โรคขี้แมว

โรคขี้แมว หรือ โรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)

โรคขี้แมว (Toxoplasmosis) เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน(Zoonosis) ที่สำคัญ เกิดจากติดเชื้อโปรโตซัวที่ชื่อว่า Toxoplasma gondii เชื้อมีวงจรชีวิตที่สามารถเจริญเติบโตได้ในสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด แต่แมวนั้นจัดเป็นโฮสต์แท้ เชื้อจะอาศัยทางเดินอาหารของแมวในการเจริญเติบโตจนสมบูรณ์และปล่อยไข่ (Oocyst) ปนออกมากับอุจจาระของแมว

แมวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการพบเชื้อ โรคขี้แมว นี้ คือ แมวเลี้ยงระบบเปิด มีพฤติกรรมล่ากินเหยื่อ เช่น หนู นก หรือแมว กินเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก แต่ถ้าหากเป็นแมวที่เลี้ยงระบบปิด และไม่กินเนื้อดิบ หรือกินหนู นกต่างๆ โอกาสพบเชื้อจะค่อนข้างน้อยมาก หรือไม่มีเลย

โรคขี้แมว

การติดต่อสู่คนของเชื้อนี้มีได้ 3 ทาง
1.การรับประทานอาหาร หรือ ดื่มน้ำที่มีไข่ ที่เจริญเต็มที่แล้วปนเปื้อนอยู่
2.การรับประทานถุงซีสต์ของพยาธิ ที่อยู่ในเนื้อสัตว์ดิบ ปรุงไม่สุก ที่มีเชื้อโรคขี้แมวนี้อยู่
3.ผ่านทางรกไปยังทารก หากแม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์

โดยที่จริงแล้ว รายงานคนที่เลี้ยงแมวติด โรคขี้แมว นี้จากแมวโดยตรงนั้นอุบัติการณ์น้อย การติดต่อทางหลักของโรคนี้ในแมวมักเกิดจากการที่กินเนื้อสัตว์เช่นเนื้อหมู เนื้อวัว ที่มีเชื้อปนเปื้อนและปรุงไม่สุก หรือปรุงสุกๆดิบๆ เป็นต้น ข้อควรเข้าใจคือโรคนี้ไม่ได้เกิดกับคนที่ตั้งครรภ์ทุกคน  

สำหรับคนตั้งครรภ์ ถ้าหากติดเชื้อ โรคขี้แมว เชื้อโรคจะผ่านรกไปยังทารก และทำให้เกิดโรคขี้แมวแต่กำเนิดได้ แต่ถ้าหากหญิงใดที่ได้รับเชื้อโรคขี้แมวมาก่อนการตั้งครรภ์ และร่างกายมีแอนติบอดีต่อเชื้อโรคขี้แมวแล้ว และร่างกายแข็งแรงดี ถือว่าเป็นกลุ่มที่ไม่เสี่ยง ส่วนกลุ่มแม่ที่เสี่ยงมากยิ่งขึ้น เช่น คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากโรคเอดส์ หรือติดเชื้อขี้แมวก่อนตั้งครรภ์เพียงเล็กน้อย หรือแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นมะเร็ง เคยได้รับการทำเคมีบำบัด หรือเคยมีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เป็นต้น

ถ้าหากตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอุจจาระแมวโดยตรง ถ้าหากต้องเก็บอุจจาระแมว ควรใส่ถุงมือ เพื่อลดการสัมผัสเชื้อโรค โดยเชื้อโรคสำคัญที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คือ โรคท็อกโซพลาสโสซิส หรือโรคขี้แมว ที่สามารถติดผ่านอุจจาระของแมวที่เป็นโรคได้ แต่ข้อปฏิบัติที่แนะนำ คือ ถ้าหากมีคนอื่นที่สามารถเก็บอุจจาระแมวแทนได้ ให้คนอื่นทำก่อนในช่วงที่ตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ปฏิบัติตามวิธีอย่างถูกต้อง ดังที่จะกล่าวในข้อต่อไป เรื่องการเตรียมตัว และวิธีปฎิบัติ

การเตรียมตัว และวิธีปฏิบัติ เพื่อให้คนท้องและแมว สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และ ปลอดภัย

การเตรียมตัวแมว

  1. เลี้ยงแมวในระบบปิด เลี้ยงแมวในบ้าน งดการให้แมวสัมผัสกับพื้นดินภายนอก เพื่อลดการปนเปื้อนติดเชื้อ
  2. ไม่ให้แมวกินเนื้อดิบ หรือ เนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก
  3. หลีกเลี่ยงการให้แมวสัมผัส หรือ ล่าเหยื่อตามธรรมชาติ เช่น การจับนก หนู เป็นต้น
  4. สามารถนำแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อโรคขี้แมวได้ในกลุ่มแมวที่มีความเสี่ยงเพื่อเป็นการตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น
  5. ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ด้วยกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินอี วิตามินซี ทอรีน ลูทีน เบต้า-แคโรทีน และเบต้า-กลูแคน
  6. ช่วยดูแลสุขภาพผิวหนังและเส้นขนให้เงางาม เพราะมีส่วนผสมของ โอเมก้า 3 (Omega 3) ชนิด EPA (Eicosapentaenoic acid) และ DHA (Docosahexaenoic acid)
  7. ช่วยดูแลระบบขับถ่ายด้วยโปรตีนคุณภาพสูง (L.I.P.) คาร์โบไฮเดรตย่อยง่าย

    ข้อดีและข้อเสียของการเลี้ยงแมวในบ้านหรือระบบปิด

การเตรียมตัวของคน

  1. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำไม่สะอาด
  2. ใส่ถุงมือทุกครั้ง ที่สัมผัสดิน หรือทราย เพราะอาจมีเชื้อขี้แมวปนอยู่ในสิ่งแวดล้อม
  3. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร
  4. ปิดกระบะทรายแมว ที่ทิ้งไว้นอกบ้านเสมอ
  5. เปลี่ยนกระบะทรายแมวทุกวัน
  6. หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดกระบะทรายแมวเอง ให้คนในบ้านทำแทนก่อน แต่ถ้าหากไม่สามารถให้ใครมาทำแทนได้ ให้ใส่ถุงมือ และล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง หลังเสร็จภารกิจเสมอ
  7. ไม่รับแมวจรจัด หรือ แมวใหม่มาเลี้ยงขณะตั้งครรภ์
  8. กำหนดพื้นที่เลี้ยงแมวให้ชัดเจน อาจจะงดการนำแมวมานอนด้วย เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อ
  9. ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ของแมว กรง ชามอาหาร โดยใช้ความร้อน สามารถทำลายไข่ของโปรโตซัวได้
  10. ปรึกษาแพทย์ที่ดูแล เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมเพิ่มเติม ในระหว่างช่วงตั้งครรภ์


บทความโดย
สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
Piyawun Phurahong , DVM
สัตวแพทย์ประจำคลินิกโรคแมว โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

ติดตามบทความดี ๆ จากพวกเราได้ที่
Facebook : บ้านและสวน Pets