การเลี้ยงลูกแมวตั้งแต่วัยเบบี๋เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เจ้าของต้องดูแลลูกแมวเป็นพิเศษ นอกจากการดูแลด้านพัฒนาการให้เจริญเติบโตสมวัยแล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
เพราะในช่วงปีแรกลูกแมวมีโอกาสที่จะเกิดภาวะผิดปกติต่างๆ อาการเจ็บป่วย หรือได้รับบาดเจ็บได้มากกว่าแมวโต เจ้าของควรเตรียมพร้อมไว้ เมื่อลูกแมวเกิดปัญหาเหล่านี้จะได้พร้อมรับมือและแก้ไขได้ทันที
1. ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ
โดยปกติแล้วลูกแมวแรกเกิดอุณหภูมิร่างกายจะอยู่ที่ประมาณ 33-36 องศาเซลเซียส และเมื่ออายุประมาณ 1 เดือนอุณหภูมิร่างกายจะอยู่ที่ 33.5-37.5 องศาเซลเซียส ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติจะเกิดขึ้นกับลูกแมวช่วงหลังคลอด เพราะร่างกายจะยังปรับอุณหภูมิเองไม่ได้ ซึ่งอาจจะพบได้ในลูกแมวแรกเกิดที่มีขนาดตัวที่เล็กมากและไวต่อสภาพอากาศแม้จะอยู่ในอุณหภูมิปกติ เมื่อร่างกายไม่สามารถควบคุมให้อุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์ปกติ อุณหภูมิร่างกายจะเริ่มลดลง ซึ่งความรุนแรงของอาการจะแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- ระดับอ่อน อุณหภูมิร่างกายจะอยู่ที่ประมาณ 32 – 35 องศาเซลเซียส อาการ ที่พบคือร่างกายจะอ่อนแรง หนาวสั่น และไม่ค่อยเคลื่อนไหวขยับตัว เซื่องซึม
- ระดับปานกลาง อุณหภูมิร่างกายจะอยู่ที่ประมาณ 28 – 32 องศาเซลเซียส อาการที่พบคือจะมีอาการกล้ามเนื้อชักกระตุก หัวใจเริ่มเต้นผิดจังหวะ หายใจลึกและช้า ความดันเลือดต่ำ
- ระดับรุนแรง จะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 28 องศาเซลเซียส อาการที่พบคือลูกแมวอ่อนแรง กล้ามเนื้อชักกระตุก ร่างกายหนาวสั่น ความดันเลือดต่ำ รูม่านตาขยาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
หากลูกแมวมีภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ ถ้าอยู่ในระดับอ่อนให้ใช้ตู้กกไฟ (heat lamp) ใช้ผ้าห่มห่อหุ้มตัวลูกแมวไว้เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้ความร้อนออกจากร่างกาย หรือใช้ฉนวนกันความร้อนเพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อน และช่วยให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นได้ ถ้าหากอุณหภูมิร่างกายลูกแมวยังลดลงถึงระดับปานกลางให้รีบพาลูกแมวไปพบสัตวแพทย์ทันทีเพราะต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือช่วยเพิ่มอุณหภูมิร่างกาย เช่น การใช้ความร้อนจากรังสีอินฟราเรด (Electric Infrared Heating) ผ้าห่มไฟฟ้า (Electric Overblanket) แผ่นให้ความร้อน (Heating Pad) หรือการให้สารน้ำแบบอุ่นเข้าร่างกายเพื่อช่วยเพิ่มอุณหภูมิให้
2. ภาวะขาดออกซิเจน
คือร่างกายลูกแมวขาดออกซิเจนในเลือด การเกิดภาวะนี้อาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกายตั้งแต่แรกเกิด เช่น เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด หรือในแมวสายพันธุ์หน้าสั้นอาจจะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย ถ้าหากไม่มีออกซิเจนไปที่เซลล์สมอง เซลล์สมองจะหยุดทำงาน สมองได้รับความเสียหาย ทำให้หัวใจหยุดสูบฉีดเลือดและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ อาการที่พบคือไอ หอบ หายใจลำบาก สังเกตได้จากการต้องใช้แรงมากขึ้นในการหายใจ หายใจถี่และเร็ว หายใจโดยอ้าปากกว้าง หัวใจเต้นแรง หากพบว่าลูกแมวมีอาการเหล่านี้ให้รีบพาลูกแมวไปพบสัตวแพทย์ทันที
