ข้อควรปฏิบัติกับสัตว์เลี้ยง เมื่อท่านป่วยด้วยโรค COVID-19

มีคำถามมากมายว่าเมื่อเจ้าของติดเชื้อ COVID-19 สัตว์เลี้ยงจะอยู่อย่างไร ที่ไหน ใครจะดูแล จะปล่อยทิ้งไว้ที่บ้าน หรือสถานพยาบาลจะรับดูแลให้หรือไม่ และอีกสารพัดคำถามมากมายที่ข้องใจ บ้านและสวน Pets หาคำตอบมาให้แล้วค่ะ

สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย The Veterinary Practitioner Association of Thailand (VPAT) ให้ข้อมูลที่ควรปฏิบัติกับสัตว์เลี้ยง เมื่อท่านป่วยด้วยโรค COVID-19 รวมถึงสถานพยาบาลสัตว์และที่รับฝากสัตว์เลี้ยง มาดังนี้

  • กรณีที่ 1 ที่ท่านเป็นเจ้าของคนเดียว และจำเป็นต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฝากที่สถานพยาบาลสัตว์

1.ให้ผู้ป่วย COVID-19 หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง เช่นลูบหัว กอดหรือจูบตัวสัตว์ เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อไปยังสัตว์เลี้ยง

2.ให้โทรติดต่อสถานพยาบาลสัตว์ที่สามารถรับฝากดูแลสัตว์เลี้ยงได้ในกรณีที่ท่านต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล สถานพยาบาลสัตว์ที่พร้อมรับฝากสัตว์เลี้ยงในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จะส่งเจ้าหน้าที่พร้อมชุดอุปกรณ์ป้องกันมารับตัวสัตว์เลี้ยงไปที่สถานพยาบาลสัตว์ โดยผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่สถานพยาบาสสัตว์ด้วยตนเอง

3.ผู้ป่วยสามารถให้เพื่อน หรือญาติที่มิได้ป่วยด้วยโรค COVID-19 นำสัตว์เลี้ยงไปสถานพยาบาลสัตว์แทนได้ โดยให้ผู้ที่นำสัตว์เลี้ยงไปสถานพยาบาลสัตว์สวมเครื่องป้องกันที่เหมาะสม ได้แก่ ถุงมือและหน้ากากอนามัย และแจ้งให้สถานพยาบาลสัตว์รับทราบก่อนล่วงหน้า

 

  • กรณีที่ 2 ท่านมีสมาชิกในบ้านท่านอื่น ๆ ที่มิได้ป่วยด้วยโรค COVID-19

1.ให้ผู้ป่วย COVID-19 หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อไปยังสัตว์เลี้ยง

2.”ห้ามทำความสะอาดสัตว์เลี้ยง ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือแอลกอฮอล์” หากมีความประสงค์จะทำความสะอาดตัวสัตว์ ให้อาบน้ำด้วยแชมพูสำหรับสัตว์ปกติ

3.ให้สมาชิกในครอบครัวท่านอื่น ๆ เป็นผู้ดูแลสัตว์เลี้ยงแทน แต่ยังคงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสแบบใกล้ชิด เช่นการการจูบสัตว์ การลูบหัว การเลียมือหรืออวัยวะในร่างกาย หรือการนำสัตว์เลี้ยงนอนในห้องนอนเดียวกับผู้เลี้ยงเป็นเวลา 14 วัน

4.ผู้ดูแลสัตว์เลี้ยงที่สัมผัสกับผู้ป่วยควรสวมเครื่องป้องกัน ได้แก่ ถุงมือและหน้ากากอนามัย และทำการล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยง

5.หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยแบบไม่รุนแรง ให้โทรหาสัตวแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาในการดูแลเบื้องต้น

6.หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยแบบรุนแรง ให้โทรแจ้งสัตวแพทย์ล่วงหน้า และให้สมาชิกในครอบครัวที่มิได้ป่วยด้วยโรค COVID-19 เป็นผู้พาสัตว์เลี้ยงไปยังสถานพยาบาลสัตว์

 

  • กรณีที่ 3 ข้อควรปฏิบัติกับสัตว์เลี้ยง เมื่อท่านอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ COVID-19 และจำเป็นต้องกักตัว 14 วัน

