สุนัขตำรวจ เป็นสุนัขที่ฝึกฝนมาเพื่อ ช่วยเหลือในภารกิจต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่การตรวจจับยาเสพติด ไปจนถึงงานช่วยเหลือชีวิตมนุษย์
สุนัขตำรวจ เป็นกลุ่มสุนัขที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี เพื่อร่วมทำภารกิจสำคัญร่วมกับเจ้าหน้าที่ โดยหากย้อนกลับไปในอดีต สุนัขได้ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมือง และการปกครอง ของมนุษย์มาโดยตลอด
สุนัขได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพในหลายสงคราม ที่ย้อนไปไกลถึงเหตุการณ์การรุกรานกรีก โดยเซอร์ซีส ในปี 479 ก่อนคริสตกาล เรื่อยมาจนถึงในยุคกลาง สุนัขก็มีบทบาทอย่างไม่เป็นทางการ ในการทำหน้าที่ยามฝั่ง เฝ้าท่าเทียบเรือ และติดตามอาชญากร
ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบสี่ สุนัขได้เปลี่ยนบทบาทอีกครั้ง โดยไปช่วยทำภารกิจล่าสัตว์ร่วมกับเจ้าของ และเริ่มแพร่หลายในการช่วยงานในฟาร์มปศุสัตว์ ในช่วงเวลานั้น สุนัขเหล่านี้ถูกเรียกว่า “สุนัขสลัฟ” (sleuth) ซึ่งต่อมากลายเป็นคำที่เรารู้จักในชื่อ “นักสืบ”
จากนั้น สุนัขเดินทางผ่านกาลเวลาร่วมกับมนุษย์มาจนถึงปลายศตวรรษที่ 19 สุนัขที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีเพื่อภารกิจที่มุ่งหวัง จึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างเป็นทางการของการบังคับใช้กฎหมาย

จุดเริ่มต้นของสุนัขตำรวจ
การฝึกสุนัขเพื่อทำภารกิจร่วมกับเจ้าหน้าที่ มีจุดกำเนิดที่เมืองเกนท์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งในขณะนั้น จำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน ผู้บัญชาการตำรวจในขณะนั้นจึงต้องขอความช่วยเหลือจากท่านนายกเทศมนตรี เพื่อขอเปิดโครงการฝึกสุนัขสำหรับภารกิจที่มุ่งหวัง เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอที่จะจัดจ้างเจ้าหน้าที่ใหม่เพิ่มเติม
นายกเทศมนตรีจึงอนุมัติให้เกิดโครงการฝึกสุนัข เพื่อทำภารกิจร่วมกับเจ้าหน้าที่ นี่จึงนับเป็นโครงการฝึกสุนัขตำรวจโครงการแรก และก็เป็นต้นแบบให้เกิดโครงการลักษณะเดียวกันไปทั่วยุโรป
จากนั้น เยอรมนีจึงเริ่มเพาะพันธุ์สุนัข และจัดทำโปรแกรมฝึกอบรม เพื่อสนับสนุนการทำงานของตำรวจ ในช่วงเวลานั้น ชาวเยอรมันส่วนใหญ่เลือกสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด เป็นสายพันธุ์ที่ทำงานร่วมกับตำรวจ และได้เปิดโรงเรียนฝึกสุนัขแห่งแรกในปี 1920 โดยมีจุดประสงค์เพื่อฝึกสุนัขให้เชื่อฟังเจ้าหน้าที่ ติดตาม และโจมตีผู้ต้องสงสัย ต่อมามีการเพิ่มสุนัขพันธุ์เบลเยียมมาลินอยส์เข้าในโปรแกรมด้วย
ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 กระแสเกี่ยวกับโครงการฝึกสุนัขตำรวจได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาจึงได้มอบหมายให้ ผู้ตรวจการ จอร์จ อาร์. เวคฟิลด์ เดินทางไปศึกษาโปรแกรมการฝึกสุนัขที่เบลเยียม เมื่อเสร็จสิ้นโครงการศึกษาดูงาน เวคฟิลด์ได้กลับไปนิวยอร์กพร้อมกับสุนัขเบลเยียมมาลินอยด์ 5 ตัว เพื่อใช้เป็นสุนัขต้นแบบสำหรับการฝึก และเป็นพ่อแม่พันธุ์
กองกำลังสุนัขอเมริกันชุดแรกในกรมตำรวจก่อตั้งขึ้นที่นิวยอร์ก แต่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เนื่องจากสุนัขเหล่านี้ได้รับการฝึกให้โจมตีผู้คนที่ไม่ได้ใส่เครื่องแบบตำรวจ ในระหว่างการลาดตระเวน สุนัขเหล่านี้จะไล่กวดคนที่พวกเขาพบเจอในเวลากลางคืน และเห่าจนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาถึง
ในช่วงหลายทศวรรษต่อมา โปรแกรมสุนัขตำรวจบังคับใช้กฎหมายก็ประสบความสำเร็จมากขึ้น จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 1950 โครงการเคไนน์ (K9) ของกรมตำรวจเมืองบัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา ได้รับความสนใจไปทั่วประเทศ โครงการสุนัขตำรวจจึงเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 1970 การใช้สุนัขตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายก็เริ่มเป็นกระแสหลักมากขึ้น

