โรคเชื้อราสปอโรทริโคซิส

โรคเชื้อราสปอโรทริโคซิส ในแมว(Sporothricosis)

ในช่วงนี้เราอาจจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับโรคเชื้อราผิวหนังชนิดหนึ่งในแมว ที่สามารถติดต่อสู่คนได้ นั่นก็คือ โรคเชื้อราสปอโรทริโคซิส เกิดจากเชื้อราที่ชื่อว่า Sporothrix schenkii

Sporothrix schenkii เป็นเชื้อราที่พบอาศัยในตามธรรมชาติ เช่น ดิน พืช เปลือกไม้ ซึ่งพบการกระจายอยู่ในทั่วโลก เชื้อราชนิดนี้หากติดเชื้อเข้าสู่ผิวหนังของแมวจะติดสู่ผิวหนังชั้นลึก ลักษณะรอยโรคของ โรคเชื้อราสปอโรทริโคซิส มีก้อนตามผิวหนัง และปะทุแตกออกเป็นแผลหลุม

โรคเชื้อราสปอโรทริโคซิส
ขอบคุณภาพจาก : Facebook หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

ความสำคัญในด้านระบาดวิทยา

เชื้อรากลุ่มนี้เป็นเชื้อราที่สามารถติดต่อจากแมวสู่แมว และติดต่อจากแมวสู่คนได้ ซึ่งมีรายงานการพบการระบาดในต่างประเทศมาก่อน เช่น มาเลเซียมีรายงานพบการระบาดจากแมวสู่คน สำหรับข้อมูลการระบาดของเชื้อรานี้ในสัตว์ในประเทศไทยยังมีข้อมูลรายงานไม่มาก โดยในปี พศ.2561 มีงานวิจัยรายงานการพบโรคเชื้อราสปอโรทริโคซิสในแมวที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

แมวติดเชื้อราสปอโรทริโคซิสจากที่ไหนและอาการที่พบจะเป็นอย่างไร?

การติดเชื้อเกิดจากแมวได้รับเชื้อรา Sporothrix ผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล จากในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่มีเชื้อรานี้อาศัยอยู่ เช่น ในดิน หรือ หนามไม้ ทิ่มแทงที่ผิวหนังจนเกิดบาดแผล การติดเชื้อราเข้าสู่ชั้นผิวหนังก่อให้เกิดลักษณะรอยโรคเป็นตุ่ม หรือ ก้อนกระจายตามผิวหนัง สามารถพบได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า หัว และขาของแมว มักจะเป็นตำแหน่งที่พบบ่อยสุด รอยโรคที่เป็นก้อนจะพบการอักเสบและเกิดการประทุแตกออกเป็นแผลหลุมและอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยได้

เชื้อราชนิดนี้สามารถพบการติดเชื้อไปยังระบบอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง ระบบทางเดินหายใจ ไต ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร แต่ติดเชื้อในระบบอื่น ๆ ในร่างกายนั้นมีรายงานการพบค่อนข้างน้อย ซึ่งมักจะพบในแมวที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และ สามารถก่อให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงสามารถเสียชีวิตได้เป็นต้น

สำหรับการติดต่อระหว่างระหว่าง แมวกับแมว และแมวกับคน สามารถเกิดขึ้นได้โดยผ่านทางการกัด การข่วนจากแมวที่เป็นโรค และ เกิดบาดแผลที่ผิวหนัง หรือ ผ่านการสัมผัสที่รอยโรคที่เป็นแผลเปิด หรือ สิ่งคัดหลั่งจากแผล เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัย

สัตวแพทย์จะทำการวินิจฉัยจากประวัติ อาการและรอยโรคที่ตรวจพบทางผิวหนัง มักพบในแมวที่เลี้ยงระบบเปิดเนื่องจากมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อรา Sporothrix ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ การเจาะเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ผิวหนังเพื่อตรวจทางเซลล์วิทยา หรือทางพยาธิวิทยาจะเป็นวิธีการยืนยันการติดเชื้อ

การรักษา

การรักษา โรคเชื้อราสปอโรทริโคซิส จะให้ยากินฆ่าเชื้อรา เช่น Itraconazole ต่อเนื่อง อย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป จนกว่าจะหายจากโรค ร่วมกับการใช้ยาฆ่าเชื้อราทาภายนอกทางผิวหนัง

การป้องกัน

เนื่องจากเชื้อราชนิดนี้อาศัยอยู่ตามดิน ตามเปลือกไม้ หรือ หนามไม้ ดังนั้นการป้องกัน คือ ไม่ให้แมวสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะพบเชื้อรา Sporothrix อาศัยอยู่ รวมถึงระวังการกัด-ข่วน หรือ สัมผัสสิ่งคัดหลั่ง หรือ แผลจากแมวที่เป็นโรคนี้ หากตรวจพบรอยโรคทางผิวหนังที่มีลักษณะต้องสงสัย ให้รีบพาไปตรวจกับสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคและรักษา ซึ่งแมวจะสามารถหายจากโรคนี้ได้ ในคนหากต้องดูแลหรือสัมผัสกับแมวที่เป็นโรคนี้แนะนำต้องใส่ถุงมือทุกครั้งที่สัมผัสสัตว์ป่วย

เชื้อราในแมว โรคที่ทาสแมวพึงระวัง (Ringworm)

บทความโดย
สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
Piyawun Phurahong , DVM
สัตวแพทย์ประจำคลินิกโรคแมว โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

ติดตามบทความดี ๆ จากพวกเราได้ที่
Facebook : บ้านและสวน Pets