1.ท่านสามารถดูแลสัตว์เลี้ยงของท่านได้ตามปกติ แต่หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด เช่นการจูบสัตว์ การลูบหัว การเลียมือหรืออวัยวะในร่างกาย หรือ การนำสัตว์เลี้ยงนอนในห้องนอนเดียวกับผู้เลี้ยง และสวมเครื่องมือป้องกันเมื่อสัมผัสสัตว์ เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อไปยังสัตว์เลี้ยง

2.หากมีสมาชิกท่านอื่นในครอบครัว ให้สมาชิกท่านอื่น ๆ เป็นผู้ดูแลสัตว์เลี้ยงแทน แต่ยังคงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสแบบใกล้ชิด ควรสวมเครื่องป้องกันเมื่อสัมผัสสัตว์ และทำการล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยง และให้รักษาระยะห่างจากผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเคร่งครัด

3.หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยแบบไม่รุนแรง ให้โทรหาสัตวแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาในการดูแลเบื้องต้น

4.หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยแบบรุนแรง ให้โทรแจ้งสัตวแพทย์ล่วงหน้า และให้สมาชิกในครอบครัวที่มิได้ป่วยด้วยโรค COVID-19 เป็นผู้พาสัตว์เลี้ยงไปโรงพยาบาล

5.ในกรณีที่ท่านพักอาศัยอยู่เพียงลำพัง ให้โทรติดต่อโรงพยาบาลสัตว์ที่สามารถรับฝากดูแลสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง โรงพยาบาสสัตว์ที่พร้อมรับฝากสัตว์เลี้ยงในกลุ่มนี้จะส่งเจ้าหน้าที่พร้อมชุดอุปกรณ์ป้องกันมารับตัวสัตว์เลี้ยงไปที่โรงพยาบาลสัตว์ โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่โรงพยาสัตว์ด้วยตนเอง และรักษาระยะห่างทางสังคมเมื่อต้องทำการติดต่อเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลสัตว์อย่างเคร่งครัด

 

  • ข้อพึงปฏิบัติสำหรับสถานพยาบาลสัตว์ ที่รับฝากหรือรักษาสัตว์เลี้ยง ในกรณีที่เจ้าของสัตว์ป่วยด้วยโรค COVID-19

1.สถานพยาบาลสัตว์ต้องมีพื้นที่แยกโดยเฉพาะสำหรับรับฝากสัตว์ในกลุ่มที่ เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ COVID-19

2.สถานพยาบาลสัตว์ควรมีบริการการรับสัตว์เลี้ยงจากที่พักอาศัยของผู้ป่วย โรค COVID-19 โดยมีชุดอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม และมีมาตรการการ รักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด

3.”ห้ามทำความสะอาดสัตว์เลี้ยง ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือแอลกอฮอล์” หากมีความประสงค์จะทำความสะอาดตัวสัตว์ ให้อาบน้ำด้วยแชมพูสำหรับสัตว์ปกติ

4.ควรมีการจัดการขยะติดเชื้อด้วยมาตรฐานเดียวกับโรคสัตว์สู่คนอื่น ๆ เช่น โรคฉี่หนู (leptospirosis)

5.ในกรณีที่เจ้าของสัตว์ป่วยที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงนำสัตว์เลี้ยงมาที่สถาน พยาบาลสัตว์ด้วยตนเอง ให้สถานพยาบาลสัตว์แจ้งเจ้าของสัตว์ป่วยให้รอรักษาที่รถยนต์โดยสารส่วนตัว ไม่เข้ามาในพื้นที่ของสถานพยาบาลสัตว์” และให้เจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมรับตัวสัตว์ป่วยเข้ามารักษาในสถานพยาบาลสัตว์ โดยติดต่อประสานงานเรื่องอาการกับเจ้าของสัตว์ป่วยผ่านทางระบบโทรศัพท์เป็นหลัก

 

**ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าสัตว์เลี้ยงสามารถแพรโรค COVID-19 สู่มนุษย์ได้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงควรทำตามข้อแนะนำ และไม่ควรทิ้งสัตว์เลี้ยงของท่าน**

 

ข้อมูลโดย สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย
The Veterinary Practitioner Association of Thailand (VPAT)