ภารกิจอันสำคัญของ สุนัขตำรวจ
ในช่วงกลางศตวรรษที่ยี่สิบ โลกรู้จักหน่วยสุนัขตำรวจ K9 มากขึ้น และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก บทบาทของสุนัขตำรวจขยายขอบเขตมากขึ้นในช่วงนี้ โดยสามารถทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างหลากหลาย เช่น การค้นหาและกู้ภัย การจับกุม และการลาดตระเวนความปลอดภัย
ปัจจุบัน หน่วยสุนัขตำรวจ K9 มีความเฉพาะทางสูงขึ้น การฝึกฝนสุนัขตำรวจมีความเข้มงวด และได้ปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับบริบททางสังคมในปัจจุบันมากขึ้น โดยเริ่มจากการเชื่อฟังคำสั่งพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับแต่ละภารกิจ และพัฒนาไปสู่ทักษะขั้นสูง เช่น การตรวจจับกลิ่น การจับกุมผู้ต้องสงสัย และการค้นหาผู้ประสบภัย
มาตรฐานการรับรองสำหรับสุนัขตำรวจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของแต่ละประเทศและหน่วยงาน แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีการทดสอบอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของสุนัขในสถานการณ์จริง รวมไปถึงยังมีการฝึกฝนระหว่างสุนัขกับเจ้าหน้าที่อยู่เป็นประจำ เพื่อช่วยให้ให้ทั้งสุนัขและผู้ฝึกรักษามาตรฐานระดับสูงไว้ได้

สายพันธุ์สุนัขตำรวจที่ได้รับความนิยม
สายพันธุ์สุนัขที่เจ้าหน้าที่นิยมนำเข้ามาร่วมปฏิบัติภารกิจในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก ได้แก่ เยอรมันเชพเพิร์ด เบลเยียมมาลินอยส์ และลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บางประเทศยังใช้สายพันธุ์ต่าง ๆ ด้วย เช่น อากิตะ บ็อกเซอร์ โดเบอร์แมนพินเชอร์ โกลเดนรีทรีฟเวอร์ และบีเกิล
สายพันธุ์สุนัขที่เจ้าหน้าที่เลือกมาฝึกฝนมักขึ้นอยู่กับประเภทของภารกิจ บางหน่วยงาน สุนัขมีวัตถุประสงค์เดียว คือ การปกป้องและติดตามบุคคล ในขณะที่ บางหน่วยงาน สุนัขก็ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ได้มากก่าหนึ่งภารกิจ เช่น ติดตาม และตรวจค้นวัตถุต้องสงสัยได้ ดังนั้น ในปัจจุบันจึงพบเห็นสุนัขตำรวจที่มาจากหลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น
ประวัติศาสตร์ และวิวัฒนาการ ของสุนัขตำรวจ สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างมนุษย์ และสุนัข ตั้งแต่สุนัขเฝ้ายามตามชายฝั่งในอดีต จนมาถึงภารกิจที่ซับซ้อนขึ้นในปัจจุบัน สุนัขตำรวจได้แสดงความสามารถในภารกิจร่วมกับมนุษย์หลายครั้ง
ในสังคมปัจจุบันที่ท้ามายมากขึ้น หน่วยสุนัขตำรวจยังคงปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และสุนัขตำรวจจะยังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการบังคับใช้กฎหมายต่อไป โดยมีส่วนในการสนับสนุนงานด้านความปลอดภัยสาธารณะ และป้องกันอาชญากรรมในอนาคต
ข้อมูลอ้างอิง
Project Paws Alive – THE HISTORY OF K9s IN LAW ENFORCEMENT
Precision K9 Work – The History of Police K9 Units: Origins and Evolution
PURINA – Military and Police Dogs
สุนัข K-9 ในระบบรถไฟฟ้า กับเบื้องหลังที่หลายคนไม่เคยรู้
