เบลเยียน มาลินอยส์ หรือบางครั้งก็ถูกเรียกสั้น ๆ ว่า มาลินอยส์ เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่สง่างาม ฉลาดปราดเปรื่อง และสมบุกสมบัน สุนัขสายพันธุ์นี้สามารถแสดงความสามารถได้อย่างน่าทึ่ง หากได้รับการฝึกฝนที่ดีและถูกต้อง
เบลเยียน มาลินอยส์ เป็นชื่อที่ตั้งตามเมืองมาลีนส์ (Malines) ประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นสถานที่ที่ให้กำเนิดสายพันธุ์นี้ เริ่มแรก ผู้คนพัฒนาสายพันธุ์นี้ขึ้นมาเพื่อช่วยงานเลี้ยงสัตว์ในทุ่งเกษตรกรรม แต่ด้วยความฉลาดล้ำของมาลินอยส์ได้ผลักดันให้สุนัขสายพันธุ์นี้ก้าวเข้าสู่งานวงการอื่น ทั้งงานรักษาความปลอดภัย สำรวจตรวจค้นวัตถุต้องสงสัย และงานค้นหาผู้ประสบภัย
เมื่อมาลินอยส์โตเต็มที่ ตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 27 – 36 กิโลกรัม ความสูงจากอุ้งเท้าหน้าถึงหัวไหล่ 24 – 26 นิ้ว ส่วนตัวเมียหนัก 18 – 27 กิโลกรัม สูง 22 – 24 นิ้ว
ประวัติของเบลเยียน มาลินอยส์
สุนัขสายพันธุ์เบลเยียน มาลินอยส์ – Belgian malinois สำเนียงท้องถิ่นออกเสียงว่า มาลินัวส์ (MAL-in-wah) ตั้งชื่อตามแหล่งกำเนิดที่เมืองมาลีนส์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเบลเยียม เป็นหนึ่งในสายพันธุ์สุนัขที่เลี้ยงไว้เพื่อต้อนแกะ
ในบางประเทศ มาลินอยส์จัดอยู่ในสุนัขประเภทเดียวกับ เทอร์วูเรน (Tervuren) แลเคนัวส์ (Laekenois) และ เบลเยียนเชเพิร์ด (Belgian Shepherd หรือที่รู้จักในชื่อ Groenendael) โดยทั้งหมดถูกเรียกรวมว่า เบลเยียมชีพด็อก (สุนัขเลี้ยงแกะของเบลเยียม)
ในสหรัฐอเมริกา มาลินอยส์ได้รับการขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ในปี 1959 โดยแยกออกจากมาจากสายพันธุ์ที่คล้ายคลึงกัน อย่างเยอรมันเชเพิร์ด ซึ่งมีความแตกต่างกันที่ลักษณะของกะโหลก รวมไปถึงมาลินอยส์มีขายาวกว่า และกระดูกบางกว่าเยอรมันเชเพิร์ด
ในดินแดนบ้านเกิดของพวกเขา มาลินอยส์ได้รับการยกย่องจากเกษตรกรว่า เป็นสุนัขเลี้ยงแกะที่ไม่มีสายพันธุ์อื่นเทียบได้ ซึ่งได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ครั้งแรกโดยกลุ่มผู้เลี้ยงสุนัข ที่เน้นผสมพันธุ์สุนัขเพื่อใช้งานในฟาร์มปศุสัตว์ จึงทำให้สายพันธุ์นี้กลายเป็นที่โปรดปรานของคนเลี้ยงแกะ และเลี้ยงวัว ในเบลเยียม
ในปี 1911 มาลินอยส์ได้เข้ามายังดินแดนอเมริกันเป็นครั้งแรก พวกเขาได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดยนักเพาะพันธุืได้นำเข้าสายพันธุ์นี้มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้การนำเข้าหยุดชะงักลง และเมื่อสงครามโลกยุติลง ประชากรมาลินายส์ก็แทบหายไปจากทวีปอเมริกา จนกระทั่งช่วงต้นทศวรรษ 1960 ได้มีนักเพาะพันธุ์สุนัขได้พยายามเพิ่มประชากรมาลินอยส์กลับมาอีกครั้ง
จากนั้น มาลินอยส์ก็ได้กลับไปโลดแล่นตามฟาร์มปศุสัตว์ทั่วอเมริกาอีกครั้ง แต่ด้วยความปราดเปรื่อง ที่เป็นเอกลักษณ์ของสายพันธุ์ เป็นตัวผลักให้มาลินอยส์ก้าวเข้าสู่วงการใหม่ ๆ อย่าง วงการสุนัขทหารและตำรวจ (K-9) พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่อย่างโดดเด่น จนทางการได้สร้างอนุสรณ์สถานสุนัขทหาร เป็นรูปปั้นทองสำริด ขนาดเท่ากับมาลินอยส์ตัวจริง ตั้งไว้ที่เมืองฟาเยตต์วิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา
ลักษณะของสายพันธุ์เบลเยียนมาลินอยส์
