โภชนาการสัตว์เลี้ยงเป็นพื้นฐานของการกำหนดสุขภาพที่ดีในสัตว์เลี้ยง เมื่อสัตว์เลี้ยงได้รับโภชนาการที่ดี ร่างกายของพวกเขาก็จะเติบโตแข็งแรงตามไปด้วย ซึ่งในปัจจุบัน สัตวแพทย์ และพ่อแม่สัตว์เลี้ยง ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะการให้อาหารเสริมประเภท ใยอาหาร
ใยอาหาร คืออะไร
ใยอาหาร (Dietary Fiber) คือ องค์ประกอบหนึ่งของเซลล์พืช ส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างเซลลูโลส ที่ช่วยให้พืชมีโครงร่างแข็งแรง เมื่อเรากินอาหารที่มีส่วนประกอบของใยอาหารเช่น ผักและผลไม้ เข้าไปในร่างกาย ระบบทางเดินอาหารของมนุษย์จะไม่สามารถย่อยสลายและเปลี่ยนเป็นสารอาหารได้ จึงทำให้เกิดกากใยภายในลำไส้ ที่ถูกขับถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระ
ในสัตว์เลี้ยงอย่างแมวก็เช่นกัน ระบบทางเดินอาหารของแมวไม่สามารถย่อยเซลลูโลสได้ เมื่อแมวกินอาหารที่มีใยอาหารเข้าไปจึงไม่ได้รับสารอาหารจากเซลลูโลส แต่เปรียบเสมือนเป็นอาหารเสริมที่ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างปกติ
ใยอาหารเป็นองค์ประกอบในอาหารที่ไม่ให้พลังงาน แต่มีส่วนช่วยเรื่องการขับถ่าย ในอดีต สัตวแพทย์จึงแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่น้องแมวให้อาหารที่มีส่วนประกอบของใยอาหาร เพื่อส่งเสริมคุณลักษณะที่ดีของอุจจาระ และในกรณีที่ต้องการควบคุมน้ำหนักน้องแมว (weight management) ใยอาหารจะช่วยให้แมวกินอาหารอิ่มเร็ว และอยู่ท้องนานมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน สัตวแพทย์และนักโภชนาการอาหารสัตว์ได้ให้ความสนใจศึกษาเรื่องบทบาทของใยอาหารต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยพบว่า ใยอาหารมีคุณสมบัติที่มีผลต่อจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร และอาจจะมีบทบาทต่อการจัดการรักษากลุ่มโรคความผิดปกติหลาย ๆ โรคได้ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ภาวะท้องเสีย ภาวะท้องผูก และปัญหาเรื่องก้อนขน เป็นต้น
คุณสมบัติของใยอาหาร
ตามหลักโภชนาการ ใยอาหารสามารถจำแนกได้หลายประเภท ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการจัดจำแนก เช่น จำแนกตามความสามารถในการละลายน้ำ ความหนืด และความสามารถในการหมัก เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่ อาหารแมวที่มีส่วนผสมของใยอาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาด จะมีส่วนผสมของในอาหารตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เช่น ใยอาหารที่มีความสามารถในการหมักสูง จะทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นการสร้างพลังงานของแบคทีเรียในทางเดินอาหารส่วนล่าง ในทางกลับกัน ใยอาหารที่มีความสามารถในการหมักน้อย มีแนวโน้มในการช่วยเพิ่มมวลของกากอาหาร และปริมาณของอุจจาระ ช่วยลดระยะเวลาการสะสมของก้อนอุจจาระในลำไส้ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน ใยอาหารที่มีความหนืดสูงช่วยส่งเสริมการจับกับน้ำของอุจจาระ ช่วยให้ก้อนอุจจาระมีลักษณะนิ่ม และมีความชุ่มชื้นมากขึ้น นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูปสูตรที่มีใยอาหารสูงยังถูกแนะนำให้ใช้ประกอบการรักษาโรคบางชนิดในแมวอีกด้วย
ใยอาหารกับบทบาทที่เกี่ยวกับโรคที่สำคัญในแมว
- โรคอ้วน (Obesity)
