สุนัขเดินยกขา หรือร้องเจ็บเมื่อเจ้าของเข้าไปอุ้ม สัญญาณเบื้องต้นของโรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัข
ในระหว่างการเจริญเติบโตทางร่างกายของสุนัข ความผิดปกติอย่างหนึ่งที่สามารถพบเจอได้คือ การเจริญของกระดูกโครงร่างผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่โรคสะบ้าเคลื่อนในสุนัข (Patella luxation) โดยอาการที่แสดงออกได้หลายรูปแบบ เช่น สุนัขเดินยกขา ท่าทางการเดินผิดจากปกติ หรือส่งเสียงร้องเจ็บเมื่อเจ้าของเข้าไปอุ้ม
“ส่วนใหญ่ โรคสะบ้าเคลื่อนมักเกิดในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ปอมเมอเรเนียน มอลทีส และชิวาวา เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็พบโรคนี้ในสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ได้เช่นกัน” น.สพ.บูรพงษ์ สุธีรัตน์ สัตวแพทย์ แผนกระบบกระดูกและข้อต่อ โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน กล่าวและเสริมว่า “ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ โรคนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกาย เช่น การเจริญของกล้ามเนื้อและกระดูกไม่สัมพันธ์กัน”
ดังนั้น ในการวินิจฉัยจึงเรียกรวมๆ ว่า ความผิดปกติทางโครงสร้างในระหว่างสุนัขกำลังเจริญเติบโต นอกจากนี้ น.สพ.บูรพงษ์ กล่าวว่า สะบ้าเคลื่อนอาจเกิดได้จากการกระทบ กระแทก การถูกรถชน หรือการถูกตี ก็อาจทำให้แนวการเจริญเติบโตที่ขาของสุนัขเสียหายได้ ส่งผลให้ขาของสุนัขคดงอ และบิดเบี้ยว
เมื่อสุนัขต้องเผชิญโรคสะบ้าเคลื่อน
น.สพ.บูรพงษ์ อธิบายว่า “โรคสะบ้าเคลื่อนเป็นความผิดปกติของตำแหน่งลูกสะบ้าในท่าที่สุนัขอยู่นิ่งหรือเคลื่อนไหวก็ได้ สะบ้าที่ผิดจากตำแหน่งปกติสามารถหลุดไปอยู่ได้ทั้งด้านนอกและด้านในของข้อเข่า ซึ่งร้อยละ 80 – 90 มักหลุดเข้าด้านใน”
เมื่อเกิดความผิดปกติทางโครงสร้างของกระดูกจึงส่งผลให้สุนัขมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ และในช่วงแรกเจ้าของมักจะไม่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากสุนัขยังไม่แสดงออกถึงอาการของโรค
ส่วนใหญ่เจ้าของมักสังเกตพบในระยะที่อาการของโรครุนแรงขึ้น เช่น สุนัขแสดงความเจ็บปวด และไม่สามารถยืดขาได้ จึงมักอยู่ในท่ายกขาหรืองอข้อเข่า ไม่ยอมลงน้ำหนัก เพราะลูกสะบ้าจะเคลื่อนหลุดออกมาตลอดเวลา อาจพบการบิดของกระดูกขาร่วมด้วย
แนวทางการรักษาโรคสะบ้าเคลื่อน
การรักษาให้ดีขึ้นต้องแก้ที่ต้นเหตุจากปัญหาโครงสร้างของกระดูก การผ่าตัดจึงเป็นวิธีแก้โครงสร้างให้เหมาะสม ในขณะเดียวกัน การใช้ยารักษา เป็นไปเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ และการเจ็บปวด ซึ่งไม่สามารถทำให้โครงสร้างกลับมาสมดุลได้ เนื่องจากเป็นเพียงการพยุงอาการ
“ในทางกลับกัน หากสุนัขแสดงอาการของโรคในระดับที่รุนแรงมากขึ้น การรักษาด้วยการให้ยาหรือฉีดยา อาจไม่สามารถช่วยให้ระบบกระดูกกลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติได้” น.สพ.บูรพงษ์ อธิบายและเสริมว่า “ดังนั้น ในระดับที่อาการของโรครุนแรงจนส่งผลต่อสวัสดิภาพของสุนัข การรักษาอย่างตรงเป้าหมายที่สุดคือ การผ่าตัด”
โดยทั่วไป เมื่อตรวจพบอาการของโรคสะบ้าเคลื่อน สัตวแพทย์จะประเมินความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกขาทั้งท่อนบนและท่อนล่าง เมื่อวิเคราะห์องศาที่กระดูกเคลื่อนจากตำแหน่งปกติได้แล้ว สัตวแพทย์จะวางแผนการผ่าตัด เพื่อแก้ไขให้กระดูกกลับมาอยู่ในแนวปกติ
“เจ้าของสุนัขหลายรายมักกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องการผ่าตัด ผมก็ไม่สามารถให้คำตอบชัดเจนได้ว่า สุนัขแต่ละตัวที่มาพบสัตวแพทย์ด้วยโรคสะบ้าเคลื่อนต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไร” น.สพ.บูรพงษ์ เล่าถึงกรณีที่ได้เคยพบเจอ และอธิบายเพิ่มเติมว่า “สัตวแพทย์จำเป็นต้องประเมินเป็นรายตัว เพราะโรคสะบ้าเคลื่อนเป็นความผิดปกตทางโครงสร้างกระดูก ซึ่งอาจจะมีความผิดปกติที่แตกต่างกันในสุนัขแต่ละตัว”
อีกหนึ่งข้อกังวลที่ น.สพ.บูรพงษ์ ยกเป็นกรณีตัวอย่างคือ เมื่อสุนัขเป็นโรคสะบ้าเคลื่อน เจ้าของไม่เลือกวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัด ได้หรือไม่
ในข้อนี้ น.สพ.บูรพงษ์ กล่าวว่า “ไม่ผ่าก็ได้ หรือผ่าก็ดี หมายความว่า ถ้าไม่ผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างของกระดูก สุนัขก็ยังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ในขณะเดียวกัน การผ่าตัดก็เป็นหนึ่งวิธีการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของสุนัข”
ในสุนัขหลายตัวที่ตรวจพบอาการสะบ้าเคลื่อน เจ้าของอาจตัดสินใจไม่เลือกวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดก็ได้ เนื่องจาก สุนัขยังไม่ได้แสดงออกถึงความเจ็บปวด แต่ถ้าในกรณีที่สุนัขแสดงความเจ็บปวดจากโรค สัตวแพทย์ก็มักจะแนะนำให้รักษาด้วยด้วยการผ่าตัด ดังนั้น การตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับเจ้าของสุนัข น.สพ.บูรพงษ์ กล่าว
แนวทางการป้องกันโรคสะบ้าเคลื่อน
น.สพ.บูรพงษ์ แนะนำว่า “ให้สุนัขได้วิ่งเล่นอย่างเป็นประจำตามสัญชาตญาณของสุนัข และควบคุมรูปร่างของสุนัขไม่ให้อ้วน หรือมีน้ำหนักตัวมากเกินไป”
นอกจากนี้ การพาสุนัขออกไปเดินเล่นเป็นประจำก็ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้สุนัขมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสุนัขและเจ้าของ และหากเจ้าของต้องการตรวจร่างกายสุนัขเพื่อวินิจฉัยโรคสะบ้าเคลื่อน สุนัขต้องมีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
ผู้ให้ข้อมูลและภาพประกอบ : น.สพ.บูรพงษ์ สุธีรัตน์ สัตวแพทย์แผนกระบบกระดูกและข้อต่อ โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