มาลินอยส์เป็นสุนัขที่ฉลาด มั่นใจ และมีความสามารถรอบด้าน รวมไปถึงยังเป็นเพื่อนร่วมงาน ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า สามารถปฏิบัติงานร่วมกับมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
สุนัขสายพันธุ์นี้มักเป็นความภาคภูมิใจของผู้เลี้ยง ด้วยรูปร่างที่สันทัด กล้ามเนื้อแข็งแรง สง่างาม และปราดเปรียว รวมไปถึงมีความซื่อสัตย์ กระตือรือร้น และเชื่อฟังคำสั่งได้เป็นอย่างดี ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย โดยตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 27 – 36 กิโลกรัม ความสูงจากอุ้งเท้าหน้าถึงหัวไหล่ 24 – 26 นิ้ว ส่วนตัวเมียมีหนัก 18 – 27 กิโลกรัม สูง 22 – 24 นิ้ว
มาลินอยส์มีสีขนตั้งแต่สีน้ำตาลแกมเหลืองไปจนถึงสีมะฮอกกานี ใบหูและใบหน้าสีดำช่วยเน้นดวงตาสีช็อกโกแลตเข้มให้โดดเด่น อย่างไรก็ตาม สุนัขสายพันธุ์นี้พัฒนาขึ้นมาเพื่องานกลางแจ้ง และทำตามคำสั่ง นั่นหมายความ ผู้ปกครองต้องมีเวลาที่จะพาพวกเขาออกไปวิ่งเล่น และฝึกฝนให้ทำตามคำสั่งตั้งแต่อายุ 6 เดือน โดยกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้มาลินอยส์ได้แสดงออกถึงความสุขได้อย่างเต็มที่
โรคประจำสายพันธุ์
เบลเยียนมาลินอยส์มีอายขัยเฉลี่ย 10 – 14 ปี สุนัขสายพันธุ์นี้ไม่มีปัญหาสุขภาพที่น่ากังวลมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากได้รับการเลี้ยงดู และคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์อย่างดีจากผู้เพาะพันธุ์ที่มีความรับผิดชอบ
โรคที่มักพบในสายพันธุ์เบลเยียนมาลินอยส์
- โรคข้อและสะโพกผิดปกติมาแต่กำเนิด (Elbow and Hip Dysplasia) ดังนั้น ก่อนรับลูกสุนัขมาลินอยส์กลับบ้าน ผู้ปกครองควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า ลูกสุนัขไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับเรื่องข้อและสะโพก
- ต้อกระจก (Cataracts) สายพันธุ์นี้มีแนวโน้มที่จะเป็นต้อกระจกเมื่ออายุมากขึ้น ส่งผลให้ดวงตาขุ่นมัวและบอดในที่สุด การรักษา สัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านดวงตา สามารถผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนเลนส์ตาได้
- จอประสาทตาเสื่อม (PRA) โรคนี้ไม่มีทางรักษาเนื่องจากถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม โดยจะเกิดขึ้นกับสุนัขที่อายุมาก ในขณะเดียวกัน โรคนี้ก็ไม่สร้างความเจ็บปวดให้แก่สุนัข แต่อาจทำให้สุนัขใช้ชีวิตลำบากขึ้น เจ้าของฟาร์มมาลินอยส์ส่วนใหญ่จะคัดกรองพ่อแม่พันธุ์ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้ถ่ายทอดไปยังรุ่นลูก
การดูแลเรี่องอาหารและโภชนาการ
การดูแลเรื่องอาหารของสุนัขสายพันธุ์นี้ไม่มีความเฉพาะเจาะจง โดยทั่วไปแล้ว ผู้ปกครองสามารถเลือกซื้ออาหารที่สารอาหารครบถ้วน และคุณภาพสูง ให้กับมาลินอยส์ได้ และพิจารณาสูตรอาหารตามช่วงวัย โดยวัยเด็กของมาลินอยส์จะนับตั้งแต่ลูกสุนัขหย่านมถึง 1 ปี หลังจากนั้นจึงปรับอาหารเป็นสูตรสุนัขโตเต็มวัย
เช่นเดียวกับความถี่ในการให้อาหารต่อวัน มาลินอยส์ในวัยเด็กต้องการอาหารมากถึงวันละ 4 มือ และเมื่อโตเต็มที่ก็ปรับอาหารให้เหลือวันละ 2 มื้อ – เช้าและเย็น และผู้ปกครองควรกำหนดเวลาให้อาหารแต่ละมื้อให้ตรงเวลาทุกวัน เนื่องจากสุนัขสายพันธุ์นี้มีวินัยสูง รวมถึงเรื่องการกิน
