สัตว์เลี้ยงมีความรู้สึก และอารมณ์ หรือไม่ อย่างไร

สัตว์เลี้ยงมีความรู้สึก และมีอารมณ์ หรือไม่ เป็นหัวข้อที่มีการศึกษาวิจัยกันมาอย่างยาวนาน เพื่ออธิบายลักษณะของอารมณ์ที่เกิดขึ้น

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พยายามนำเสนอทฤษฎีในประเด็น สัตว์เลี้ยงมีความรู้สึก และมีอารมณ์ หรือไม่ โดยทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง และถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการนำมาประยุกต์ใช้จัดการกับปัญหาพฤติกรรมในทางคลินิก คือทฤษฎีที่นำเสนอโดย Jaak Panksepp ซึ่งได้อธิบายไว้ว่าสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมและนกต่างก็มีอารมณ์พื้นฐานร่วมกัน

โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 7 กลุ่มอารมณ์ ได้แก่

สัตว์เลี้ยงมีความรู้สึก,

1. SEEKING systems
กลุ่มอารมณ์นี้ประกอบไปด้วยอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความอยาก ความต้องการที่จะสำรวจ หรือทำสิ่งต่าง ๆ เปรียบเสมือนเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะผลักดันให้สัตว์มีแรงจูงใจจะแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมา จัดเป็นกลุ่มอารมณ์เชิงบวก

นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในกลุ่มอารมณ์ที่ถูกนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดถึงสวัสดิภาพของสัตว์ที่เหมาะสมอีกด้วย ตัวอย่างของพฤติกรรมที่เราจะเห็นจากสัตว์เมื่ออารมณ์ในกลุ่มนี้ทำงาน เช่น การดมสำรวจของสุนัขและแมว การวิ่งไล่จับเหยื่อ เป็นต้น

2. LUST systems
เป็นกลุ่มอารมณ์ที่ผลักดันให้เกิดความต้องการในการหาคู่เพื่อผสมพันธุ์ นำไปสู่การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมทางเพศต่าง ๆ ถือเป็นอีกกลุ่มอารมณ์ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตอยู่ของสัตว์เป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้เกิดการสืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไปได้

3. CARE systems
กลุ่มอารมณ์นี้ผลักดันให้เกิดแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรมการดูแล ปกป้อง ลูก ๆ ครอบครัว ญาติสนิท หรือแม้แต่เพื่อนที่คุ้นเคยกัน

4. PLAY systems
เป็นกลุ่มอารมณ์ที่ทำให้สัตว์อยากที่จะเข้าหา และมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์หรือบุคคลอื่น เป็นกลุ่มอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ด้านสังคม และมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนที่ของสัตว์อีกด้วย

สัตว์เลี้ยงมีความรู้สึก,

5. FEAR systems
เป็นกลุ่มอารมณ์ที่ช่วยให้สัตว์สามารถหลีกหนีจากสิ่งที่เป็นอันตราย และรักษาชีวิตรอดต่อไปได้ โดยตัวอย่างของอารมณ์ที่เราพบได้บ่อย คืออารมณ์กลัว (fear) และอารมณ์วิตกกังวล (anxiety)

อารมณ์ทั้งสองชนิดนี้ หากมีมากจนเกินไป หรือมีต่อตัวกระตุ้นที่ไม่เหมาะสม ก็จะสามารถก่อให้เกิดเป็นปัญหาพฤติกรรมตามมาได้ เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว หรือ พฤติกรรมส่งเสียงร้องมากเกินไป เป็นต้น

6. RAGE / ANGER systems
กลุ่มอารมณ์นี้เป็นกลุ่มอารมณ์ที่ช่วยให้สัตว์เกิดพฤติกรรมการปกป้องทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอยู่ และช่วยให้หลุดรอดออกจากการถูกจับโดยผู้ล่า

อารมณ์ที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ อารมณ์สับสน (frustration) เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสุนัขมีความอยาก (SEEKING) แต่ไม่สามารถทำได้ ตัวอย่างเช่น สุนัขที่ใส่สายจูงทำให้ขาดอิสระที่จะไปยังบริเวณที่ต้องการเมื่อพาเดินสายจูง หรือแมวที่เห็นนกอยู่นอกหน้าต่างแต่ไม่สามารถจะออกไปจับได้

