ประวัติสายพันธุ์
เจแปนนิส บ็อบเทล หรือ แมวหางกุดญี่ปุ่น (Japanese Bobtail) เป็นแมวประจำชาติญี่ปุ่น และยังถือเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์นำโชคอีกด้วย ในอดีตพวกมันถูกนำมาเลี้ยง เพื่อกำจัดหนูในบริเวณท่าเรือ หรือโรงนา ด้วยความฉลาด และกระตือรือร้นจึงเป็นที่นิยมในประเทศต้นกำเนิด นอกจากนั้น ในยุคสมัยหนึ่งพวกมันถูกเรียกว่า เป็นแมวของจักรพรรด์ญี่ปุ่น มีการออกกฎหมายที่ห้ามฆ่าพวกมัน และให้สิทธิพิเศษในการใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ความนิยมของพวกมันมีมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตำนาน และประวัติศาสตร์ รวมทั้งศิลปะของญี่ปุ่น
จากนั้นในปี ค.ศ.1968 นักพัฒนาสายพันธุ์แมวชาวอเมริกันได้นำแมวเจแปนนิส บ๊อบเทล จากญี่ปุ่นเข้ามาเลี้ยงในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นไม่นานก็ได้รับการประกาศเป็นพันธุ์มาตรฐาน โดยสมาคม Cat Fanciers’ Association (CFA) ในปี ค.ศ. 1969 และเป็นที่นิยมอย่างมาก
ลักษณะทางกายภาพ
เจแปนนิส บ็อบเทล เป็นแมวขนาดกลาง มีน้ำหนักอยู่ราว 2.5 – 5 กิโลกรัม มีรูปร่างปราดเปรียว ลำตัวเพรียว ขายาวเรียว มักพบว่าขาหลังยาวกว่าขาหน้า หัวเป็นรูปสามเหลี่ยม โหนกแก้มเป็นสันนูน จมูกยาว ตารูปไข่และมีดวงตาสีเหลืองสวย ใบหูใหญ่และตั้งสูงเป็นสามเหลี่ยม และหางกุดที่เป็นเอกลักษณ์ มีทรงเหมือนหางกระต่าย พวกมันมีขนที่นุ่มเหมือนเส้นไหม สีขนนั้นมีได้หลายสี ทั้งสีเดียวล้วน สองสี และสามสี แต่สีขนที่ประกอบด้วยสามสีนั้นจะมีความนิยมมากกว่าสีอื่น
อายุขัย
เจแปนนิส บ๊อบเทล มักมีอายุประมาณ 8-15 ปี
ลักษณะนิสัย
เจแปนนิส บ็อบเทลเป็นมิตรกับคน ฉลาด และอ่อนโยน ทั้งยังมีความกล้าหาญ ขี้เล่น ขี้สงสัย มีความกระตือรือร้น อีกทั้งยังชอบอ้อนและแสดงความรักกับเจ้าของอย่างมาก ทำให้พวกมันเป็นเพื่อนที่แสนดี แล้วสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของเจ้าของได้ พวกมันจะแสดงความห่วยใจโดยการนั่งอยู่ใกล้ ๆ เพื่อปลอบหรือทำให้สบายใจ
การเข้ากับเด็ก
เจแปนนิส บ็อบเทล เป็นแมวมีความอ่อนโยนต่อเด็ก ๆ ชอบให้แสดงความรักโดยการกอด แล้วยังเหมาะกับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก เนื่องจากพวกมันทนต่อเสียงเด็กร้องไห้ หรือวิ่งเล่นเสียงดังได้โดยไม่แสดงอาการรำคาญ พวกมันจะคอยอยู่ข้างเด็ก ๆ เสมอ ที่สำคัญก็สามารถเข้ากันได้ดีกับแมวพันธุ์อื่น
การดูแล
การออกกำลังกาย
โดยพื้นฐานแล้วนั้นแมวเจแปนนิส บ็อบเทล เลี้ยงได้ง่าย สามารถปรับตัวได้ดี และชอบทำกิจกรรมประจำวัน พวกมันยังเป็นแมวที่คล่องแคล่วและชอบเล่นมาก โดยเฉพาะการกระโดด และสำรวจหากลิ่นใหม่ ๆ เสมอ ผู้เลี้ยงอาจกระตุ้นให้แมวออกกำลังโดยให้มีการเล่นของเล่น เช่น การเล่นขนนก การวิ่งไล่จับ เป็นต้น
อาหาร
แมวควรได้รับสารอาหารที่มีสัดส่วนที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย และกิจกรรมในแต่ละวันของแมว เพียงให้อาหารที่เหมาะสมและปริมาณแคลอรี่ที่เพียงพอต่อสัตว์ ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก และอายุของแมว
โรคประจำพันธุ์
- โรคระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy : HCM)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Dilated Cardiomyopathy : DCM)
- โรคลิ่มเลือดอุดตันในแมว (Feline Arterial Thromboembolism : FATE)
- โรคระบบทางเดินปัสสาวะและไต
- โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างของแมว (Feline Lower Urinary Tract Disease : FLUTD)
- โรคระบบต่อมไร้ท่อ
- โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ภาวะไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
- โรคระบบเลือดและภูมิคุ้มกัน
- โรคเม็ดเลือดแดงแตก จากภูมิคุ้มกันที่ต่อต้านเม็ดเลือดแดงของลูกสัตว์ที่มีในนมน้ำเหลืองของแม่สัตว์ (Neonatal Isoerythrolysis :NI หรือ Hemolytic Icterus)
- โรคมะเร็ง
เรื่อง : ชนิฏฐา กล้าแข็ง