โดเบอร์แมน พินสเชอร์ (Doberman Pinscher) ลักษณะสายพันธุ์และนิสัย

ประวัติสายพันธุ์

ต้นกำเนิดของสายพันธุ์ “โดเบอร์แมน พินสเชอร์” เริ่มต้นในศตวรรษที่ 19 ในประเทศเยอรมัน โดยนักเพาะพันธุ์สุนัขในสมัยนั้นชื่อว่า นาย “หลุยซ์ โดเบอร์แมน” (Louis Dobermann) จากเมือง Apolda ในขณะนั้นนายหลุยซ์มีอาชีพเป็นพนักงานเก็บภาษีแล้วต้องเดินทางไปหลายสถานที่ เขาจึงมักเลี้ยงสุนัขไว้ทำหน้าที่อารักขาและเป็นเพื่อนร่วมเดินทางขณะเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่มีใครทราบว่านายหลุยซ์นั้นทำการเพาะพันธุ์สายพันธุ์นี้อย่างไร นักประวัติศาสตร์บางคนได้เสนอว่าที่มาของ “โดเบอร์แมน” อาจมาจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์แมนเชสเตอร์ เทอร์เรียร์ (Manchester Terrier) ร็อตไวเลอร์ (rottweiler) เยอรมัน ฟินสเชอร์ (German Pinscher)

สุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนรุ่นแรกมีใบหน้ากว้าง และมีมวลกระดูกมากกว่าเมื่อเทียบกับรุ่นหลัง ๆ และเมื่อเวลาผ่านไปผู้เพาะพันธุ์ได้พัฒนาให้มีลักษณะโครงสร้างที่ทันสมัยเหมือนที่เห็นในปัจจุบัน สุนัขพันธุ์นี้เริ่มได้รับความนิยมในช่วงปี 1899 และสุนัขโดเบอร์แมนตัวแรกถูกนำเข้าไปในอเมริกาในปี 1908 และเป็นปีเดียวกันที่พบว่ามีการจดบันทึกสายพันธุ์ในสมาคม AKC (America Kennel Club)

ในช่วงศตวรรษที่ 20 พวกมันถูกใช้ในการรบควบคู่กับนาวิกโยธินในการรบในมหาสมุทรแปซิฟิกช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในฐานะสหายคู่ใจที่แน่วแน่และกล้าหาญ เมื่อเวลาผ่านไปหลายครอบครัวในสหรัฐอเมริกาเริ่มเห็นว่าสุนัขพันธุ์นี้สามารถทำให้เกิดเป็นตระกูลใหญ่ได้

ต่อมาสายพันธุ์โดเบอร์แมนได้รับความนิยมอย่างมาก มักนิยมให้ทำหน้าที่เป็นสุนัขตำรวจ รวมถึงสุนัขกู้ภัย และสุนัขบำบัด สุนัขพันธุ์นี้ได้รับชื่อเสียงอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารสหรัฐฯ ได้นำสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนเข้าร่วมรบสงครามที่เกาะกวม จนสุนัขสายพันธุ์นี้ได้รับฉายาว่า Devil Dogs หลังจากสงครามจบลงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญ และความเสียสละ ด้วยนิสัยที่ซื่อสัตย์ และความกล้าหาญทำให้สายพันธุ์โดเบอร์แมนได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน

ลักษณะทางกายภาพ

โดเบอร์แมน พินสเชอร์ เป็นสุนัขขนาดกลาง วัดความสูงจากพื้นไปจนถึงไหล่สำหรับตัวโตเต็มวัยได้ 26-28 นิ้ว ซึ่งอาจแตกต่างกันในตัวผู้และตัวเมีย โดยตัวเมียนั้นอาจตัวเล็กกว่าตัวผู้ 2-4 นิ้ว ตัวผู้มีน้ำหนักประมาณ 75-100 ปอนด์ (35-45 กิโลกรัม) และตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 60-90 ปอนด์ (27-41 กิโลกรัม)  มีศีรษะที่ยาวเรียวและมีลำตัวเพรียว มีจุดเด่นที่กล้ามเนื้อทำให้มีความปราดเปรียวอย่างมาก ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษในสุนัขประเภทสุนัขใช้งาน (Working dog)

