สุนัขรับฟังสิ่งที่เราพูด อยู่ตลอดเวลา

การศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้ภาษามนุษย์ของสุนัข พบว่า สุนัขรับฟังสิ่งที่เราพูด อยู่ตลอดเวลา พวกเขาเข้าใจคำพูดที่เรามักพูดซ้ำ ๆ แม้ว่าจะเป็นคำพูดที่ไม่ได้สื่อสารกับสุนัขก็ตาม

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง และ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการรับรู้ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยลินคอล์นและซัสเซกซ์ และมหาวิทยาลัยฌองมอนเนต์ เพื่อสังเกตพฤติกรรมของเพื่อนต่างสายพันธุ์ และเป็นการหาหลักฐานยืนยันเพิ่มเติมว่า สุนัขรับฟังสิ่งที่เราพูด

ทีมนักวิจัยได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า สุนัขที่เป็นสัตว์เลี้ยงของเรา อาจเข้าใจการสื่อสารของมนุษย์ได้ลึกซึ้งกว่าที่เราเคยศึกษามาก่อนหน้านี้ โดยการศึกษานี้ในสุนัขบ้าน (Canis familiaris) ทีมนักวิจัยสังเกตพบว่า สุนัขสามารถจดจำความหมายคำพูดซ้ำ ๆ ของมนุษย์ได้ และพวกเขาได้รายงานผลการศึกษานี้ในวารสาร Animal Cognition

โดยใจความสำคัญของผลการศึกษา ระบุว่า “สุนัขรับฟังเราพูดตลอดเวลา แม้ว่าคำพูดนั้นไม่ได้สื่อสารไปที่สุนัขก็ตาม โดยสุนัขมีความสามารถในการกรองข้อมูลของคำพูดทั่วไป และคำสั่งที่มนุษย์สื่อสารกับสุนัข แม้ว่าเราจะใช้นำเสียงราบเรียบปกติ”

ความสามารถของสุนัขเรื่องการรับรู้ความหมายของภาษามนุษย์อาจเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 14,000 ปี ที่สุนัขได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมมนุษย์ และอาจเกี่ยวกับการพัฒนาสายพันธุ์สุนัข ที่มนุษย์มีบทบาทอย่างมากต่อการกำหนดพฤติกรรมสุนัข

ในการศึกษาครั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้สังเกตพฤติกรรมของสุนัขหลากหลายสายพันธุ์ โดยในการทดสอบสุนัขแต่ละตัวฟังคำพูดของมนุษย์ ที่ประกอบด้วย คำสั่งสุนัขพื้นฐาน และคำพูดที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุนัข และเป็นการเปลี่ยงเสียงออกมาด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

ผลลัพธ์ที่นักวิจัยสังเกตได้ คือ สุนัขตอบสนองต่อคำสั่งได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนักวิจัยได้สรุปว่า นี่เป็นความสามารถของสุนัขที่สามารถแยกแยะคำพูดที่มีความหมายต่อตัวเอง ออกจากคำพูดที่ไม่เกี่ยวข้อง

สุนัขรับฟังสิ่งที่เราพูด, สุนัขเข้าใจภาษามนุษย์, สุนัขเข้าใจมนุษย์,

โดยทั่วไป เมื่อมนุษย์ออกคำสั่งกับสุนัขตามแนวทางการฝึกอย่างมีจริยธรรม มนุษย์จะพูดออกมาโดยใช้โทนเสียงสูง หรือที่เราเรียกว่า “คำพูดที่ใช้พูดกับสุนัข” (DDS) โดยเชื่อกันว่า เป็นการส่งสัญญาณให้สุนัขเข้าใจ ซึ่งคล้ายกับน้ำเสียง เมื่อเราพูดคุยกับเด็กทารกที่ยังพูดไม่ได้ หรือที่เรามักพูดกันว่า เสียงสอง

การค้นพบครั้งนี้ ทำให้เราเข้าใจขอบเขตเรื่องระบบการรับรู้ของสุนัขที่กว้างขึ้น และเป็นการยืนยันว่า ระบบประสาทของสุนัขที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้และจดจำคำพูดของมนุษย์ มีประสิทธิภาพดีกว่าที่เราเคยรับรู้มาก่อนหน้านี้

ดร. ฮอลลี่ รูต-กัทเทอริดจ์ นักวิจัยหลังปริญญา มหาวิทยาลัยลินคอล์น และหนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “สุนัขอาจเข้าใจว่า เราเรียกชื่อพวกเขา เพื่อดึงดูดความสนใจ และเรามักจะเรียกด้วยเสียงสอง เพราะเราคิดว่าสุนัขชอบน้ำเสียงแบบนั้น ในการศึกษาครั้งนี้ เราจึงอยากสังเกตพฤติกรรมของสุนัขว่า พวกเขาจะตอบสนองต่อโทนเสียงสูงเพียงอย่างเดียว จริง ๆ หรือไม่”

เธอกล่าวเสริมว่า สุนัขสามารถจำชื่อของตัวเองได้เมื่อถูกเรียกด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ และคำพูดที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการทำความเข้าใจภาษา และแสดงให้เห็นว่าสุนัขสามารถฟังเราได้ดีเพียงใด

นอกจากนี้ เรายังพบว่า สุนัขให้ความสนใจกับคำพูดที่คุ้นเคยเหล่านี้ ในระดับเดียวกับคำที่ไม่มีความหมาย ที่พูดออกมาด้วยโทนเสียงสอง ในทางกลับกัน สุนัขจะสนใจเราน้อยลงเมื่อเราเรียกชื่อพวกเขาด้วยโทนเสียงสอง

“นั่นหมายความว่า พวกเขาฟังเราตลอดเวลา และสามารถจำชื่อตัวเองได้ แต่พวกเขาจะสนใจเรามากขึ้น ถ้าเราสื่อสารอย่างมีเป้าหมายชัดเจน (เรียกชื่อพร้อมออกคำสั่ง) เช่น ‘ชีบา มานี่สิ’

ศาสตราจารย์เดวิด เรอบี้ หัวหน้าโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยแซ็งเตเตียน และอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ ซึ่งเป็นสถานที่ริเริ่มการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า “เราแสดงให้เห็นว่า สุนัขสามารถจดจำคำพูดที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาได้ แม้จะใช้น้ำเสียงที่เราสื่อสารกันอย่าปกติ”

ข้อมูลจากการศึกษานี้ เป็นหนึ่งในหลักฐานที่ช่วยยืนยันได้ว่า สุนัขที่ไม่ได้พูดภาษามนุษย์ ใช้ประโยชน์จากความสามารถในการรับรู้ของพวกเขา เพื่อทำความเข้าใจภาษาของพวกเรา ซึ่งกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่สุนัขถูกเลี้ยงดูโดยมนุษย์มาอย่างยาวนาน

บทความโดย ณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง
Animal Cognition – Domestic dogs (Canis familiaris) recognise meaningful content in monotonous streams of read speech
phys.org – Dogs’ speech recognition: New study shows they listen beyond tone


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – การศึกษาพบว่า สุนัขฉลาด มักมีสมองขนาดเล็ก