เห็บสุนัข

7 จุดซ่อนตัวของเห็บสุนัข

ช่วงหน้าฝน ถือว่าเป็นอุณหภูมิที่เหมาะในการแพร่พันธุ์เจ้า เห็บสุนัข ยิ่งนัก บ้านและสวน Pets ขอนำเสนอ 7 จุดซ่อนตัวและวิธีตรวจสอบเห็บบนตัวสุนัขกันค่ะ

ปัญหา เห็บสุนัข กวนใจเป็นเรื่องที่คนเลี้ยงสุนัขต้องเจอและกังวลไม่น้อย ไม่ว่าจะฤดูไหน โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน เนื่องจากความชื้นและอุณหภูมิที่พอเหมาะจะช่วยส่งเสริมความสมบูรณ์ของไข่และการแพร่ขยายพันธุ์ของตัวอ่อนมากขึ้น สภาพอากาศจึงเป็นส่งที่เอื้ออำนวยสำหรับการแพร่พันธุ์ของเห็บสุนัข โดยเฉพาะในระยะฟักไข่ยิ่งความชื้นสูงก็จะยิ่งช่วยให้ไข่สมบูรณ์มากที่สุด ตัวอ่อนก็จะแพร่ขยายพันธุ์ได้มากสุขภาพแข็งแรงดีพร้อม ด้วยเหตุนี้เองเราจึงมักพบว่าหน้าฝน หรือช่วงที่มีฝนตกน้องหมาจะมีเห็บขึ้นเยอะกว่าช่วงที่ไม่มีฝน ดังนั้นก่อนจะไปดู 7 จุดซ่อนตัวของเห็บบนตัวสุนัข เรามาทำความเข้าใจวงจรชีวิตของมันอีกครั้งดีกว่า

วงจรชีวิตของเห็บ

แบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ (egg) ระยะตัวอ่อนลาร์วา (larva) ระยะตัวอ่อนนิมฟ์ (nymph) และระยะตัวเต็มวัย (adult) ตัวอ่อนในระยะลาร์วาจะฟักออกมาจากไข่และขึ้นไปกินเลือดบนตัวสุนัขเป็นเวลาประมาณ 5-15 วัน หลังจากนั้นจะกระโดดลงมาจากตัวสุนัขเพื่อลอกคราบในสิ่งแวดล้อมแล้วโตเป็นระยะตัวอ่อนนิมฟ์ ตัวอ่อนในระยะนิมฟ์จะขึ้นไปกินเลือดบนตัวสุนัขต่ออีก 3-13 วัน (อาจจะเป็นสุนัขตัวใหม่ หรือเป็นสุนัขตัวเดิมก็ได้) แล้วลงมาลอกคราบในสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิมเพื่อเจริญเป็นเห็บตัวเต็มวัย

ตัวเต็มวัยทั้งเห็บตัวเมียและเห็บตัวผู้จะกลับขึ้นไปกินเลือดบนตัวสุนัขอีกครั้งและเกิดการผสมพันธุ์กันบนตัวสุนัข หลังจากผสมพันธุ์เห็บตัวเมียจะกินเลือดจนอิ่ม ในระยะนี้เราจะพบเป็นเห็บตัวใหญ่อ้วนกลมแล้วเห็บตัวเมียจะลงจากตัวสุนัข เพื่อไปวางไข่ในสิ่งแวดล้อม โดยเห็บตัวเมียจะใช้เวลาในการพัฒนาจากเลือดในท้องไปเป็นไข่ และใช้เวลาวางไข่ประมาณ 15-18 วัน สามารถวางไข่ได้มากถึง 7,000 ฟอง หรือประมาณ 4,000 ฟองโดยเฉลี่ย เมื่อตัวเมียวางไข่เสร็จเรียบร้อยตัวเมียตัวนั้นจะแห้งตายจากไป ไข่ของเห็บจะถูกปกป้องจากสิ่งแวดล้อมด้วยของเหลวคล้ายขี้ผึ้งที่เห็บตัวเมียผลิตขึ้นมาและใช้เวลาประมาณ 6-23 วันจะฟักออกเป็นลูกเห็บตัวเล็ก ๆ อีกครั้ง

วิธีตรวจสอบเห็บบนตัวสุนัข

ใช้นิ้วลูบขนของสัตว์เลี้ยงด้วยแรงกดเบา ๆ เพื่อให้รู้สึกถึงการกระแทกเล็ก ๆ และมองหาเห็บในบริเวณต่อไปนี้
– ในและรอบหู : รอยแยกเล็ก ๆ ในหู เป็นบริเวณที่ซ่อนตัวชั้นเยี่ยมของเห็บสุนัข
– ใกล้เปลือกตา : บริเวณรอบดวงตามักเป็นจุดที่ไม่มีใครสังเกตเห็น จุดเล็ก ๆ ที่เราเห็นนั้นอาจจะเป็นเห็บที่เรานึกไม่ถึงก็ได้
– ใต้ปลอกคอ : หากใส่ปลอกคอสุนัขตลอดเวลาหรือไม่ค่อยถอดออก จึงเป็นไปได้ที่เห็บจะซ่อนตัวที่ใต้ปลอกคอโดยไม่มีใครสังเกตเห็น ดังนั้นอย่าลืมถอดปลอกคอสุนัขเป็นระยะ ๆ และตรวจสอบเห็บเป็นประจำ
– ระหว่างนิ้วเท้า : เป็นจุดที่ไม่ได้มองเห็นได้ง่าย ๆ จึงเป็นจุดที่เห็บสุนัขซ่อนตัวได้ดีเยี่ยม
– ระหว่างขาหลังและขาหนีบ : บริเวณอวัยวะเพศและรอบก้นมักจะอบอุ่น ทำให้เป็นจุดซ่อนตัวที่ดีเยี่ยมสำหรับเห็บสุนัข
– ใต้ขาหน้า : ให้ลองสังเกตบริเวณข้อพับและข้อศอก เห็บมักซ่อนตัวอยู่ด้านใน จึงทำให้เรามองไม่เห็น
– รอบหาง : เป็นอีกจุดหนึ่งที่เห็บมักซ่อนตัวอยู่ โดยเฉพาะตามโคนรอบ ๆ หางใกล้กับก้น

นอกจากการกำจัดเห็บบนตัวสุนัขด้วยการดึงเห็บออกแล้ว ยังมี ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บ ในท้องตลาด เพื่อใช้ในการกำจัดเห็บที่อยู่บนตัวสุนัขอีกหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบของยาหยดหลัง ยากิน ปลอกคอ หรือแชมพูสำหรับอาบน้ำ เป็นต้น ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์ก็มีส่วนประกอบของยาที่ใช้ สารเคมี วิธีการใช้ระยะเวลาในการใช้ ราคา และข้อควรระวังที่แตกต่างกันออกไป

ส่วนการกำจัดเห็บในสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องทำควบคู่ไปพร้อมกับการกำจัดเห็บที่อยู่บนตัวสุนัขนั้น เจ้าของสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาที่สามารถฆ่าตัวอ่อน ไข่ และตัวเต็มวัยของเห็บได้มาทำความสะอาดบริเวณบ้านและบริเวณที่นอนของสุนัข ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาถูพื้น น้ำยาที่สามารถใช้ราดพื้นหรือฉีดพ่นในซอกมุมต่าง ๆ ของบ้านที่มีโอกาสจะเป็นแหล่งที่อยู่ของเห็บได้ หรือการซักทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก

จากที่กล่าวมาแล้วการกำจัดเห็บสุนัข เป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของควรรู้และเข้าใจ เพื่อสุขภาพที่ดีของเจ้าสีขาที่รักของเรา