การเกิดของอารมณ์ดังกล่าว สามารถเหนี่ยวนำให้สัตว์แสดงพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว การกัดสายจูง หรือการเห่าที่มากจนเกินไป เป็นต้น

7. PANIC / SADNESS systems
กลุ่มอารมณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อสัตว์มีการแยกออกจากสิ่งที่เรียกว่าเป็น attachment figure หรือบุคคลหรือสัตว์อื่นที่มีสายสัมพันธ์ต่อกัน เช่น เจ้าของ หรือเพื่อนสัตว์ด้วยกัน เป็นต้น

โดยตัวอย่างของพฤติกรรมที่จะแสดงออก ได้แก่ การส่งเสียงร้อง พยายามเข้าหา หรือกระวนกระวาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สัตว์ที่แสดงปัญหาพฤติกรรมเมื่อเจ้าของไม่อยู่บ้าน (separation distress) ไม่จำเป็นต้องมีสภาวะอารมณ์ในกลุ่มนี้เสมอไป แต่อาจจะเกิดจากอารมณ์อื่น ๆ ได้เช่นกัน

จากอารมณ์ทั้ง 7 กลุ่มที่ได้กล่าวมา 4 กลุ่มอารมณ์แรกจะจัดเป็นกลุ่มอารมณ์เชิงบวก ในขณะที่ 3 กลุ่มอารมณ์ที่เหลือจะถือเป็นกลุ่มอารมณ์เชิงลบ โดยถึงแม้ว่า ปัญหาพฤติกรรมส่วนใหญ่ที่พบ มักมีสาเหตุมาจากกลุ่มอารมณ์เชิงลบ เช่น สัตว์เลี้ยงที่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเนื่องจากกลัว หรือระแวงสุนัขตัวอื่น หรือคนแปลกหน้า เป็นต้น

แต่ก็มีปัญหาพฤติกรรมบางส่วน ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอารมณ์เชิงบวก ตัวอย่างเช่น พฤติกรรมการกระโจนใส่เจ้าของเมื่อเจอหน้ากัน พฤติกรรมก้าวร้าวของแมวในบางกรณี เช่น ขณะที่กำลังเล่นกัน หรือการเห่าที่มากเกินไปของสุนัขในบางกรณี เป็นต้น

ดังนั้น ความเข้าใจสภาวะอารมณ์ของสัตว์เลี้ยงนั้น จะช่วยให้เราตระหนักถึงการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของพฤติกรรมที่สัตว์เลี้ยงแสดงออกมา และมุ่งเน้นการบำบัดไปที่สาเหตุดังกล่าว มากกว่าการปรับแค่ระดับของพฤติกรรม ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นตามมาของสภาวะอารมณ์เท่านั้น

การปรับพฤติกรรมที่ไม่ได้มีการแก้ไขที่สภาวะอารมณ์ของสัตว์ เช่น การใช้การลงโทษ จึงไม่ได้เป็นแนวทางการจัดการที่ตรงกับสาเหตุที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการกดพฤติกรรมเอาไว้ไม่ให้แสดงออกมา โดยที่ยังไม่ได้มีการไปปรับเปลี่ยนที่สภาวะอารมณ์ อันเป็นตัวแปรที่สำคัญของการเกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

หากสัตว์มีปัญหาพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เชิงลบ การลงโทษจะยิ่งเป็นการทำให้สัตว์เกิดอารมณ์เชิงลบมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังทำให้ปัญหาที่มีนั้นมีความซับซ้อน หรือรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

บทความโดย

อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม

Prarom Sriphavatsarakom, DVM (Hons), MScStud, PhD

Faculty of Veterinary Science Mahidol University

  • Animal Behaviour Clinic, Pasu-arthorn Animal Hospital, Mahidol University

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ของเล่นสุนัข สิ่งจำเป็นที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของสุนัขให้เติบโตอย่างมีความสุข