ลองสังเกตน้องแมวที่บ้านว่า น้ำหนักลดลง กินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ หรือไม่ นี่อาจเป็นสัญญาณของโรคไตเรื้อรังที่เรียกว่า โรคถุงน้ำในไตแมว
โรคเกี่ยวกับระบบกำจัดของเสียในแมวมักเกิดขึ้นเนื่องจากไตทำงานผิดปกติ ซึ่งโดยทั่วไปมักเรียกรวม ๆ ว่า โรคไต โดยแบ่งเป็น การเกิดแบบเฉียบพลัน อย่างโรคไตวายเฉียบพลัน และการเกิดแบบเรื้อรัง ที่อาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมอย่าง โรคถุงน้ำในไตแมว
วันนี้ เรามาเจาะลึกรายละเอียดเกี่ยวกับ โรคถุงน้ำในไตแมว กันนะคะว่า ลักษณะของโรคเป็นอย่างไร และจะดูแลน้องที่ป่วยเป็นโรคนี้ อย่างไร
โรคถุงน้ำในไตแมว มีชื่อเรียกในทางสัตวแพทย์ว่า Polycystic Kidney Disease หรือ PKD เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติขึ้นในไตของแมว โดยมีถุงน้ำ หรือถุงซีสต์ หลายถุงแทรกอยู่ในเนื้อไต
โรคนี้เป็นโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกได้ โดยลักษณะของโรคมักจะไม่แสดงอาการในช่วงแรกเกิด แต่แมวจะมีภาวะแฝง จนกระทั่งเมื่อน้องแมวเจริญเติบโตมีอายุมากขึ้น ถุงน้ำที่อยู่ในไตของน้องก็จะขยายขนาดตามไปด้วย ทำให้เกิดอาการของโรคเมื่อน้องมีอายุมากแล้ว
ความผิดปกติที่มีถุงน้ำขนาดใหญ่จำนวนมากอยู่ภายในไตแมวจะส่งผลให้เกิดการทำงานของไตผิดปกติ และนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง จนเสียชีวิตในที่สุด โดยจำนวนและระยะเวลาการขยายของถุงน้ำยังไม่มีสามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน จะมากหรือน้อย หรือเกิดขึ้นเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับแมวแต่ละตัว
ที่ผ่านมา การศึกษาและวิจัยทางสัตวแพทย์พบว่า น้องแมวส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการของไตวายเรื้อรังในช่วงอายุประมาณ 7 ปี มีเพียงส่วนน้อยที่พบว่า แสดงอาการรุนแรงตั้งแต่วัยเด็ก นอกจากนี้ ลักษณะของถุงน้ำที่พบในไตของแมว ยังสามารถพบได้ในอวัยวะภายในส่วนอื่นๆ เช่น ตับ และตับอ่อน เป็นต้น
สาเหตุการเกิด โรคถุงน้ำในไตแมว
โรถุงน้ำในไตเป็นโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมผ่านความผิดปกติของยีนที่ชื่อว่า Autosomal dominant Polycystic kidney disease (AD-PKD) โดยยีนตัวนี้พบมากในแมวพันธุ์เปอร์เซีย เอ็กซ์โซติกช็อตแฮร์ และแมวสายพันธุ์ที่มีความเกี่ยวข้องกัน 2 สายพันธุ์นี้ อย่างบริทิชช็อตแฮร์ อย่างไรก็ตาม ยีนนี้ยังพบในแมวสายพันธุ์อื่นได้เช่นกัน
อาการที่แสดงออก เมื่อน้องแมวเป็นโรคถุงน้ำในไต
อาการของโรคที่เกิดขึ้น สัตวแพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นภาวะไตวายเรื้อรัง คือน้องแมวจะนำหนักตัวลดลง กินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะและจางคล้ายน้ำ กินอาหารน้อยลง ในบางกรณีที่น้องแมวมีของเสียในเลือดสูง เนื่องจากไตของน้องไม่สามารถกรองและขับของเสียได้ น้องแมวอาจมีอาการอาเจียน และมีกลิ่นปากเหม็นรุนแรง เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยโรคถุงน้ำในไตสามารถทำได้โดย การอุลตราซาวด์ ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ และสามารถระบุลักษณะของถุงน้ำภายในไตได้อย่างชัดเจน ส่วนเทคนิคการวินิจฉัยแบบอื่น ๆ ก็สามารทำได้ เช่น การเอ็กซ์เรย์เพื่อดูรูปร่างของไต ซึ่งจะเห็นลักษณะผิวไตขรุขระ หรือไม่เรียบสม่ำเสมอ
รวมไปถึง การตรวจเลือดเพื่อหาค่าการทำงานของไต และตรวจปัสสาวะ ในปัจจุบันยังสามารถตรวจหายีนที่ผิดปกติได้จากตัวอย่างเลือด หรือเนื้อเยื่อกระพุ้งแก้ม ซึ่งสามารถตรวจหาความผิดปกติได้ก่อนจะพบรอยโรค หรือแสดงอาการ
ปัจจุบัน โรคถุงน้ำในไตแมวยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับพันธุกรรม การรักษาจึงเป็นรูปแบบการประคับประคองภาวะไตวายเรื้อรัง โดยให้สารน้ำ โภชนาการบำบัด ปรับสมดุลของเกลือแร่ วิตามินและอิเล็กโตรไลท์ในร่างกาย รักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากโรคไต และลดความเสียหายของไตที่เกิดขึ้นให้ช้าลง
สายพันธุ์แมวที่มีแนวโน้มพบยีน AD-PKD ผิดปกติ จำแนกตามระดับความเสี่ยง ได้ดังนี้
- สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เปอร์เซีย, เอ็กโซติกช็อตแฮร์, และบรทิชช็อตแฮร์
- สายพันธุ์ที่มีความเสี่้ยงปานกลาง ได้แก่ เอเชีย, เบอร์มิลลา, บอมเบย์, ทิฟฟานี, เบอร์แมน, คอร์นิชเร็กซ์, ดีวอนเร็กซ์, แร็กดอลล์ และสโนว์ชูส์
- สายพันธ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ แอบิสสิเนียน, แองโกรา, บาหลี, เบงกอล, พม่า, อียิปต์มาอู, โคราช หรือสีสวาด, เมนคูน, แมวป่านอร์เวย์, ออเรนทอลขนสั้นและขนยาว, รัสเซียนบลู, แมวไทย, แมวสิงคโปร์, โซมาลี, แมวศุภลักษณ์, และเทอร์กิชแวน
แม้ว่า สัตวแพทย์จะตรวจพบโรคถุงน้ำในไตแมวของน้อง ๆ คุณหมอยากให้ดูแลน้อง ๆ อย่างดีที่สุดนะคะ เพราะว่า ถ้าเราดูแลเขาอย่างเหมาะสมแล้ว น้องแมวก็จะมีชีวิตอยู่กับเราได้ยาวนานมากขึ้นค่ะ
เรื่อง สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital