แมวเป็นโรคซึมเศร้า, โรคซึมเศร้าในแมว, แมวซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าในแมว รู้ก่อน ป้องกันได้

แมวซึมเศร้า หรือภาวะซึมเศร้าในแมว อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม และอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของแมว

แมวซึมเศร้า หรือภาวะซึมเศร้าในแมวเกิดจากความผิดปกติของหลั่งสารสื่อประสาทในสมองคล้าย ๆ กับในมนุษย์ อาจมีสาเหตุโน้มนำมาจากความเครียดสะสมของแมวจนนำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้าตามมา

แมวเป็นโรคซึมเศร้า, โรคซึมเศร้าในแมว, แมวซึมเศร้า

สาเหตุของการเกิดภาวะซึมเศร้าในแมวเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • เกิดความเครียดจากการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่
  • บริเวณอยู่อาศัยมีเสียงดังรบกวนมากเกินไป
  • ในบ้านมีสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ หรือมีคนใหม่ เข้ามารุกล้ำอาณาเขตเดิมของแมว
  • เจ้าของเปลี่ยนกระบะทรายกระทันหัน หรือมีกระบะทรายไม่เพียงพอต่อจำนวนแมว
  • มีภาวะความเจ็บป่วยเรื้อรังในร่างกาย
  • แมวอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ที่ไม่มีกิจกรรมให้แมวได้แสดงออกของพฤติกรรมตามธรรมชาติ ทำให้แมวเกิดความเบื่อได้
  • การสูญเสียแมว หรือสัตว์ที่เคยอยู่ด้วยกัน
  • แมวที่ต้องการปฏิสัมพันธ์ แต่ต้องอยู่ตัวเดียว หรือมีปฏิสัมพันธ์น้อยกับเจ้าของ ก็อาจนำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้าได้

สัญญาณอาการความผิดปกติของภาวะซึมเศร้าในแมวจะแสดงออกมาในรูปแบบของพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เหล่านี้ คือ 8 สัญญาณอาการเตือนของแมวที่มีภาวะซึมเศร้า

แมวเป็นโรคซึมเศร้า, โรคซึมเศร้าในแมว, แมวซึมเศร้า

1. มีเสียงร้องที่เปลี่ยนแปลงไป

ปกติแล้วแมวจะสื่อสารด้วยการร้องเสียงเหมียว แมวที่มีภาวะซึมเศร้าจะส่งเสียงร้องที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น การร้องน้อยลงหรือไม่ร้องเลย มีการร้องเสียงแปลก ๆ เสียงโทนต่ำ หรือสูงกว่าปกติไปจากเดิม ร่วมกับมีอาการซึมนิ่งกว่าปกติ

แมวบางตัวอาจจะทำเสียง purring บ่อยกว่าปกติ หรือในทางกลับกัน แมวที่มีนิสัยไม่ค่อยส่งเสียงร้อง แต่กลับมีการร้องเสียงดังมากกว่าปกติ การส่งเสียงร้องเช่นนี้อาจเกิดขึ้น เนื่องความเจ็บปวดทางจิตใจและความวิตกกังวล

2. มีภาษากายและท่าทางแปลกไปจากเดิม

มีความผิดปกติแสดงออกมาทางภาษาท่าทาง เช่น การพับหูลู่ไปข้างหลัง การเก็บหางจุกก้น การหมอบต่ำตลอด มีท่าทางที่ระแวงต่อสิ่งแวดล้อม ขนตั้งชันตลอดเมื่อรู้สึกไม่สบายใจ หรือแมวมีการเลียขน กัด หรือดึงขนมากกว่าปกติ จนเกิดขนร่วงบาง รวมถึงบางตัวอาจมีอาการเคี้ยวปากบ่อยขึ้น

3. มีความก้าวร้าวมากขึ้น หรือมีความกลัว

แมวจะมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ รอบตัว เนื่องจากมีความวิตกกังวล และจะตอบสนองด้วยการแสดงความก้าวร้าวต่อเจ้าของ หรือแมวด้วยกันเอง หรืออาจจะแสดงความกลัว หลบ ซ่อนเก็บตัวมากกว่าปกติ

4. มีความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบทำลดลง

เจ้าของอาจจะพบว่า แมวแสดงความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น การเล่นซ่อนหา การล่าอาหาร การไล่จับเหยื่อ และอาจจะแสดงพฤติกรรมติดเจ้าของ และเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของมากขึ้น

5. การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนอน

แมวส่วนใหญ่ใช้เวลานอนประมาณ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน แต่แมวที่ซึมเศร้าจะใช้เวลากับการนอนมากกว่าปกติ และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่นอนจากที่เคยนอนประจำ เก็บซ่อนตัวไปนอนในที่ใหม่

6. ความอยากอาหารลดลง

แมวที่มีความวิตกกังวล และความเครียด จะมีความอยากอาหารลดลง ความสนใจในอาหารลดลง หรือกินน้อยกว่าปกติ หรือไม่กินอาหารเลย อาจทำให้มีน้ำหนักลดลงร่วมด้วยได้

7. มีพฤติกรรมการขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป

แมวจะมีแนวโน้มที่จะปัสสาวะในที่ที่ไม่เหมาะสม ปัสสาวะไม่เป็นที่ ขับถ่ายนอกกระบะทราย เพราะเวลาที่ปัสสาวะตามที่ต่าง ๆ นั้นที่แมวที่ปัญหาทางจิตใจจะเกิดความรู้สึกสบายใจจากกลิ่นของปัสสาวะของตัวเอง

8. การข่วนสิ่งของมากเกินไป และทำลายของในบ้าน

แมวอาจจะบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลของตัวเองโดยการข่วนสิ่งของต่างๆมากขึ้น การข่วนสิ่งของช่วยให้แมวรู้สึกดีขึ้นทางจิตใจและอาจมีการทำลายสิ่งของในบ้านร่วมด้วย

หากแมวมีสัญญาณอาการที่เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า แนะนำให้เจ้าของปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อวินิจฉัยพฤติกรรม และวางแผนดูแลรักษาต่อไป ด้วยการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม

การป้องกันโรคซึมเศร้าในแมวนั้นสามารถทำได้โดย เจ้าของต้องเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับแมวมากขึ้น เช่น เพิ่มการเล่นกับแมวทุกวัน การแสดงความรักการลูบหัวการกอด การปรับสิ่งแวดล้อมในที่อยู่อาศัยให้แมวได้มีกิจกรรมมากขึ้น มีที่ปีนป่าย มีเหยื่อปลอมใหม่ ๆ ให้แมวได้เล่นลดความเบื่อ

นอกจากนี้ เจ้าของควรให้รางวัลเมื่อแมวทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี มีกระบะทรายที่สะอาดและเพียงพอต่อแมว ระมัดระวังและสังเกตอารมณ์พฤติกรรมของแมว เมื่อมีคนแปลกหน้าเข้ามาในบ้าน หรือมีการนำสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เข้ามาในบ้าน

บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – แมวชอบกัดเล่นแรง เพราะอะไร

แมวชอบกัดเล่นแรง