วิเชียรมาศ

แมวพันธุ์วิเชียรมาศ: ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

ประวัติ แมวพันธุ์วิเชียรมาศ

แมวพันธุ์วิเชียรมาศ หมายถึง เพชรแห่งดวงจันทร์ (Moon Diamond) เป็นแมวขนาดกลางที่ได้รับความนิยมทั่วโลก มีต้นกำเนิดจากประเทศไทย (Thailand หรือชื่อดั้งเดิม Siam) และถูกบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณ โดยในสมัยก่อนแมวพันธุ์วิเชียรมาศจะมีแต้มสีน้ำตาลเข้ม หรือดำเข้ม แต่ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีสี และรูปแบบของแต้มที่แตกต่างออกไป

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ปี ค.ศ. 1877 ประธานาธิบดีรัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ (President Rutherford B. Hayes) ได้รับของขวัญเป็นแมวพันธุ์วิเชียรมาศมาเลี้ยงที่สหรัฐอเมริกา จากการให้ของกษัตริย์แห่งประเทศไทย ผ่านทางเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา David B. Sickels ประจำประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

แมวพันธุ์วิเชียรมาศ, แมวไทย,
ภาพถ่าย บ้านแมวพีพี

ในปี ค.ศ. 1934 สมาคม The Cat Fanciers Association (CFA) ได้มีการขึ้นทะเบียนแมวพันธุ์วิเชียรมาศ รวมถึงได้กำหนดสีแต้มและสีขนลำตัวที่พบได้ โดยเฉพาะบริเวณขา หาง ใบหน้า และหู ซึ่งหากพบแต้มสีน้ำตาล (Brown), สีดำ (Black) จะมีสีขนลำตัวเป็นสีน้ำตาลแกมเหลือง (Pale fawn) และหากพบแต้มสีช็อกโกแลต (Chocolate) จะมีสีขนลำตัวเป็นสีครีมขาว (Creamy white)

ในปี ค.ศ. 1955 สมาคม The Cat Fanciers Association ได้เพิ่มลักษณะสีแต้มและสีขนลำตัวที่พบ คือแต้มสีม่วงอ่อน (Lilac) จะมีสีขนลำตัวเป็นสีขาว (White)

ในปี ค.ศ. 1979 สมาคม The International Cat Association หรือสมาคมแมวนานาชาติ ถือเป็นการขึ้นทะเบียนแมวทางพันธุกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้มีการขึ้นทะเบียนแมวพันธุ์วิเชียรมาศมาจนถึงปัจจุบัน

แมวพันธุ์วิเชียรมาศ, แมวไทย,
ภาพถ่าย บ้านแมวพีพี

ลักษณะทางกายภาพ

แมวพันธุ์วิเชียรมาศเป็นแมวขนาดกลาง โดยหัวมีลักษณะยาวสมส่วน, ดวงตาขนาดใหญ่ สีฟ้า เป็นรูปทรงอัลมอนด์ (Almond shaped), คอและลำตัวยาว เป็นกล้ามเนื้อ, ขาเรียวเล็ก อุ้งเท้ากลม, หางยาวลักษณะคล้ายหางเสือ แต้มบริเวณหางจะมีสีเข้มจากปลายหาง และจางลงเมื่อขึ้นมาถึงโคนสะโพก

ขนสั้น บางเบา และนุ่มคล้ายเส้นไหม โดยสีขนสามารถพบได้หลากหลายสี เช่น สีซีล (Seal), สีฟ้า (Blue), สีช็อกโกแลต (Chocolate), สีม่วงอ่อน (Lilac), สีแดง (Red), สีครีม (Cream), สีเทาแกมเหลือง (Fawn), สีคาราเมล (Caramel), สีเหลืองส้ม (Apricot), และสีซินนาม่อน (Cinnamon) นอกจากนี้ยังมีแต้มสีครั่งหรือสีน้ำตาลไหม้ มีแต้มสีครั่งหรือสีน้ำตาลไหม้ที่บริเวณใบหน้า หูทั้งสองข้าง เท้าทั้งสี่ หางและที่อวัยวะเพศ (ทั้งแมวเพศผู้และแมวเพศเมีย) รวม 9 แห่ง แต่ไม่ใช่สายพันธุ์เดียวกันกับแมวเก้าแต้ม

แมวพันธุ์วิเชียรมาศเพศผู้มีความสูงมาตรฐานอยู่ที่ 11.5-12.2 นิ้ว หรือ 29-31 เซนติเมตร และมีน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ 8.8-13.2 ปอนด์ หรือ 4-6 กิโลกรัม และเพศเมียมีความสูงมาตรฐานอยู่ที่ 10.6-12.2 นิ้ว หรือ 27-31 เซนติเมตร และมีน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ 5.5-10 ปอนด์ หรือ 2.5-4.5 กิโลกรัม

อ่านเพิ่มเติม : ดูแลสัตว์เลี้ยงให้ตรงจุดด้วยสูตร อาหารเฉพาะสายพันธุ์

แมวพันธุ์วิเชียรมาศ, แมวไทย,
ภาพถ่าย บ้านแมวพีพี

อายุขัย

แมวพันธุ์วิเชียรมาศ โดยทั่วไปมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 15-20 ปี

ลักษณะนิสัย

แมวพันธุ์วิเชียรมาศ ไม่เพียงแต่สวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นแมวที่ฉลาดมาก ขี้อ้อน เข้ากับคนได้ง่าย แต่มีเสียงร้องที่ดังมาก มีนิสัยคล้ายสุนัขในเรื่องการชอบเล่นคาบของคืน (Play fetch) และชอบเล่นของเล่นเป็นอย่างมาก คล้ายกับสุนัขพันธุ์รีทรีฟเวอร์

วิเชียรมาศ เป็นแมวที่มีเสน่ห์มาก ต้องการความเอาใจใส่ และต้องการความรักเป็นอย่างมาก รวมถึงชอบให้ความรักกับเจ้าของ แต่สามารถปล่อยให้แมวอยู่ตัวคนเดียวในบ้านทั้งวันได้

การเข้ากับเด็ก

แมวพันธุ์วิเชียรมาศ เป็นแมวชอบเข้าสังคม มีความกระตือรือร้น เหมาะสำหรับการนำมาเลี้ยงอยู่กับเด็ก หรือครอบครัว รวมถึงสามารถนำมาเล่นกับสุนัขได้ เป็นแมวที่ชอบได้รับความสนใจ ความเอาใจใส่ และความรักจากเด็กที่เล่นไม่แรง โดยแมวพันธุ์วิเชียรมาศถูกจัดอยู่ในความเหมาะสมกับเด็กระดับ 4 จาก 5

ภาพถ่าย บ้านแมวพีพี

การดูแล

การออกกำลังกาย

สามารถพาออกกำลังกายด้วยการเล่นเกมส์ เช่น การเล่นคาบของคืน หรือการปาลูกบอลให้แมววิ่งไปมา เป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับแมวพันธุ์นี้ และช่วยทำให้เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับแมวได้อีกด้วย นอกจากนี้การให้แมวปีนต้นไม้ จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น

อาหาร

แมวพันธุ์วิเชียรมาศ มีนิสัยชอบกลืนอาหารมากกว่าเคี้ยวอาหาร ควรกระตุ้นให้แมวเคี้ยวอาหาร เพราะการเคี้ยวอาหารเม็ดจะช่วยทำความสะอาดฟัน และลดการสะสมของหินปูนบริเวณฟัน ดั้งนั้นการเลือกขนาดและรูปแบบอาหารเม็ดจะมีผลต่อการกินอาหาร

อาหารแบบเม็ดที่แมวพันธุ์วิเชียรมาศต้องการ ควรประกอบด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ เช่น โปรตีน 25%, ไขมัน 40%, ไฟเบอร์, และโอเมก้า-3, โอเมก้า-6 เป็นต้น

โรคประจำพันธุ์

  • โรคระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
    • โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic Valve Stenosis)
  • โรคระบบทางเดินหายใจ
    • โรคหอบหืด (Asthma)
    • หลอดลมอักเสบแบบเรื้อรัง (Chronic Bronchitis)
  • โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
  • โรคตา
    • โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy)
  • โรคมะเร็ง
    • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องอก (Mediastinal Lymphoma)

เรื่อง : ทรงภูมิ อานันทคุณ


ติดตามข้อมูล บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่