3. ภาวะร่างกายขาดน้ำ
คือภาวะที่ร่างกายลูกแมวสูญเสียน้ำมากกว่าปริมาณน้ำที่ได้รับเข้าไป ในลูกแมวแรกเกิดสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากการทำงานของไต หรือพัฒนาการของระบบประสาทและฮอร์โมนยังไม่สมบูรณ์ เกิดจากการไม่กินอาหารหรือกินน้ำไม่เพียงพอ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนมากเกินไป หรือมีอาการอาเจียน ท้องเสีย อาการที่พบคือมีอาการเซื่องซึม ไม่กินน้ำหรืออาหาร เหงือกแห้ง ในลูกแมวที่ขาดน้ำมากๆเมื่อดึงผิวหนังขึ้นมา ผิวหนังจะกลับไปคืนตัวช้าจนสังเกตได้ หากพบว่าลูกแมวมีอาการเหล่านี้ให้รีบพาลูกแมวไปพบสัตวแพทย์ทันที
4. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
มักพบในลูกแมวช่วงอายุ 6 สัปดาห์ – 6 เดือน เกิดจากการที่ลูกแมวยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ การทำงานของตับยังไม่สมบูรณ์ ร่างกายไม่สามารถนำน้ำและน้ำตาลจากตับมาใช้กับอวัยวะต่างๆ ได้เต็มที่ หรือเกิดจากการที่ลูกแมวที่ได้รับนมหรือสารอาหารไม่เหมาะสม หากลูกแมวที่มีภาวะนี้ใช้พลังงานมากเกินไป จะทำให้พลังงานในร่างกายลดลงอย่างเร็ว อาการที่พบคือจะมีอาการเซื่องซึม ไม่อยากกินอาหาร ชัก นอนไม่ได้สติ ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจถึงขึ้นเสียชีวิตได้
หากลูกแมวมีอาการดังกล่าวและยังมีสติดี กินอาหารและกลืนได้เองวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้น้ำผึ้งหรือน้ำหวานป้อนปริมาณ 1 มิลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 100 กรัม ค่อย ๆ ป้อนทีละน้อย ๆ หลังให้น้ำหวานแล้วประมาณ 30 นาทีลูกแมวควรจะเริ่มมีเรี่ยวแรงทรงตัวได้หลังจากนั้นให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อทันที
อีกหนึ่งวิธีป้องกันคือเลือกอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนเหมาะสมกับวัยของลูกแมว ในช่วงวัยนี้ลูกแมวจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ระบบภายในอย่างระบบย่อยอาหารและระบบภูมิคุ้มกันจะพัฒนาไปอย่างช้า ๆ ลูกแมวต้องการอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนสูง
5. การอาเจียนและท้องเสียกระทันหัน
การอาเจียนและการท้องเสียสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากความเครียด การเปลี่ยนอาหารทันที การกินของแปลกปลอมเข้าไป หรือในอาหารที่กินมีการปนเปื้อนปรสิต การได้รับสารพิษ ติดเชื้อไวรัส เชื้อรา และพยาธิภายในลำไส้และจากสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย ถ้าเกิดจากการกินของปนเปื้อนเข้าไปร่างกายจะพยายามขับสารพิษเหล่านั้นออกโดยการอาเจียนหรือถ่ายออกมา หากพบว่าลูกแมวมีอาการอาเจียนให้รีบนำไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด
6. การบาดเจ็บทางร่างกาย