โดเบอร์แมนนั้นมีขนลักษณะนุ่ม เรียบ สั้น มันวาว เรียงเป็นระเบียบ มีอยู่หลายสี เช่น สีดำ สีแดง และสีน้ำตาลอมเหลือง โดยทางสมาคมอเมริกัน เคนเน็ล คลับ (America Kennel Club, AKC) ได้กำหนดว่าสายพันธุ์โดเบอร์แมนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนต้องมีได้แค่ 3 สี และมีรอยแต้มสีสนิมได้ที่เหนือดวงตา บนจมูกและปาก ลำคอ และหน้าอกส่วนหน้า ด้านล่างหาง หรืออาจมีรอยปื้นสีขาวกลางหน้าอกได้ แต่ขนาดต้องไม่เกิน ½ ตารางนิ้ว

ส่วนหางของโดเบอร์แมนนั้นตั้งแต่เกิดจะมีหางเป็นลักษณะยาว และเรียว ในประเทศสหรัฐอเมริกามักทำการตัดหางตั้งแต่ยังเล็ก ส่วนหูของโดเบอร์แมนจะมีลักษณะห้อยลงตั้งแต่เกิดแต่ไม่เป็นที่นิยม นักเพาะพันธุ์สุนัขจึงนิยมตัดตกแต่งใบหู และดัดให้ตั้งขึ้น โดยมักจะทำในอายุระหว่าง 7-9 สัปดาห์ หากทำเมื่ออายุมากกว่า 12 สัปดาห์โอกาศที่หูจะตั้งจะลดน้อยลง นอกจากนี้ โดเบอร์แมนเป็นสุนัขที่ไม่ค่อยมีกลิ่นตัว ทำให้ง่ายต่อการดูแล และทำความสะอาด

อายุขัย

โดเบอร์แมน พินเชอร์ มักมีอายุประมาณ 10-12 ปี

ลักษณะนิสัย

โดเบอร์แมนเป็นสุนัขที่มีความมั่นใจ ซื่อสัตย์กับเจ้าของ และรักทุกคนที่มีความใกล้ชิด อีกทั้งยังมีนิสัยกล้าหาญ ชอบการผจญภัย ดูน่าเกรงขาม กระตือรือร้น และเป็นผู้พิทักษ์ผู้ปกป้องที่ดี ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของสุนัขพันธุ์นี้ ทำให้พวกมันมักถูกใช้เป็นสุนัขตำรวจ สุนัขลาดตระเวน และสุนัขเฝ้าบ้านที่ยอดเยี่ยม เนื่องจากพวกมันมีสัญชาตญาณที่ยอดเยี่ยม จึงมักเห่าเตือนให้รู้ว่ามีคนแปลกหน้าเข้ามา หรือถ้าเจ้าของมีอันตราย หรือหากใครจะเข้ามาทำร้ายคนในครอบครัว พวกมันจะสู้โดยไม่ลังเลทันที นอกจากนี้สุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนสามารถเป็นสุนัขที่เลี้ยงในครอบครัวได้ดี แต่ควรระลึกไว้เสมอว่าสุนัขพันธุ์นี้มีโลกส่วนตัวสูง

การเข้ากับเด็ก

การเข้ากันของสุนัขและเด็ก ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงสุนัข ในช่วงปีแรกของลูกสุนัข ถ้าพวกมันถูกล้อมรอบไปด้วยเด็ก ๆ พวกมันจะเป็นเพื่อนที่ยอดเยี่ยมสำหรับเด็ก ๆ พวกเขาจะเล่นด้วยกันและที่สำคัญที่สุดคือมันจะปกป้องเด็ก ๆ แต่อย่างไรก็ตามพวกมันมีนิสัยก้าวร้าวและเกรี้ยวกราดอยู่แล้ว ดังนั้นในช่วงแรกสุนัขควรได้รับการควบคุม และมีการฝึกนิสัยสม่ำเสมอ สิ่งสำคัญคือต้องสอนทั้งสุนัขและเด็ก ๆ ให้รู้ถึงวิธีการโต้ตอบที่ถูกต้องและเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ อีกสิ่งสำคัญคือ การพาสุนัขเข้าสังคมตั้งแต่ยังเล็ก ๆ จะทำให้พวกมันลดนิสัยก้าวร้าวได้ และสามารถเข้ากับสุนัขและสัตว์ตัวอื่น ๆ ได้ดีอีกด้วย