ในทวีปอเมริกาเหนือ โรคอ้วนในแมวจัดเป็นภาวะทุพโภชนาการอาหารที่พบได้บ่อย โดยจากผลการสำรวจพบว่า ประชากรแมวอายุโตเต็มวัยร้อยละ 35.1 มีภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือโรคอ้วน
ภาวะโรคอ้วนในแมวได้รับการพิจารณาว่าเป็นปัจจัยเหนี่ยวนำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน (diabetes mellitus) โรคไขมันพอกตับ (hepatic lipidosis) โรคระบบทางเดินปัสสาวะ (urinary tract disease) โรคกระดูก (orthopedic disease) และความผิดปกติเกี่ยวกับผิวหนัง (dermatopathies)
ดังนั้น ใยอาหารจึงเข้ามามีบทบาทต่อการควบคุมน้ำหนักในแมว โดยการเลือกสูตรอาหารสำเร็จรูปที่ผสมใยอาหารชนิดที่มีความสามารถในการหมักน้อย เช่น เซลลูโลส (cellulose) และเปลือกถั่วลิสง (peanut hulls) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการเพิ่มปริมาณของอาหารในทางเดินอาหาร โดยไม่ส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณของพลังงาน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ใยอาหารประเภทนี้ช่วยให้แมวกินอาหารอิ่มได้เร็วขึ้น และรู้สึกอิ่มนานขึ้น แต่ยังได้รับพลังงานในระดับที่ร่างกายต้องการ
จากการศึกษาวิจัยในแมวที่ได้รับอาหารที่มีส่วนผสมของใยอาหารประเภทนี้ พบว่า อัตราการร้องขออาหารลดลง เนื่องจากใยอาหารช่วยกระตุ้นให้เกิดความอิ่มยาวนานขึ้น
- ภาวะท้องผูก (Constipation)
อาการท้องผูกในแมวเป็นภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่น้องแมวต้องไปพบสัตวแพทย์ และยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า โอกาสการเกิดท้องผูกในแมวมีปริมาณมากน้อยเท่าไร โดยสัตวแพทย์หลายท่านที่เคยรักษาอาการท้องผูกในแมวได้พบระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น โภชนาการบำบัด เพื่อการรักษาภาวะท้องผูกจึงมีวิธีการที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับอาการที่สัตวแพทย์ตรวจพบ
บางกรณี สัตวแพทย์จะเลือกใช้อาหารที่มีกากใยสูงเป็นส่วนร่วมในการรักษา หรือในแมวบางตัว สัตวแพทย์อาจพิจารณาใช้อาหารที่ย่อยง่าย และมีกากใยต่ำร่วมด้วย โดยใยอาหารกลุ่มเซลลูโลสจะมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มความในทางเดินอาหารของแมว และช่วยให้รูบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายเกิดการขยาย ส่งผลให้อัตราการผ่านของอุจจาระเกิดได้มากขึ้น ในขณะที่ใยอาหารชนิดอื่น เช่น psyllium ช่วยสร้างเจลในทางเดินอาหาร (viscous gel) ซึ่งมีความสามารถในการจับกับน้ำได้สูง และช่วยทำให้อุจจาระผ่านได้ง่ายขึ้น
ภาวะท้องผูกในแมว นอกจากจะรักษาด้วยการจัดการด้านโภชนาการ และการรักษาทางยาแล้ว ยังสามารถให้น้ำดื่มในปริมาณที่ร่างกายแมวต้องการได้ ด้วยวิธีการให้ผ่านอาหารเปียก หรือกระตุ้นให้แมวดื่มน้ำมากขึ้น เนื่องจากทางเดินอาหารของแมวอาจมีปริมาณน้ำต่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องผูก
หากเรารักแมวของเรามากๆ การเห็นพวกเขามีสุขภาพดี ก็เป็นความสุขหนึ่งของคนที่เป็นพ่อแม่สัตว์เลี้ยง ดังนั้น การดูแลเรื่องโภชนาการให้เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรพิจารณาให้เหมาะสม โดยการปรึกษาสัตวแพทย์ หรือนักโภชนาการอาหารสัตว์ เพราะนอกจากจะได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องแล้ว ยังได้ข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับสุขภาพลูกรักสัตว์เลี้ยงของเราด้วย
เรื่อง สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