แมวมีกลิ่นปาก เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาด้านสุขภาพของน้องแมวได้
แมวมีกลิ่นปาก เกิดจากอะไร
กลิ่นปากของแมวมีสาเหตุหลักอยู่ 2 ประเด็น คือ
- ปัญหาจากโรคในช่องปาก เหงือก และฟัน เช่น มีหินปูน โรคเหงือกและปริทันต์ เป็นต้น
- ปัญหาความผิดปกติจากโรคระบบอื่น ๆ เช่น โรคไต โรคตับ โรคระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อ โรคเบาหวาน และโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
มาเริ่มต้นที่สาเหตุแรกกันค่ะ กับปัญหาโรคในช่องปาก เหงือกและฟัน
กลิ่นปากของน้องแมวที่เกิดจากคราบหินปูนสะสมตามร่องเหงือกและฟัน ทำให้เชื้อแบคมีเรียในช่องปากเจริญเติบโตมากกว่าปกติ ซึ่งคราบหินปูนเหล่านี้มีสาเหตุจาก แมวกินอาหารตามปกติ และมีเศษอาหารตกค้างอยู่ในช่องปาก
โรคในช่องปากและฟันของแมวที่พบได้บ่อย ได้แก่ หินปูนสะสมตามร่องฟัน และภาวะเหงือกอักเสบ นอกจากนี้ยังมีโรคเหงือกและช่องปากอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยในแมว ที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง
รวมไปถึงโรคเนื้องอก และมะเร็งในช่องปาก ที่มักพบในแมวที่สูงวัย หรือในแมวที่มีการติดเชื้อไวรัสร่วมด้วย โรคที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเกิดกลิ่นปากเหม็นในแมวได้
สาเหตุต่อมาคือ ปัญหาปัญหาความผิดปกติจากโรคระบบอื่น ๆ ในร่างกาย
ความผิดปกติจากโรคในระบบทางกาย ซึ่งส่งผลทำให้น้องแมวมีกลิ่นปากเหม็น เกิดจากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างโรคที่พบได้บ่อยในแมวบ้าน ได้แก่
โรคไต เป็นโรคที่พบได้บ่อยในแมว โดยทำให้แมวเกิดภาวะของเสียคั่งค้างในเลือดสูง นำไปสู่การอักเสบของช่องปาก มีน้ำหนักลดลง กินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ และเบื่ออาหาร เป็นต้น
โรคตับ จะทำให้แมวมีกลิ่นปากเหม็นรุนแรงร่วมกับอาการอาเจียน ตัวเหลือง น้ำหนักลด ซึม และเบื่ออาหาร เป็นต้น
โรคระบบทางเดินอาหารในแมว เช่น กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
โรคระบบทางเดินหายใจที่ทำให้มีกลิ่นปาก เช่น การติดเชื้อไวรัสหวัดแมว ซึ่งจะทำให้เกิดแผลในช่องปาก ช่องปากอักเสบได้ เป็นต้น
หากพบอาการความผิดปกติของอาการต่าง ๆ ที่กล่าวมา ควรรีบพาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค และวางแผนการรักษาต่อไป
การดูแลและป้องกันสุขภาพช่องปากและฟัน
เพื่อป้องกันกลิ่นปาก และโรคติดเชื้อในช่องปาก เจ้าของควรหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของน้องแมวเป็นประจำ โดยการแปรงฟัน ร่วมกับการใช้ยาสีฟันสำหรับแมว จะช่วยลดคราบหินปูน และแบคทีเรีย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดหินปูนและเหงือกอักเสบได้
สำหรับตัวเลือกอื่น ๆ ในการช่วยดูแลสุขภาพช่องปาก เช่น เจลป้ายฟันลดคราบหินปูน ขนมขัดฟัน และน้ำยาสำหรับผสมน้ำดื่ม เป็นต้น
สัตวแพทย์แนะนำว่า ควรพาน้องแมวไปตรวจสุขภาพช่องปากและฟันอย่างน้อยปีละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อวางแผนการดูแลหากพบความผิดปกติ
สำหรับในแมวที่มีหินปูนมากสามารถให้การรักษาด้วยวิธีการขูดหินปูน โดยการขูดหินปูนในแมวจะทำโดยการวางยาสลบซึ่งต้องทำการตรวจสุขภาพ ตรวจเลือดเพื่อประเมิณความพร้อมของร่างกายก่อนเสมอ
บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ดูแลสุขภาพช่องปากของแมว ด้วยการแปรงฟัน !