การดูแล

การออกกำลังกาย

สุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนเป็นสุนัขที่มีพลังงานเยอะ ทำให้พวกมันต้องการการออกกำลังกายเยอะ โดยต้องการการออกกำลังกายมากกว่า 40 นาทีต่อวันเป็นอย่างน้อย เพราะจะช่วยลดนิสัยก้าวร้าวของพวกมันได้ โดเบอร์แมนต้องการพื้นที่กว้างมากพอให้พวกมันวิ่งเล่นได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังมีนิสัยรักการผจญภัย และอดทน สามารถเดินป่าเป็นเวลาหลายชั่วโมงได้ และพวกมันยังมีความแข็งแรง ชื่นชอบกิจกรรมกลางแจ้งเป็นที่สุด

การออกกำลังกายที่แนะนำจึงเป็นการวิ่งออกกำลังกายในระยะทางไกล หรือวิ่งเร็วในระยะสั้นเป็นประจำทุกวัน ส่วนในช่วงสุดสัปดาห์อาจมีการเพิ่มการออกกำลังกายด้วยการพาไปวิ่ง หรือไปเดินป่า หรือบางครั้งอาจหากิจกรรมที่เพิ่มทักษะ-ประสบการณ์ให้แก่สุนัข

อาหาร

การให้อาหารสุนัขที่มีคุณภาพดีตลอดช่วงอายุเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโดเบอร์แมน วัตถุดิบที่ใช้ควรประกอบด้วยโปรตีนและผักคุณภาพดี และหลีกเลี่ยงกลุ่มธัญพืชที่มีส่วนผสมของถั่วเหลือง ข้าวสาลี และข้าวโพด ปริมาณอาหารที่ให้จะขึ้นอยู่กับขนาดตัวของสุนัข เช่น ถ้าสุนัขโดเบอร์แมนหนัก 80 ปอนด์จะให้อาหารเม็ดจำนวน 4 ถ้วยครึ่งต่อวัน โดยแบ่งให้กิน 2 มื้อเท่า ๆ กัน เพื่อป้องกันอาการท้องอืด หรือปัญหากระเพาะบิดตามมา

นอกจากนี้ ปริมาณที่ให้ยังขึ้นอยู่กับขนาด, อายุ, ปริมาณการเผาผลาญ กิจกรรมที่สุนัขทำในแต่ละวัน รวมถึงคุณภาพของอาหารที่ให้ด้วย ในสุนัขที่มีกิจกรรมเยอะอาจจะมีการให้อาหารที่เพิ่มมากขึ้นและสุนัขที่มีกิจกรรมน้อยก็ให้อาหารปริมาณลดลง ในทำนองเดียวกันอาหารที่มีคุณภาพสูงจะแนะนำให้ให้ในปริมาณลดลง เนื่องจากอาหารที่มีคุณภาพสูงจะถูกย่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่า ทำให้การให้อาหารปริมาณน้อยลงสุนัขยังคงได้รับโปรตีนและสารอาหารชนิดอื่นเพียงพอ เพราะ การให้มากเกินไปอาจทำให้อ้วนได้ หรือหากเจ้าของมีความกังวลเกี่ยวกับน้ำหนักตัวหรืออาหารของสุนัขควรปรึกษาสัตวแพทย์

โรคประจำพันธุ์

  • โรคผิวหนัง
    • โรคผิวหนังอักเสบ (Dermatitis)
    • โรคผิวเผือก (Albinism)
    • โรคขนร่วงในสุนัขสีเข้ม (Color Mutant Alopecia)
  • โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
  • โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
  • โรคระบบต่อมไร้ท่อ
    • ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)
  • โรคระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจ
    • โรควอนวิลลิแบรนด์ (von Willebrand’s disease : vWD)
    • ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiomyopathy)
  • โรคตา
    • โรคจอประสาทตาเสื่อม (progressive retinal atrophy)
  • โรคหู
    • หูติดเชื้อ (Ear Infections)
  • โรคระบบประสาท
    • โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม (Intervertebral Disc Disease : IVDD)
    • การเจริญผิดปกติของกระดูกสันหลังส่วนคอ (Wobbler’s Syndrome)
    • โรคลมหลับ (Narcolepsy)
    • ปัญหาระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Neuropathy)

เรื่อง ชนิฏฐา กล้าแข็ง และ สุรภา ประติภาปกรณ์

ติดตามข้อมูล บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่