โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia : BPH)

หากพบสุนัขเพศผู้มีอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อย หรือเบ่งอุจจาระนานกว่าปกติ โรคสำคัญที่หมอมักจะต้องนึกถึงเป็นลำดับต้น ๆ ก็คือ “โรคต่อมลูกหมากโต” หรือ Benign Prostatic Hyperplasia (BPH) ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญทางระบบสืบพันธุ์ของผู้ชายและสัตว์เพศผู้เมื่ออายุมาก พบได้ในคน สุนัข และมีรายงานการเกิดโรคในลิงชิมแปนซี แต่ไม่พบโรคในแมว

ต่อมลูกหมากของสุนัขจะทำหน้าที่ในการสร้างน้ำเลี้ยงเชื้อในการผสมพันธุ์ ต่อมจะมีรูปร่างกลมรีแบ่งเป็น 2 ก้อน ซ้ายและขวาอยู่ล้อมรอบบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะส่วนต้น และอยู่ใต้ลำไส้ตรง ดังนั้น หากต่อมลูกหมากเกิดความผิดปกติมีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น โรคต่อมลูกหมากโต ถุงน้ำ หรือฝีหนองในต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมลูกหมากจะส่งผลต่อระบบขับถ่ายเป็นหลัก

โรคต่อมลูกหมากโต พบได้ในสุนัขทุกพันธุ์ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และอาจเรียกได้ว่าเป็นโรคของสุนัขแก่ เนื่องจากพบได้บ่อยในสุนัขเพศผู้อายุมากที่ยังไม่ได้ทำหมัน อุบัติการณ์ของโรคเพิ่มขึ้นตามอายุเช่นเดียวกับคน โดยผู้ชายอายุระหว่าง 60-70 ปี จะมีภาวะต่อมลูกหมากโตได้ร้อยละ 55 ส่วนในสุนัขอายุมากกว่า 5 ปี จะพบโรคได้มากกว่าร้อยละ 80 และมากกว่าร้อยละ 95 เมื่อสุนัขอายุ 9 ปี แต่สุนัขที่มีปัญหาต่อมลูกหมากโต อาจจะมีอาการป่วยหรือไม่ก็ได้

สาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโต

สาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโตยังไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าสาเหตุของโรคเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ (แอนโดรเจนและเอสโตรเจน) ที่สร้างจากอัณฑะ ดังนั้น สุนัขเพศผู้ที่ทำหมันไปแล้ว ต่อมลูกหมากจะฝ่อเล็กลง และไม่พบว่ามีปัญหาต่อมลูกหมากโตชนิด benign prostatic hyperplasia อีกเลย

อาการของโรคต่อมลูกหมากโต

โดยมากสุนัขที่มีปัญหาต่อมลูกหมากโตมักไม่แสดงอาการป่วย จนกว่าต่อมลูกหมากจะโตขึ้นมากหลายเท่า เช่น โตมากกว่า 3-5 เท่าขึ้นไป ซึ่งอาการผิดปกติที่พบ เช่น อาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขุ่น มีเลือดปนกับปัสสาวะ และอาจมีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบร่วมด้วย รวมถึงมีของเหลวปนเลือดหยดออกจากปลายอวัยวะเพศ ท้องผูก เบ่งถ่ายอุจจาระนานกว่าปกติ นอกจากนี้ สุนัขบางตัวอาจมีอาการก้าวเดินลำบาก เนื่องจากมีความเจ็บปวดของต่อมลูกหมากที่ขยายขนาดโตขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาโดยมากอาการของโรคจะรุนแรงขึ้น ในบางรายอาการของโรคต่อมลูกหมากโตอาจไม่ชัดเจน แต่ต่อมลูกหมากที่มีการเจริญที่ผิดปกตินี้ จะโน้มนำให้เกิดปัญหาของต่อมลูกหมากอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น ถุงน้ำในต่อมลูกหมาก (prostatic cyst) หรือฝีหนองในต่อมลูกหมาก (prostatic abscess) ซึ่งจะทำการรักษาได้ยากและใช้เวลานาน

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

การวินิจฉัย สัตวแพทย์จะทำการซักประวัติ การทำหมัน อาการป่วย อายุ และทำการตรวจร่างกาย เช่น การล้วงตรวจต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก การถ่ายภาพ x-ray ช่องท้อง และอัลตราซาวด์กระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมาก

การผ่าตัดทำหมันถือเป็นการรักษาที่ให้ผลดีในโรคต่อมลูกหมากโต อาการป่วยทุเลาลงภายใน 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากหลังทำหมันฮอร์โมนเพศผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคจะลดระดับลงทันที ทำให้ต่อมลูกหมากลดขนาดลงได้อย่างรวดเร็วและถาวร หลังการผ่าตัดทำหมันขนาดต่อมลูกหมากจะเริ่มลดลงภายใน 7 วัน และลดขนาดลงร้อยละ 50 ภายใน 3 สัปดาห์ และลดมากถึงร้อยละ 70 ภายใน 9 สัปดาห์ ตามลำดับ แต่ถึงแม้ว่าการผ่าตัดทำหมันจะให้ผลดีในการรักษา แต่อาจมีข้อจำกัดในบางกรณี เช่น สุนัขอาจมีปัญหาสุขภาพอื่นร่วมด้วยเนื่องจากโรคต่อมลูกหมากโตมักพบในสุนัขอายุมากดังที่กล่าวมาแล้ว

โรคอื่น ๆ ที่มักพบในสัตว์อายุมาก เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต หรือสัตว์อาจมีอาการอื่นร่วม เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึม เบื่ออาหาร ทำให้การวางยาสลบเพื่อผ่าตัด มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หรือสุนัขบางตัวเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน ข้อสะโพกเสื่อม การผ่าตัดทำหมันอาจโน้มให้เกิดภาวะอ้วน น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และทำให้การควบคุมโรคเดิมยากขึ้น หรือในบางกรณีเจ้าของไม่อยากเลือกการรักษาโดยวิธีผ่าตัดทำหมัน เพราะต้องการเก็บสุนัขไว้ใช้เป็นพ่อพันธุ์ต่อไป

การรักษาทางยาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรักษาต่อมลูกหมากโต โดยสัตวแพทย์จะแนะนำให้กินยายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศผู้ โดยเจ้าของต้องป้อนยาสุนัขเป็นประจำทุกวัน วันละ 1 เม็ด จะทำให้ต่อมลูกหมากค่อย ๆ ลดขนาดลงได้ มีการศึกษาพบว่าต่อมลูกหมากจะลดขนาดลงร้อยละ 40 ในระยะเวลา 16 สัปดาห์ แต่อาการจะเริ่มดีขึ้นใน 2 สัปดาห์แรก อย่างไรก็ตามการรักษาทางยาจะมีผลทำให้ต่อมลูกหมากลดขนาดลงชั่วคราว หากหยุดกินยา ต่อมลูกหมากจะกลับมาขยายขนาดใหญ่อีกได้ สัตว์จำเป็นที่จะต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการดูแลของสัตวแพทย์

โรคของต่อมลูกหมากที่พบได้ รองลงมาจากโรคต่อมลูกหมากโต คือ

ต่อมลูกหมากอักเสบ (prostatitis)

การอักเสบติดเชื้อของต่อมลูกหมากมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบได้ทั้งในสุนัขที่ยังไม่ได้ทำหมันหรือทำหมันแล้วและพบได้แม้สุนัขจะอายุไม่มาก เชื้อแบคทีเรียที่พบมักเป็นชนิดเดียวกับเชื้อทั่วไปที่พบได้ในทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ เช่น E. Coli, Staphylococcus sp., Streptococcus sp. สุนัขจะมีอาการปวดเกร็งช่องท้องส่วนท้าย บางตัวอาจมีไข้ ซึม เดินก้าวย่างลำบาก หรือเกร็งขา การรักษาทำได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ

ถุงน้ำหรือซีสต์ในต่อมลูกหมาก (prostatic cyst)

พบในสุนัขอายุมากที่ยังไม่ได้ทำหมันเช่นกัน มีสาเหตุโน้มนำมาจากโรคต่อมลูกหมากโต ทำให้ท่อเล็ก ๆ ภายในต่อมลูกหมากเกิดการอุดตันจากการเจริญผิดปกติของเซลล์ต่อมลูกหมาก นำไปสู่การสะสมของของเหลวที่สร้างขึ้นภายในเนื้อของต่อมเจริญเป็นถุงน้ำ ซึ่งอาจมีขนาดเล็กหรือสะสมขนาดใหญ่ก็ได้ และมักพบมากกว่า 1 ถุง นอกจากนี้ยังมีความผิดปกติของการเกิดถุงน้ำของต่อมลูกหมากที่ถุงน้ำจะเจริญอยู่ด้านข้างต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดชนิดหนึ่ง อัลตราซาวด์เป็นวิธีที่ใช้ในการวินิจฉัยที่ดีที่สุด สุนัขจะเริ่มแสดงอาการป่วย เมื่อถุงน้ำมีขนาดใหญ่จนไปเบียดท่อปัสสาวะหรือลำไส้ ทำให้มีปัญหาระบบขับถ่าย แนวทางการรักษาเช่นเดียวกับการรักษาต่อมลูกหมากโต แต่ถ้าถุงน้ำมีขนาดใหญ่ หมออาจพิจารณาใช้เข็มเจาะดูดของเหลวในถุงน้ำออกผ่านทางผนังหน้าท้องได้ หรือบางรายอาจต้องทำการผ่าตัด

