การเลือกซื้ออาหารสุนัข ให้เหมาะกับโภชนาการและช่วงวัย

สำหรับเหล่าทาสหมาแล้ว นอกจากที่อยู่อาศัย ที่นอน และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแล้ว การเลือกซื้ออาหารสุนัข ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของน้องหมานั้นดียิ่งขึ้น

แต่ในปัจจุบันอาหารและขนมสำหรับสุนัขมีมากมายหลายแบบ หลายประเภท และหลากหลายยี่ห้อ การเลือกซื้ออาหารสุนัข ที่เหมาะสมกับความต้องการของสุนัขแต่ละตัวในแต่ละช่วงอายุจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้สุนัขมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ และมีอายุที่ยืนยาว

1.ศึกษาเกี่ยวกับโภชนาการสารอาหารสุนัขให้เข้าใจ

สุนัขเป็นสัตว์ที่สามารถกินได้ทั้งพืชและเนื้อ (Omnivorous) จึงควรได้รับสารอาหารทุกชนิดอย่างครบถ้วน

– น้ำ (Water) ในร่างกายของสุนัขประกอบด้วยน้ำประมาณ 70% ทำหน้าที่ในการขนส่งสารอาหาร ระบายความร้อน และช่วยในขบวนการทางเคมีต่าง ๆ เจ้าของจึงควรวางน้ำสะอาดไว้ให้สุนัขกินตลอดเวลา โดยปริมาณน้ำที่ให้ในแต่ละวันจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว เฉลี่ยประมาณ 25 – 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน แต่ในช่วงที่อากาศร้อนสุนัขจะต้องการน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 เท่าของปริมาณน้ำที่ดื่มปกติ

– โปรตีน (Protein) เป็นสารอาหารที่สามารถหาได้จากทั้งพืชและสัตว์ ประกอบด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด ซึ่งมีหน้าที่ช่วยในการพัฒนามวลกล้ามเนื้อ สร้างเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ โดยปกติแล้วอาหารสำหรับลูกสุนัขควรมีโปรตีน 22-28 เปอร์เซ็นต์ อาหารสำหรับสุนัขโตเต็มวัยควรมีโปรตีน 10-18 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะมีสัดส่วนที่มากขึ้นเมื่อเป็นอาหารบาร์ฟ ส่วนอาหารสำหรับสุนัขที่อายุมาก หรือเป็นโรคไตควรเลือกโปรตีนที่มีคุณภาพและจำกัดปริมาณที่ได้รับ เพราะ การได้รับโปรตีนสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้ตับและไตทำงานหนักขึ้นได้

– คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) อาหารสุนัขหลายสูตรมักจะประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต อย่าง ข้าว ข้าวโอ๊ต เมล็ดธัญพืช และมันฝรั่ง โดยเฉพาะในอาหารเม็ด เพื่อเป็นตัวช่วยในการยึดส่วนผสมทุกอย่างให้จับตัวกันเป็นก้อน อีกทั้งยังทำให้อิ่มท้อง และเป็นพลังงานที่ดีให้แก่สุนัข ซึ่งในอาหารสุนัขทั่วไปจะมีคาร์โบเดรตไม่น้อยกว่า 23% ส่วนในอาหารเม็ดสำเร็จรูปมีอยู่ระหว่าง 30-60% แต่การให้คาร์โบไฮเดรตที่มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการสะสมจนเกิดเป็นโรคอ้วนได้ (Obesity) นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงแหล่งคาร์โบไฮเดรตจากข้าวโพดแบบ Corn gluten meal หรือวัตถุดิบที่เหลือจากการทำแป้งข้าวโพด เพราะ สุนัขจะไม่สามารถย่อยและทำให้เกิดอาการท้องอืดได้

– ไขมัน (Lipid) ประกอบด้วยกรดไขมันชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย (Essential fatty acid) เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้จึงจำเป็นต้องรับเข้าไปจากอาหาร ได้แก่ กรดไขมันชนิดโอเมก้า-6 และ โอเมก้า-3 จะช่วยเพิ่มความน่ากินและรสชาติที่ดีให้แก่อาหาร ช่วยบำรุงผิวหนังและขนให้สวยเงางาม รวมถึงช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินบางชนิดได้ดีขึ้น การเลือกอาหารจึงไม่จำเป็นต้องเลือกสูตรไขมันต่ำหรือไร้ไขมัน แต่ควรเลือกส่วนผสมของกรดไขมันที่มีประโยชน์ เช่น ไขมันไก่ น้ำมันพืช น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันแฟล็กซีน และน้ำมันปลา

– วิตามิน และแร่ธาตุ (Vitamins) อย่าง วิตามินเอ บี ซี เค แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และ ไอโอดีน เป็นส่วนประกอบสำคัญของร่างกาย เช่น กระดูกและฟัน ที่สามารถพบได้ทั่วไปในอาหารแต่ละมื้อ แต่หากต้องการเสริมเพิ่มเติมสำหรับสุนัขป่วย หรือตั้งครรภ์ก็ควรเลือกวิตามินที่ระบุอย่างชัดเจนว่าสำหรับสุนัขโดยเฉพาะ และให้ในปริมาณเท่าที่จำเป็น มิเช่นนั้นวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้อาจกลายเป็นสารพิษทำลายระบบย่อยอาหาร ตับ และไตแทนได้

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

– เครื่องปรุงรส
– นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว
– ผักจำพวกหอม เช่น หอมหัวใหญ่ ต้นหอม กุยช่าย
– กระเทียม
– สัตว์มีกระดอง เช่น ปลาหมึก ปู กุ้ง
– ช็อกโกแลต
– เครื่องดื่มคาเฟอีน
– กระดูกปลายแหลม
– ตับและเครื่องใน
– ผลไม้บางชนิด เช่น พลับ พีช พลัม พรุน เชอร์รี่
– ขนมหวาน และ Xylitol
– องุ่น และลูกเกด
– มันฝรั่งดิบ
– มะเขือเทศ
– อะโวคาโด
– ขนมปังยีสต์
– เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
– เบคอนและไส้กรอก
– ถั่วแมคคาเดเมีย
– เนื้อปลาดิบและไข่ดิบ

2.เลือกประเภทอาหารให้เหมาะกับขนาด อายุ และกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน

เจ้าของหลายท่านอาจคิดว่าแค่อาหารที่ดีมีคุณภาพในปริมาณมาก ๆ ก็เพียงพอต่อความต้องการของสุนัขแล้ว แต่ความเป็นจริงการให้อาหารผิดสูตรหรือให้อาหารไม่ตรงกับวัยของสุนัขนี้ อาจกลายเป็นผลเสียต่อสุขภาพของสุนัขในระยะยาวได้ เพราะสุนัขแต่ละตัวต่างก็มีความต้องการสัดส่วนของสารอาหารที่จำเป็นแตกต่างกันไปตามขนาดตัว น้ำหนัก สายพันธุ์ สุขภาพ และช่วงวัย เจ้าของจึงควรเตรียมอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อให้สุนัขเติบโตแข็งแรงอย่างสมบูรณ์

– ลูกสุนัข (Puppies) อายุ 0-4 สัปดาห์หรือ 1 เดือน ในช่วง 24-72 ชั่วโมงหลังคลอด ลูกสุนัขควรได้รับน้ำนมเหลืองที่มีสีค่อนข้างเหลืองและข้น (Colostrum) จากแม่สุนัข ซึ่งประกอบไปด้วยสารอาหารจำเป็น และเป็นตัวช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกัน จากนั้นลูกสุนัขจะกินน้ำนมปกติ (Nature milk) จากแม่สุนัขจนถึงช่วงหย่านม หรือประมาณ 4 สัปดาห์

Tips  การเลือกอาหารลูกสุนัข เพื่อให้แข็งแรงและสุขภาพดี

– สุนัขกำลังเจริญเติบโต (Growing dog) อายุ 8-24 สัปดาห์หรือ 2-6 เดือน หลังจากช่วง 4 สัปดาห์แรกไปแล้ว สารอาหารจากนมแม่จะไม่เพียงพอกับการเจริญเติบโต เพราะ ลูกสุนัขจะเริ่มมีกิจกรรม และการพัฒนาร่างกายอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการสารอาหารและพลังงานที่มากขึ้น เจ้าของจึงควรให้อาหารที่มีที่มีคุณภาพสูงสูตรสำหรับลูกสุนัขโดยเฉพาะควบคู่ไปกับนม โดยอาจแบ่งออกเป็นมื้อเล็ก ๆ แล้วให้อย่างสม่ำเสมอ พร้อมเสริมด้วยวิตามินอี วิตามินบี และสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย

– สุนัขโตเต็มวัย (Adult maintenance) อายุ 24 สัปดาห์ขึ้นไปหรือ 6 เดือนขึ้นไป เมื่อร่างกายสุนัขเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยแล้ว ร่างกายจะไม่ต้องการพลังงานและสารอาหารสูงเหมือนกับช่วงลูกสุนัข แต่ยังต้องการอาหารที่มีคุณภาพและมีความสมดุล เพื่อสุขภาพที่ดี วันละประมาณ 1-2 ครั้ง ควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งอาจจะแปรผันตามกิจกรรม รูปแบบการดำเนินชีวิต และขนาดของสายพันธุ์ได้

– สุนัขอายุมาก (Geriatric dog) สุนัขจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 6-8 ปี ซึ่งอาจจะมากน้อยแตกต่างขึ้นอยู่กับขนาด สายพันธุ์ และการเลี้ยงดู แต่ส่วนใหญ่สุนัขที่อายุมากมักจะทำกิจกรรมน้อยลง และอาจมีอาการเบื่ออาหาร เจ้าของจึงควรเน้นอาหารที่มีกลิ่นและรสชาติที่เย้ายวนใจ แต่มีแคลอรีและไขมันน้อยกว่าปกติ เสริมด้วยไฟเบอร์และสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหาร ชะลอความเสื่อมของร่างกาย และป้องกันปัญหาน้ำหนักเกิน นอกจากนี้ยังควรแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่ให้บ่อย ๆ ในปริมาณที่เหมาะสม

3.อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อ

– พยายามมองข้ามชื่อยี่ห้อ คำโฆษณา หรือชื่อสูตรที่ฟังดูสวยหรู แต่ให้พิจารณาที่การอ่านฉลากอาหารเป็นหลัก
– เลือกสูตรของอาหารให้เหมาะสมกับวัยของสุนัข
– ฉลากควรระบุข้อมูลส่วนประกอบให้ชัดเจน โดยส่วนมากมักจะเรียงจากปริมาณมากสุดไล่ลงมาตามลำดับ ซึ่งการเลือกซื้อส่วนผสมหลัก 3 อันดับแรก ควรมีเนื้อสัตว์ หรือโปรตีนที่สามารถย่อยได้ง่าย (Highly Digestible Proteins) เช่น ไก่ เนื้อวัว ปลาแซลมอน แกะ ไก่งวง อย่างน้อย 2 อันดับ
– ไม่ควรมีส่วนผสมที่มาจากผลพลอยได้ต่างๆ (by product) เช่น ขน กีบ เครื่องใน หัวไก่ กีบวัว หนัง กระดูก หรือเศษเหลือทิ้ง
– ไม่ควรใส่วัตถุกันเสียที่ทำจากสารเคมี เช่น BHA, BHT, Ethoxyquin, Sodium Nitrate และ Propylene Glycol
– มีเลขทะเบียนอาหารสัตว์ ผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ หรือองค์กรระดับโลกโลก เช่น AAFCO (Association of American Feed Control Officials)
– ระบุวันหมดอายุที่ชัดเจน
– ถุงบรรจุภัณฑ์ไม่มีรอยขาดรั่ว กระป๋องไม่บุบ ไม่บวม ไม่มีกลิ่นเหม็น และไม่ขึ้นสนิม
– คำนวณราคาต่อน้ำหนัก สำหรับการเปรียบเทียบอาหารประเภทเดียวกัน