นอกจากนี้ ผู้ปกครองสามารถพิจารณาการให้อาหารแต่ละมื้อด้วยการอ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์ โดยขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนัก และกิจกรรมระหว่างวัน และอาจต้องหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างในช่วงวัยเด็กอยู่เสมอ เพราะมาลินอยส์เจริญเติบโตเร็วมาก ซึ่งมีผลต่อการปรับปริมาณอาหารในหนึ่งมื้อ
การดูแลเส้นขนและผิวหนัง
การดูแลความสะอาดร่างกายของเบลเยียนมาลิยนอยส์ค่อนข้างทำได้ง่าย เนื่องจากมีขนไม่ยาวมากเหมือนกับพี่น้องร่วมสายพันธุ์ พยายามดูแลให้ไม่มีคราบดินโคลนติดตามเส้นขนหลังจากจบกิจกรรมกลางแจ้ง และหลังอาบน้ำทุกครั้งควรเป่าขนให้แห้ง เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีขน 2 ชั้น และมีการผลัดขนเป็นบางช่วงก่อนเข้าฤดูหนาว ที่สำคัญไม่ควรตัดขนจนสั้นถึงผิวหนัง เพราะอาจทำมาลินอยส์สูญเสียการควบคุมอุณภูมิในร่างกายได้
ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องอาบน้ำให้ทุกครั้งหลังออกกำลังกาย เพียงดูแลเส้นขนของพวกเขาด้วยการแปรงขนเป็นประจำ เพื่อช่วยให้ขนที่หลุดร่วงไม่ฟุ้งกระจายไปทั่ว และยังช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนเลือดที่บริเวณผิวหนัง ช่วยให้สุขภาพผิวหนังแข็งแรง
ในส่วนของสุขภาพช่องหู ควรเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาเช็ดหู อาทิตย์ละ 1 ครั้ง และคอยสังเกตไม่ให้เกิดคราบดำ ขี้หู และไม่ให้มีกลิ่น
พฤติกรรมโดยทั่วไปของมาลินอยส์
เมื่อผู้ปกครองไม่ได้พาสุนัขสายพันธุ์นี้ไปออกกำลังกายอย่างเพียงพอ พวกเขาจะเริ่มแสดงพฤติกรรมทำลายล้าง เช่น ทำลายข้าวของภายในบ้าน กัดข้าวของเครื่องใช้ พังประตูและหน้าต่าง และขุดทำลายพื้นสนามหญ้า
ดังนั้น ผู้ปกครองควรมีเวลาให้กับพวกเขาอย่างน้อย 40 นาทีต่อวัน สำหรับการพาออกไปเดินเล่น ฝึกทักษะต่าง ๆ และให้พวกเขาแสดงออกในสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ เช่น วิ่งเล่น การค้นหาวัตถุ และการเดินติดตามเจ้าของ
เบลเยียนมาลินอยส์ที่ได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี จะสามารถเข้าสังคมกับสุนัขตัวอื่น ๆ ได้ รวมไปเด็กเล็กในบ้าน และลักษณะนิสัยอย่างหนึ่งของพวกเขาคือ การดูแลปกป้องสมาชิกในครอบครัว ดังนั้น สุนัขสายพันธุ์นี้อาจไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนแปลกหน้า อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองสามารถควบคุมมาลินอยส์ให้ทำตามคำสั่งได้ ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องนี้
ความแตกต่างระหว่างเบลเยียนมาลินอยส์กับเยอรมันเชเพิร์ด
- สุนัขทั้งสองสายพันธุ์มีความสูงที่ใกล้เคียกัน แต่มีขนาดตัวต่างกันเล็กน้อย โดยมาลินอยส์ที่โตเต็มวัยมีขนาดตัวเล็กกว่าเยอรมันเชเพิร์ด
- มาลินอยส์มีขนสำดำบริเวณใบหน้าและใบหู และมีขนทั้งตัวสั้นกว่า ในขณะที่เยอรมันเชเพิร์ดมีขนยาวกว่าเล็กน้อย โดยมีขนสีดำที่ด้านหลัง และมีสีอ่อนกว่าบริเวณท้องและขา
- สุนัขทั้งสองสายพันธุ์เป็นนักกิจกรรมตัวยง พวกเขามักจะชอบให้ผู้ปกครองออกคำสั่งให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นความกระตือรือร้น อย่างไรก็ตาม มาลินอยส์มีแนวโน้มที่จะชอบทำกิจกรรมกลางแจ้งมากกว่าเยอรมันเชเพิร์ด
ข้อมูลอ้างอิง
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – เยอรมันเชพเพิร์ด (German Shepherd) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย