โรคโพรงกระดูกสันหลังบริเวณเอวและก้นกบตีบแคบ (DLSS)

โรคโพรงกระดูกสันหลังบริเวณเอวและก้นกบตีบแคบ (Degenerative Lumbosacral Stenosis หรือ DLSS) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่มีการเสื่อมของโครงสร้างรอบ ๆ โพรงกระดูกสันหลังบริเวณเอวและก้นกบ ทำให้เกิดการตีบแคบจนเกิดการกดทับเส้นประสาทที่อยู่บริเวณนั้น

อาการเด่นชัดของ โรคโพรงกระดูกสันหลังบริเวณเอวและก้นกบตีบแคบ คือ จะพบอาการปวดที่บริเวณหลังด้านท้าย (Low Back Pain) ซึ่งพบได้บ่อยในสุนัขขนาดใหญ่และอายุมาก สาเหตุของการเกิดโรคมักจะมาจากหลากหลายความผิดปกติอาจเกิดจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่

  • การเกิดหมอนรองกระดูกเคลื่อนมากดทับเส้นประสาท cauda equina
  • การบวมของเส้นเอ็นตรงรอยต่อกระดูกสันหลังส่วนเอวและก้นกบ
  • การงอกของกระดูกที่สร้างขึ้นใหม่ตรงรูที่เส้นประสาทออกมา
(รูปที่ 1A) บริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอวและก้นกบในภาวะปกติ ไม่พบการกดทับเส้นประสาท cauda equina (รูปที่ 1B) บริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอวต่อก้นกบในภาวะโรคโพรงกระดูกสันหลังบริเวณเอวและก้นกบตีบแคบ พบการกดทับเส้นประสาท cauda equina จากการเคลื่อนของหมอนรองกระดูก (ภาพประกอบโดย ผศ.น.สพ.ดร. นิรุตติ์ สุวรรณณา)

โรคโพรงกระดูกสันหลังบริเวณเอวและก้นกบตีบแคบมักมีรายงานบ่อยในสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด ซึ่งเป็นสุนัขที่นิยมนำมาฝึก เพื่อใช้งาน เช่น ใช้เป็นสุนัขตำรวจ หรือ สุนัขทหาร เป็นต้น

ในประเทศไทยนอกจากสายพันธุ์ดังกล่าวยังสามารถพบได้ในสายพันธุ์อื่นได้อีก

  • ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์
  • โกลเด้น รีทรีฟเวอร์
  • บางแก้ว
  • ดัลเมเชียน
  • รวมทั้งพันธุ์ผสม เป็นต้น

นอกจากนี้สามารถพบในสุนัขพันธุ์เล็กได้บ้าง เช่น พูเดิ้ล มินิเจอร์พินเชอร์ เป็นต้น

หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้มักมาจากการที่สุนัขมีกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวอย่างหนัก เช่น การกระโดด การวิ่ง หรือ การฝึก เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เหนี่ยวนำทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของข้อกระดูกเอวและก้นกบอย่างรุนแรงและเป็นประจำ ทำให้เร่งการเสื่อมของหมอนรองกระดูกที่ตำแหน่งนี้ รวมทั้งการบวมของเส้นเอ็น และตามมาด้วยการเกิดกระดูกงอกจนเกิดการทับเส้นประสาทในที่สุด

 

อาการของโรค

อาจจะพบเพียงอาการปวดหลังบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอวต่อก้นกบ โดยไม่พบอาการทางระบบประสาทใด ๆ หรือพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วยก็ได้ โดยอาการทางระบบประสาทที่พบเกิดจากการที่มีการกดทับเส้นประสาทที่วางตัวอยู่ตรงรอยต่อระหว่างกระดูกเอวและก้นกบที่ชื่อว่า เส้นประสาท cauda equina นั่นเอง

