คุณพ่อคุณแม่หลงใหลน้องแมวด้วยเหตุผลหลายประการ หนึ่งในเหตุผลเหล่านั้น คือ รูปร่างกลมฟูของน้องแมว และด้วยเหตุผลนี้ คุณพ่อคุณแม่หลายท่านจึงอยากให้น้องตัวแน่น และขนฟู แต่สุดท้ายทำให้ แมวอ้วน มากกว่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม แมวอ้วน หรือที่สัตวแพทย์มักเรียกว่า แมวที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน เป็นแมวที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ในอนาคต รวมถึงมีอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง เมื่อเทียบกับแมวที่มีน้ำหนักตัวตามมาตรฐาน
ดังนั้น การดูแลน้องแมวให้มีรูปร่างที่สมส่วน และมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งจะส่งผลให้น้องแมวมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ
แมวที่มีสุขภาพดีย่อมส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ และเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วตามธรรมชาติของแมว ที่สำคัญ เมื่อน้องแมวได้แสดงออกตามสัญชาติญาณ และมีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรค น้องแมวจะเกิดภาวะแห่งความสุขตามมาด้วย
น้องแมวของเราอ้วน หรือไม่ ตรวจสอบได้อย่างไร
สำหรับการประเมินว่า น้องแมวของเรามีรูปร่างที่สมส่วนหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่สามารถทำเองได้ง่าย ๆ โดยการสังเกตด้วยตา และใช้มือคลำร่างกายของแมว โดยอ้างอิงจากเกณฑ์การให้คะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย (Body condition score : BCS) ของสัตว์เลี้ยง แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 ภาวะผอมแห้งขาดอาหาร (Lean)
เมื่อมองด้วยสายตาจะเห็นกระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน และกระดูกต่าง ๆ ได้โดยง่าย ร่างกายไม่มีชั้นไขมันปกคลุมเลย ช่วงเอวคอดอย่างชัดเจน
ระดับที่ 2 ภาวะผอม หรือน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน (Thin)
เมื่อคลำบริเวณลำตัวมักจะพบกระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน และกระดูกต่าง ๆ โดยง่าย มีชั้นไขมันใต้ผิวหนังเพียงเล็กน้อย และช่วงเอวยังคอด มองด้วยตาเห็นได้อย่างชัดเจน
ระดับที่ 3 รูปร่างสมส่วนได้มาตรฐาน (Ideal)
เมื่อมองจากด้านข้าง กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน จะไม่เห็นชัดเจน และสามารถรู้สึกถึงกระดูกต่าง ๆ ได้โดยการใช้มือลูบคลำ มีชั้นไขมันปกคลุมพอดี เมื่อมองจากด้านบนยังมองเอว และท้องแฟ่บไม่มีพุงห้อยย้อย
ระดับที่ 4 ภาวะน้ำหนักตัวเกิน (Overweight)
เมื่อมองด้วยสายตาจะมองไม่เห็นกระดูกสันหลัง ซี่โครงหรือเอวเริ่มมีพุงย้อย หลังแบนเป็นกระดาน มีไขมันส่วนเกินปกคลุมบริเวณหลัง โคนหางใหญ่ขึ้น แม้จะมีไขมันปกคลุม แต่ยังสามารถคลำเจอกระดูกซี่โครงได้เล็กน้อย มีไขมันสะสมที่ฝ่าเท้าทำให้ปุ่มนิ้วที่ฝ่าเท้าบวมและนิ่ม
ระดับที่ 5 ภาวะโรคอ้วน (Obese)
เมื่อมองด้วยสายตามองไม่เห็นซี่โครง ใช้มือคลำก็ไม่รู้สึก หรือต้องใช้แรงกดมากกว่าปกติ จึงจะคลำถึงซี่โครง มีชั้นไขมันปกคลุมทั่วร่างกาย สันหลังนูนเต็มไปด้วยไขมัน เมื่อมองจากด้านข้างมีหน้าท้องที่กลมยื่น หรือห้อยลงมาด้านล่างเห็นได้ชัด เดินอุ้ยอ้าย เชื่องช้า และเคลื่อนไหวน้อย
นอกจากการสังเกตรูปร่างของแมวโดยอิงจาก BCS แล้ว อีกหนึ่งวิธีคือ การประเมินจากน้ำหนักตัวของแมวควบคู่กันไปด้วย โดยมาตรฐานน้ำหนักแมวโตเต็มวัย จะหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม แต่สำหรับแมวพันธุ์ไทย ซึ่งมีขนาดตัวเล็ก จะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ 3-4 กิโลกรัม
สำหรับแมวสายพันธุ์ต่างประเทศบางสายพันธุ์จะมีโครงสร้างทางร่างกายใหญ่กว่าแมวไทย เช่น แมวสายพันธุ์เมนคูน (Maine Coon) สายพันธุ์แร็กดอลล์ (Ragdoll) และสายพันธุ์ไซบีเรียน (Siberian) อาจมีน้ำหนักตัวได้ตั้งแต่ 5-11 กิโลกรัม และในตัวผู้จะมีขนาดตัวและน้ำหนักมากกว่าตัวเมีย
วิธีดูแลให้น้องแมวมีรูปร่างสมส่วน
น้ำหนักตัวของน้องแมวแปรผันต่อโภชนาการโดยตรง ดังนั้น การดูแลรูปร่าง และควบคุมน้ำหนักน้องแมว จึงควรเริ่มต้นจากการพิจารณาอาหารที่ให้น้องกินในทุกวัน
อาหารแมวที่มีคุณภาพควรเป็นอาหารที่มีการระบุข้อมูลโภชนาการอย่างชัดเจน มีคุณค่าทางโภชนาการ และสารอาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัย สายพันธุ์ หรือกิจวัตรประจำวันของแมว เนื่องจากความต้องการปริมาณอาหารของน้องจะแตกต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น แมวโตเต็มวัยตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกอาหารสูตร Royal Canin Light Weight Care ให้กับน้องได้
เนื่องจากอาหารเม็ดสูตรนี้มีปริมาณไขมันต่ำ มีโปรตีนสูง มีแอลคาร์นิทีน (L-carnitine) ซึ่งช่วยเรื่องระบบการเผาผลาญไขมัน และอุดมไปด้วยใยอาหารจากไซเลียม ช่วยดูแลรูปร่างให้สมส่วน และเพิ่มความอิ่มท้องให้นานขึ้น รวมไปถึงยังช่วยส่งเสริมสุขภาพระบบทางเดินปัสสาวะด้วยสมดุลแร่ธาตุที่เหมาะสม
นอกจากเรื่องโภชนาการที่เหมาะสมแล้ว การให้อาหารน้องแมวในปริมาณที่สอดคล้องกับความต้องการของน้องก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าให้น้องกินอาหารต่อหนึ่งวันมากเกินไป น้องก็จะมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนได้ หรือถ้าให้อาหารน้องในปริมาณที่เพียงพอ น้องแมวก็จะเกิดภาวะผอมกว่ามาตรฐาน
ส่วนใหญ่ อาหารที่มีคุณภาพจะระบุปริมาณอาหารที่น้องแมวควรได้รับต่อวันไว้ที่บรรจุภัณฑ์ โดยแสดงในตารางตามช่วงน้ำหนักตัวของแมว นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องควบคู่ไปกับเรื่องการกินอาหารของน้องในแต่ละมื้อคือ น้ำดื่มสะอาด ที่ต้องจัดเตรียมใส่ภาชนะไว้ให้น้องอย่างสม่ำเสมอ
อาหารอะไรบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง และให้น้องแมวกินได้ในปริมาณน้อย
อาหารที่น้องแมวกินไม่ได้คือ อาหารของมนุษย์ที่ผ่านการปรุงรสทุกชนิด เนื่องจาก เครื่องปรุงในอาหารของมนุษย์บางประเภทสามารถเป็นอันตรายต่อน้องแมวได้ หรือทำให้น้องแมวเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ โรคไต และโรคระบบทางเดินปัสสาวะ
ในส่วนของขนมแมวเลีย คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้น้องกินบ่อยจนเกินไป ควรพิจารณาให้กินในโอกาสพิเศษ และให้ในปริมาณตามที่กำหนดไว้บนบรรจุภัณฑ์ ถึงแม้ว่าขนมแมวเลียจะปลอดภัยต่อน้องแมว แต่ถ้าหากน้องกินมากเกินไปก็จะทำให้เกิดโรคอ้วนในแมวได้
แมวส่วนใหญ่ที่เข้าสู่ภาวะน้ำหนักเกินมักเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคตับ โรคเกี่ยวกับข้อต่อและกระดูก และโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
นอกจากนี้ น้องแมวอ้วนมักเคลื่อนไหวร่างกายไม่คล่องแคล่ว เนื่องจากต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป น้องจึงไม่ค่อยอยากเคลื่อนไหวร่างกาย ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของน้องตามมา ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเครียด และภาวะซึมเศร้าในสัตว์เลี้ยง