เช่น การตกจากที่สูง ถูกชนหรือกระแทกอย่างรุนแรง การโดนทำร้ายจากสัตว์อื่น หรืออุบัติเหตุจากสาเหตุอื่นๆ ลูกแมวช่วงอายุ 1 เดือนขึ้นไปจะเริ่มเข้าสังคม เริ่มลับเล็บ เล่นของเล่น และเดินสำรวจ และเล่นซุกซน ซึ่งอาจจะเล่นกันแรงจนเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวได้ การบาดเจ็บอาจทำให้เกิด ภาวะปอดอักเสบ ภาวะช็อก หรือการบาดเจ็บตามร่างกาย กระดูกหัก รวมถึงภาวะเสียเลือดในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายถึงชีวิตของลูกแมว วิธีป้องกันคือเจ้าของต้องระวังไม่ให้ลูกแมวเล่นแรงจนเกินไป ไม่ปล่อยออกนอกบ้าน หรือไม่ให้ปีนขึ้นที่สูงมากๆ เผื่อลดความเสี่ยงจากการตกลงมากระแทก
7. ภาวะภูมิแพ้
สัตว์เลี้ยงสามารถเป็นภูมิแพ้ได้เหมือนคน สาเหตุของภาวะภูมิแพ้เกิดได้จากหลายอย่าง เช่น แพ้น้ำลายหมัด แพ้สารเคมี แพ้ฝุ่นหรือไรฝุ่น แพ้อาหาร แพ้อากาศ แพ้วัคซีนที่ฉีด อาการแพ้จากการโดนแมลงกัดต่อย อาการที่พบคือ มีอาการคันใบหน้า หู ท้อง ขาหนีบรักแร้และขา(อุ้งเท้า) หน้าบวม มีผื่นหรือตุ่มขึ้น ผิวหนังอักเสบ ถ้าในกรณีที่เกิดภาวะภูมิแพ้โดยฉับพลันอาการมักจะรุนแรง อาการที่พบคืออาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร และทางเดินให้ใจตีบทำให้หายใจลำบาก
8. การกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไป
ลูกแมววัยเด็กจะมีความซุกซนและขี้สงสัยตามวัยอาจจะทำให้ลูกแมวเผลอกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปโดยไม่ทันได้ระวัง สิ่งที่มักจะพบว่าลูกแมวเผลอกินเข้าไป เช่น เชือก ด้าย ริบบิ้น เอ็นตกปลา ของเล่นที่กัดขาด เศษพลาสติก ไม้เสียบลูกชิ้น เมล็ดผลไม้ สิ่งของเครื่องใช้ในบ้านขนาดเล็กที่ลูกแมวสามารถกลืนได้ ถ้าลูกแมวกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปเจ้าของอย่าพยายามดึงหรือทำให้อาเจียนออกมาเองเพราะอาจจะทำให้เกิดการทะลุของทางเดินอาหารในขณะที่อาเจียนหรือพยายามดึงออกมา การกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปจะทำให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินอาหาร เช่น เกิดการอุดตันในลำไส้ หรือทางเดินอาหารส่วนต่างๆ เกิดการอุดตันของหลอดลม ทำให้เกิดการสำลักและการหายใจไม่ออกเมื่อพบว่าลูกแมวกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปให้รีบพาไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาทันที วิธีป้องกันถ้าลูกแมวซนมากชอบกัดเล่นหรือแทะสิ่งของ เจ้าของต้องคอยสังเกตและระมัดระวังเวลาลูกแมวเล่นหรือกินอาหาร ควรเก็บสิ่งที่คาดว่าลูกแมวจะเผลอกินเข้าไปได้ออกให้หมด
หากเจ้าของระมัดระวังและเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของลูกแมวอย่างใกล้ชิดจะช่วยแก้ไขปัญหาภาวะต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงทีช่วยให้ลูกแมวได้เติบโตแข็งแรง สมบูรณ์มีสุขภาพที่ดี
สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ Royal Canin ได้ตามร้านpet shop ทั่วไปและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- website : www.royalcanin.com/th
- facebook : @RoyalCaninThailand
- Application : Royal Canin Club (https://bit.ly/AppRoyalCaninClub )
- line : Royal Canin Thailand
- Tel : 02 026 2456
โพสต์หน้ายังมีเรื่องราวที่ทาสหมาทาสแมวไม่ควรพลาดอย่าลืมกดติดตามเพจบ้านและสวน pets : https://www.facebook.com/BaanlaesuanPets