โรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทในสุนัข (Wobbler Syndrome)

โรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทในสุนัข (Cervical Spondylomyeloathy หรือ Wobbler syndrome) เป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังส่วนคอ โดยมีลักษณะเฉพาะของโรค คือ เกิดการเคลื่อนของกระดูกคอร่วมกับโครงสร้างรอบ ๆ กระดูกคอไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง โดยมีลักษณะจำเพาะ คือ เป็นการเคลื่อนกดทับแบบไดนามิค (dynamic compression) เช่น เมื่อเงยคอจะทบการกดทับเส้นประสาทอย่างรุนแรง แต่พอก้มคอจะพบการกดทับนั้นลดลง เป็นต้น

โรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทในสุนัข มักพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่ โดยสุนัขพันธุ์ใหญ่มีโอกาสในการเกิดการกดทับของไขสันหลัง (spinal cord) และปมรากประสาท (spinal nerve root) ได้ง่าย ส่งผลให้ระบบการทำงานของกระแสประสาทที่บริเวณดังกล่าวถูกรบกวนหรือทำให้เกิดความเจ็บปวดในตำแหน่งที่เกิดการกดทับได้

โดยเฉลี่ยประมาณ 50% ของสุนัขที่ป่วยโรคนี้พบว่ามักเป็นสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนพินเชอร์ (Doberman pinschers) นอกจากนี้ยังสามารถพบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ไวมาราเนอร์ (Weimaraner) เกรทเดน (Great Dane) ร็อตไวเลอร์ (Rottweiler) และดัลเมเชี่ยน (Dalmation) แม้ความผิดปกติดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้บ่อยในบางสายพันธุ์ที่กล่าวมา แต่สายพันธุ์อื่น ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ รวมถึงสุนัขพันธุ์เล็กเช่นกัน

สาเหตุการเกิด

สาเหตุของการเกิดสามารถแบ่งออกได้ 4 สาเหตุ ได้แก่

  1. พันธุกรรม (genetic) ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคนี้ แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แม้ว่าจะมีการศึกษาในประชากรสุนัขโดเบอร์แมนจำนวนมากก็ตาม ยังไม่พบสารพันธุกรรมจำเพาะชนิดใดที่ทำให้เกิดโรคนี้
  2. ความผิดปกติแต่กำเนิด (congenital) มีการศึกษาเทียบระหว่างลักษณะกระดูกคอในลูกสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนกับพันธุ์อื่น พบว่ามีความผิดปกติของกระดูกคอข้อที่ 5 6 และ 7 ในสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนแตกต่างจากพันธุ์อื่นอย่างชัดเจน
  3. โครงสร้างร่างกาย (body conformation) พบว่าลักษณะของโครงสร้างร่างกายก็เป็นปัจจัยโน้มนำให้เกิดโรคนี้ได้ โดยมักพบในสุนัขที่มีศีรษะขนาดใหญ่และคอยาว และอาจจะร่วมกับอัตราการเจริญของกระดูกที่รวดเร็ว ทำให้เกิดแรงกดที่กระดูกคอผิดปกติ จนทำให้เกิดการเคลื่อนของกระดูกคอตามมาในอนาคต
  4. อาหาร (nutrition) พบว่าอาหารหรือพฤติกรรมการกินอาหารอาจส่งผลให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น การกินอาหารที่มากเกินไปจนน้ำหนักตัวมาก หรือการได้รับแคลเซียมในอาหารที่มากเกินไปในสุนัขพันธุ์เกรทเดน เป็นต้น

กระบวนการเกิดโรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทในสุนัข

โรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทสามารถแบ่งการเกิดออกเป็น 2 รูปแบบ

โรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทในสุนัข
ขอบคุณภาพจาก : friscospine.com
  1. การตีบแคบของกระดูกสันหลังส่วนคอ มักเกิดในลูกสุนัข โดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น โดเบอร์แมน, เกรทเดน, มัสทีฟ และ เบอร์นีสเมาน์เทน เป็นต้น โดยปกติรูปทรงของกระดูกสันหลังส่วนคอของสุนัขเป็นรูปสี่เหลี่ยม และมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมอยู่ตรงกลาง เป็นบริเวณที่รับแรงกดก่อนถึงส่วนของไขสันหลัง หากสุนัขมีรูปร่างของกระดูกสันหลังผิดปกติจะก่อให้เกิดความผิดปกติดังกล่าวตามมาได้ และมักแสดงอาการของความผิดปกติตั้งแต่อายุยังน้อย และค่อย ๆ พัฒนาโรคเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ
  2. การเสื่อมของกระดูกคอ มักเกิดในช่วงอายุกลาง ๆ ถึงอายุมาก สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากความเสื่อมเรื้อรังของหมอนรองกระดูก ซึ่งจะค่อย ๆ เกิดแรงกดทับลงบนไขสันหลัง ซึ่งการเกิดอาการของกระดูกสันลังส่วนคอเรียงตัวผิดปกติ รูปแบบนี้มักเกิดในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ และดัลเมเชี่ยน เป็นต้น

อาการที่พบ

อาการทางคลินิคที่พบสามารถพบได้ทั้งแบบที่ค่อย ๆ เกิด และเกิดอย่างฉับพลัน สุนัขส่วนใหญ่แสดงอาการเจ็บปวดบริเวณกระดูกคอ บางตัวแสดงอาการแย่ลงอย่างฉับพลันจนรับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท อาการเดินไม่สัมพันธ์ของขาหลังเป็นอาการที่พบได้บ่อย สุนัขจะเดินในลักษณะลากขา หรืออาการอัมพฤกษ์ จนบางครั้งรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตของขาหลัง ส่วนการเดินของขาหน้าขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค สุนัขบางตัวไม่แสดงอาการผิดปกติของขาหน้า ในขณะที่บางตัวอาจพบอาการเกร็งเวลาเดิน ก้าวขาหน้าสั้น ๆ หรือไม่ลงน้ำหนักที่ขาหน้า และสุนัขบางตัวมีปัญหาในการหมุนตัวและก้าวสลับขาหน้าขณะหมุนตัว สุนัขอาจจะแสดงอาการเจ็บบริเวณคอ และไม่อยากเงยคอหรือก้มคอกินอาหาร รวมทั้งการหันคอไปด้านข้าง

แนวทางการตรวจวินิจฉัย

สามารถยืนยันการตรวจวินิจฉัยได้ด้วยการเอกซเรย์บริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ ซึ่งสามารถเห็นความผิดปกติของลักษณะกระดูกสันหลังได้จากการถ่ายภาพเอกซเรย์ นอกจากนี้สามารถถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยเทคนิคพิเศษได้ โดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในไขสันหลัง (myelogram) และสามารถตรวจวินิจฉัยยืนยันได้ด้วยการทำ CT scan หรือ MRI ได้ โดยจะช่วยให้เห็นส่วนของไขสันหลังที่เกิดความผิดปกติได้ ในหลาย ๆ กรณีหากมีการงอหรือเหยียดคอร่วมด้วยจะสามารถบอกถึงระดับความรุนแรงของการถูกกดของไขสันหลังได้ และสามารถพบการกดทับไขสันหลังแบบไดนามิกเช่นกัน โดยปกติสุนัขที่มีปัญหาการเรียงตัวของกระดูกสันหลังส่วนคอผิดปกติ จะพบการกดของไขสันหลังร่วมด้วย และมักพบในหลายตำแหน่งของกระดูกสันหลังส่วนคอ

แนวทางการรักษา

การรักษากลุ่มอาการของโรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทสามารถรักษาได้ทั้งทางยาโดยไม่ผ่าตัดและการรักษาทางการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติ

1.การรักษาโดยไม่ผ่าตัด

การรักษาด้วยวิธีที่ไม่ผ่าตัดสามารถช่วยได้ในบางสภาวะเท่านั้น และสามารถช่วยได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเหมาะสำหรับสุนัขที่มีอาการไม่รุนแรงและการพัฒนาของโรคเป็นไปอย่างช้าๆ โดยการรักษาจะเป็นการใช้ยาและการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย

  • การให้ยาลดปวดระบบประสาท
  • การใช้ยาลดการอักเสบ อาจจะเป็นกลุ่มสเตียรอยด์ หรือไม่ใช่สเตียรอยด์ขึ้นกับความรุนแรงของอาการระบบประสาท
  • การจัดการการออกกำลังกาย โดยควรให้สุนัขได้พักในพื้นที่ปิดเพื่อจำกัดบริเวณ และมีการออกกำลังกายที่เหมาะสมร่วมด้วย
  • การกายภาพบำบัด เช่น การนวด, เลเซอร์, อัลตราซาวน์ การใช้ลู่วิ่งใต้น้ำ และการว่ายน้ำ เป็นต้น

2.การรักษาโดยการผ่าตัด

สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น

  1. การผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนมากดทับไขสันหลังออก เป็นวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสำหรับการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกที่ไม่รุนแรงมากนัก และไม่มีความเสียหายของปมรากประสาทร่วมด้วย โดยการผ่าตัดจะเป็นการตัดส่วนของกระดูกสันหลังที่ติดกับบริเวณที่อยู่ของไขสันหลัง เพื่อให้สามารถนำส่วนของหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออกมากดไขสันหลังออกได้
  2. การผ่าตัดเพื่อยึดตรึงแนวกระดูกสันหลังส่วนคอ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับในกรณีที่มีการเคลื่อนของกระดูกคออย่างรุนแรง และเกิดความเสียหายของปมรากประสาทร่วมด้วย เป็นการผ่าตัดเพื่อยืดขยายส่วนของกระดูกสันหลังส่วนคอที่มีปัญหา โดยการใส่แผ่นเหล็กหรืออุปกรณ์ยึดตรึงชนิดอื่น เพื่อยึดแนวกระดูกสันหลังส่วนคอไม่ให้มีการเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทอีก
  3. การผ่าตัดโดยการใส่หมองรองกระดูกเทียมเข้าไปแทนที่หมอนรองกระดูกส่วนที่ผิดปกติ ซึ่งจะช่วยให้สุนัขสามารถขยับส่วนของคอได้ดีขึ้น และสามารถป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำได้

การพยากรณ์โรค   

การพยากรณ์โรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาทในสุนัขขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการที่พบ ระยะเวลา และระดับการถูกกดทับของไขสันหลัง ในสุนัขที่แสดงอาการรุนแรงที่ไม่สามารถยืนหรือเดินได้ การพยากรณ์หลังผ่าตัดจะอยู่ในระดับปานกลาง โดยสุนัขบางตัวสามารถกลับมาเดินได้ภายหลังการผ่าตัด แต่ต้องได้รับการกายภาพบำบัดร่วมด้วยหลังผ่าตัด ส่วนสุนัขที่มีอาการเดินลำบากเพียงเล็กน้อยจะมีโอกาสในการกลับมาเดินได้มากกว่า

เป้าหมายสำคัญของการผ่าตัด คือ เพื่อหยุดการพัฒนาของโรค เนื่องจากการกดทับของไขสันหลังนี้สุนัขมักแสดงอาการของโรคในระยะยาวและการทำให้ไขสันหลังเสียหายถาวรได้ สุนัขส่วนใหญ่จึงมีอาการเดินไม่ปกติจนกระทั่งได้รับการผ่าตัด และสุนัขหลายตัวมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหลังได้รับการผ่าตัด

บทความโดย

ผศ.น.สพ.ดร. นิรุตติ์ สุวรรณณา (อว.สพ. อายุรศาสตร์)
Asst. Prof. Nirut Suwanna, DVM, MS, PhD, DTBVM
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Department of Companion Animal Clinical Sciences, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University

อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว.สพ. ศัลยศาสตร์)
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่