สุนัขอาจแสดงอาการเพียงแค่เจ็บบริเวณท้ายตัว ลุกยาก เดินขึ้นบันไดลำบาก เดินขาแข็ง ๆ ยืนย่อขาหลังต่ำ ๆ จนกระทั่งมีอาการขากะเผลก ไม่ใช้ขาหลังรับน้ำหนัก เนื่องจากมีการกดทับเส้นประสาทและปมประสาทตรงตำแหน่งของรูที่ออกมาจากกระดูกสันหลัง ทำให้สุนัขต้องยกขาขึ้น เพื่อลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น อาการนี้ หากดูผิวเผินจะคล้ายกับอาการของโรคกระดูกและข้อต่อ เช่น ข้อสะโพกเสื่อม เอ็นหัวเข่าขาด กล้ามเนื้ออักเสบ เป็นต้น จำเป็นต้องพาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคระหว่างโรคกระดูกและข้อกับโรคโพรงกระดูกสันหลังบริเวณเอวและก้นกบตีบแคบนี้

หากการกดทับเส้นประสาทที่รุนแรงมากขึ้นจะพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ได้แก่ อาการอ่อนแรงของขาหลัง เกิดอัมพฤกษ์หรือถึงขั้นอัมพาตได้ อาจพบว่ามีการควบคุมการขับถ่ายผิดปกติร่วมด้วย ได้แก่ พบอาการปัสสาวะไหลหยดออกมาเป็นระยะ และไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ โดยจะพบว่าประสาทที่กล้ามเนื้อหูรูดที่ก้นไม่สามารถบีบรัด เพื่อกลั้นอุจจาระได้ นอกจากนี้สามารถพบอาการอัมพาตของหางได้เช่นกัน โดยสุนัขจะไม่สามารถกระดิกหรือแกว่งหางได้ พบอาการหางตก ยกหางไม่ขึ้น โดยเฉพาะเวลาขับถ่ายอุจจาระ

การวินิจฉัยโรค

(ภาพซ้าย) ภาพถ่ายเอ็กซเรย์ของรอยต่อของกระดูกสันหลังบริเวณเอวและก้นกบพบกระดูกงอก (ภาพขวา) ภาพ MRI พบการงอกของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท cauda equina (ภาพประกอบโดย ผศ.น.สพ.ดร. นิรุตติ์ สุวรรณณา)

เมื่อพบอาการเหล่านี้ สัตวแพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจเบื้องต้น ทั้งการตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจกระดูก ข้อต่อและกล้ามเนื้อ รวมทั้งการตรวจระบบประสาท บางครั้งอาจต้องตรวจเลือด เพื่อประเมินสุขภาพโดยรวมทั่วไปร่วมด้วย และต้องทำการถ่ายภาพเอ็กซเรย์กระดูกสะโพก กระดูกขา หัวเข่า ข้อเท้า รวมทั้งกระดูกสันหลังบริเวณเอวและก้นกบ เพื่อหาความผิดปกติภาพถ่ายเอ็กซเรย์อาจพบการตีบแคบของรอยต่อของกระดูกสันหลังบริเวณเอวและก้นกบ บางครั้งอาจพบการงอกของกระดูกตรงบริเวณนั้นได้เช่นกัน
การยืนยันการวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการทำ MRI จะทำให้เห็นลักษณะการตีบแคบจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การรักษาโรค

การรักษาโรคโพรงกระดูกสันหลังบริเวณเอวและก้นกบตีบแคบนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากสุนัขมีเพียงแค่อาการปวดจะใช้วิธีรักษาโดยการให้ยาลดปวดร่วมกับยาลดอักเสบและต้องควบคุมกิจกรรม งดกระโดด งดขึ้นลงบันได สามารถทำกายภาพบำบัดเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ยังมีการแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ ที่สามารถช่วยลดอาการปวดได้ เช่น การรักษาด้วยเลเซอร์ การฝังเข็ม เป็นต้น

ในกรณีที่สุนัขมีอาการปวดรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย แนะนำให้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อลดการกดทับเส้นประสาท อาจจำเป็นต้องใส่วัสดุเข้าไป เพื่อยึดตรึงตรงรอยต่อกระดูกสันหลังบริเวณเอวและก้นกบ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกสันหลังให้มากยิ่งขึ้น หากเจ้าของสงสัยว่าสุนัขของท่านเริ่มมีอาการของโรคนี้หรือไม่
ให้รีบนำไปพบสัตวแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

บทความโดย

ผศ.น.สพ.ดร. นิรุตติ์ สุวรรณณา (อว.สพ. อายุรศาสตร์)
Assoc. Prof. Nirut Suwanna, DVM, MS, PhD, DTBVM
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Department of Companion Animal Clinical Sciences, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University