรงพยาบาลสัตว์พอเพลิน
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