โรคไตวายในแมว หลายคนคงเคยได้ยิน และอาจมีความกังวลว่าจะเกิดขึ้นกับเจ้าเหมียวสุดรักของตนหรือไม่ จะต้องระวัง หรือ มีวิธีป้องกันอย่างไร วันนี้ บ้านและสวน Pets มี 6 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับโรคไตวายในเจ้าเหมียวมาฝากกัน
คำถามที่ 1 : โรคไตวายในแมวส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุใด และ สถิติการเกิดโรค
โรคไตวายในแมว หมายถึง ความผิดปกติของการทำหน้าที่ของไต ซึ่งโรคไตวายในแมว สามารถแบ่งได้ตามระยะการเกิดโรคเป็น 2 ประเภท คือ ไตวายเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากการทำหน้าที่ของไตลดลงอย่างทันทีทันใด เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อในร่างกาย การได้รับสารพิษ การอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะ การขาดเลือดไปเลี้ยงไตอย่างเฉียบพลัน เป็นต้น ส่วนไตวายเรื้อรัง คือพบการทำหน้าที่ของไตลดลงทีละน้อย เป็นระยะเวลานาน สาเหตุเกิดได้จาก โรคทางกรรมพันธุ์ , ความเสื่อมของไตตามอายุ , การได้รับโภชนาการที่ไม่เหมาะสม , ความดันโลหิตสูง เป็นต้น โรคไตวายเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในแมวสูงอายุ ที่อายุมากกว่า 10 ปี อุบัติการณ์ของโรคสูงถึง 7.5% จากในบางรายงาน
ภาวะไตวายในสัตว์เลี้ยง (Kidney Failure หรือ Renal Failure)
คำถามที่ 2 : อาการเบื้องต้น และ วิธีการสังเกตว่าแมวมีอาการของโรคไต
วิธีสังเกตแมวที่เป็นโรคไตวาย หากมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรพาไปพบสัตวแพทย์ คือ น้ำหนักลดลง กินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ อาเจียน อุจจาระเหลว ถ่ายเป็นสีดำ ขนหยาบ มีภาวะแห้งน้ำ มีแผลในช่องปาก ซีด อ่อนแรง ในรายที่ของเสีย หรือ ยูเรียในกระแสเลือดสูง อาจพบกลิ่นยูเรีย ทางลมหายใจ หรือ ช่องปาก และ อาจมีอาการชักร่วมด้วย
คำถามที่ 3 : จริงหรือไม่อาหารบางประเภททำให้แมวเสี่ยงเป็นโรคไต
จริง ๆ แล้วสาเหตุของการเกิดโรคไตนั้น มีได้หลายสาเหตุ ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น การได้รับโภชนาการ หรือ อาหารที่ไม่เหมาะสม ก็สามารถทำให้น้องแมวมีความเสี่ยงของการเกิดโรคไตได้ เช่น การได้รับอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียม ฟอสฟอรัสสูง เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน , อาหารที่มีเชื้อราปะปน , การให้อาหารประเภทเครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง เป็นต้น
คำถามที่ 4 : โรคไตในแมวรักษาได้หรือไม่
การรักษาภาวะโรคไตวายเรื้อรังในแมว เนื่องจากโรคไตเป็นโรคที่ไม่สามารถหายขาดได้ การรักษาจึงเป็นการชะลอความเสื่อมของไตส่วนที่เหลือ เพื่อยืดอายุให้น้องแมวให้อยู่ได้นานที่สุด
เป้าหมายในการรักษาโรคไตในแมว คือ
1. ชะลอการลุกลามและพัฒนาของโรค
2. หลีกเลี่ยงการทำให้ไตนั้นถูกทำลายหรือเสียหายเพิ่ม
3. จัดการภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่เกิดขึ้น
ดังนั้นจากเป้าหมายทั้ง 3 ข้อ แนวทางการรักษาจึงเป็นไปในแนวทางแบบพยุงอาการ และ ตามอาการ โดยการควบคุมอาหาร โภชนาการบำบัด ควบคุมให้ทานอาหารที่มีระดับของโปรตีน ฟอสฟอรัส และ โซเดียมต่ำ , การให้สารน้ำทางเส้นเลือด เพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย , การให้สารน้ำใต้ผิวหนัง , การให้ยาต่าง ๆ ตามอาการ ในบางประเทศอาจมีการรักษาโดยการล้างไต
คำถามที่ 5 : เราจะมีวิธีการป้องกันการเกิดโรคไตได้อย่างไร
เนื่องจากโรคสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นการป้องกันโรคไต ต้องเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้ไตเสื่อม หรือ ทำหน้าที่ลดลง เช่น ให้ทานอาหารสำหรับน้องแมว หลีกเลี่ยงให้อาหารคน เนื้อสัตว์ อาหารที่มีฟอสฟอรัส โซเดียม และ โปรตีนสูง ๆ , มีน้ำสะอาดให้น้องแมวทานอย่างพอเพียง และ กระตุ้นให้น้องแมวทานน้ำเยอะ ๆ , เฝ้าระวังโรคติดเชื้อต่าง ๆ , ทำวัคซีนเป็นประจำทุกปี , ควรพาน้องแมวตรวจเช็คสุขภาพ และ ตรวจเลือดอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง
คำถามที่ 6 : หากตรวจพบว่าแมวเป็นโรคไตควรทำอย่างไรดี แล้วถ้าแมวไม่ได้รับการรักษาจะเป็นอย่างไร
หากตรวจพบว่าเป็นโรคไต ควรเข้ารับการรักษากับสัตวแพทย์ ทำความเข้าใจกับพยาธิสภาพการเกิดโรค แนวทางการรักษาของโรคนี้ และ ควรดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ตามนัดของสัตวแพทย์ เนื่องจากต้องมีการประเมินอาการ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ วัดความดัน ต่าง ๆ เป็นระยะ ถ้าหากไม่ทำการรักษา ร่างกายของสัตว์ก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ จากภาวะของเสียในเลือดสูงขึ้น เลือดเป็นกรด เข้าสู่ไตวายระยะสุดท้าย และ เสียชีวิตในที่สุด
อาการแทรกซ้อนของโรคไตที่พบได้ เช่น ภาวะโลหิตจาง ความดันโลหิตสูง ภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะอัลบูมิลต่ำ อาการชัก การติดเชื้อแทรกซ้อนในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
บทความโดย
สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
Piyawun Phurahong , DVM
สัตวแพทย์ประจำคลินิกโรคแมว โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
ติดตามบทความดี ๆ จากพวกเราได้ที่
Facebook : บ้านและสวน Pets