ถ้าน้องแมวกำลังอ้วน คุณพ่อคุณแม่จะช่วยน้องได้อย่างไร
สำหรับแมวที่มีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป และคุณพ่อคุณแม่ต้องการลดน้ำหนัก ควรเริ่มต้นจากการปรับสูตรอาหารที่เหมาะสม อย่าง Royal Canin Feline Satiety Support Weight Management (*) อาหารแมวประกอบการลดน้ำหนักชนิดเม็ด
อาหาร Royal Canin สูตรนี้ ช่วยควบคุมและลดน้ำหนักน้องแมวอย่างปลอดภัย ด้วยการเสริมใยอาหารช่วยให้อิ่มท้องได้นานขึ้นหลังกินอาหาร มีโปรตีนสูงซึ่งช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อของน้องไว้ได้ในขณะที่กำลังลดน้ำหนัก
อีกทั้งยังมีสารอาหาร และสมดุลแร่ธาตุตามมาตรฐาน ช่วยปรับสภาพในระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อลดโอกาสการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ทั้งชนิดออกซาเลตและสตรูไวท์
(*การใช้อาหาร Royal Canin Feline Satiety Support Weight Management ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์เท่านั้น แนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลทั้งด้านโภชนาการ และการปรับพฤติกรรมเพื่อลดน้ำหนัก)
นอกจากเรื่องการดูแลโภชนาการแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรกระตุ้นให้น้องได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เล่นกับน้องอย่างน้อยวันละ 15 นาที ด้วยไม้ตกแมว หรือของเล่นที่น้องชอบเล่นเป็นประจำ เพื่อช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย
ในแมวโตเต็มวัย แมวที่เลี้ยงในระบบปิด หรือแมวที่ทำหมันแล้ว ส่วนใหญ่มักจะขยับตัวน้อยลง คุณพ่อคุณแม่แมวควรใช้เวลาเล่นกับแมวเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 10 – 15 นาที เพื่อให้แมวได้เคลื่อนไหวร่างกายเพิ่มมากขึ้น หรือถ้ามีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอ อาจจะติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการปีนป่ายตามมุมห้องและผนังห้อง ให้น้องได้ปีนป่ายตามสัญชาตญาณ
การดูแลน้องแมวที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือ การพาน้องแมวไปตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการประเมินและตรวจสอบว่า น้องแมวของเรายังมีสุขภาพดี หรือกำลังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือไม่ และยังช่วยให้เราสามารถป้องกันโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตรูปร่างและน้ำหนักแมวอย่างสม่ำเสมอ เพราะการดูแลรูปร่างของแมวให้สมส่วนส่งผลให้น้องแมวมีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ เพื่อให้พวกเขาอยู่เป็นความน่ารักของเราได้นานยิ่งขึ้น
โรยัล คานิน สนับสนุนให้คุณพร้อมเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีความรับผิดชอบ เริ่มง่ายๆด้วยการพาน้องแมวน้องหมาไปหาหมอ หรือ Take Your Pet To The Vet เป็นประจำทุกปี เพื่อที่จะช่วยกันสร้างสังคมสัตว์เลี้ยงสุขภาพดี ส่งต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสุนัขและแมวที่คุณรัก เพื่อให้พวกเขาอยู่กับเราไปได้นาน ๆ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ วิธีดูแลน้องแมว ให้ก้าวสู่วัยผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์แข็งแรง