การเกิดฝีหนองในต่อมลูกหมาก (prostatic abscess)

คือการติดเชื้อแบคทีเรียเรื้อรังในต่อมลูกหมากจนเกิดการสะสมหนองขึ้น สุนัขมักมีอาการป่วยรุนแรง มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร เจ็บเกร็งช่องท้อง ค่าเม็ดเลือดขาวสูง ต่อมลูกหมากขยายขนาดใหญ่อย่างมาก มักพบอาการปัสสาวะและอุจจาระลำบากร่วมด้วยเสมอ หรือร่วมกับกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยมากเจ้าของมักพาสุนัขมาพบสัตวแพทย์เมื่อสุนัขป่วยมากแล้ว

การวินิจฉัยทำได้โดยการซักประวัติ อาการ ค่าเลือดร่วมกับอัลตราซาวด์ จำเป็นต้องให้การรักษาอย่างรวดเร็ว ระบายหนองออกจากต่อมลูกหมาก คุมการติดเชื้อให้ได้ ร่วมกับการให้ยาแก้ปวด การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อคุมการติดเชื้อมีความจำเป็นอย่างมาก ควรให้ยาที่ตรงกับผลการเพาะเชื้อ อย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายขาด

มะเร็งต่อมลูกหมาก (prostatic cancer)

พบได้บ่อยในผู้ชายอายุมากแต่มักเป็นชนิดไม่รุนแรง ซึ่งแตกต่างกับในสุนัขที่การเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากพบได้น้อยมาก แต่มักเป็นชนิดรุนแรง มีโอกาสแพร่กระจายได้สูง สุนัขที่มาพบสัตวแพทย์มักมีอาการที่รุนแรงมากแล้ว มะเร็งต่อมลูกหมากจะทำให้ต่อมมีขนาดใหญ่ขึ้น สัตว์จะมีอาการเบ่งปัสสาวะและอุจจาระอย่างมาก ซึม ไม่มีแรง หายใจถี่ กินได้แต่น้ำหนักลด ผอม ไม่ยอมลุกเดินอาการอื่นที่พบร่วมด้วยจะเกิดจากการที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ปอด กล้ามเนื้อหัวใจ ตับ ม้าม ไต เป็นต้น การวินิจฉัยทำได้โดยการอัลตราซาวด์ร่วมกับการตรวจเซลล์จากต่อมลูกหมาก โดยมากสุนัขจะเสียชีวิตภายใน 1-3 เดือนหลังแสดงอาการ

ปัจจุบัน เจ้าของดูแลเอาใจใส่สัตว์เลี้ยงได้เป็นอย่างดี มีโภชนาการที่เหมาะสม พาออกกำลังกาย มีโปรแกรมป้องกันเห็บหมัด ดูแลเสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว ทำให้สัตว์เลี้ยงอายุยืนอยู่กับเราได้นาน ดังนั้น เจ้าของจึงควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจพบได้เมื่อสุนัขหรือแมวเข้าสู่วัยชรา ซึ่งโรคของต่อมลูกหมากก็เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยในสุนัขอายุมาก
เจ้าของที่เลี้ยงสุนัขอายุมาก เช่นมากกว่า 7 ปี ขึ้นไป ควรพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจร่างกายประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้การดูแลที่เหมาะสมหรือให้การรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่โรคจะรุนแรงจนรักษาได้ยาก

บทความโดย

ผศ. น.สพ.ดร.ศุภวิวัธน์ พงษ์เลาหพันธุ์ อว.สพ. เวชศาสตร์ระบบสืบพันธุ์
Asst. Prof. Suppawiwat Ponglowaphan, DVM, MS, PhD, DTBT
ภาควิชาสูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์
Department of Obstetrics, Gynecology & Reproduction, Faculty of Veterinary Science, Chulalongkorn University

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่