คุณพ่อคุณแม่ทาสแมวหลายท่านอาจเคยสงสัยว่า ในแต่ละวันเราควร ดูแลน้องแมว อย่างไร และควรดูแลในเรื่องใดบ้าง
ความรักและความเอาใจใส่ของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อน้องแมว เป็นสายสัมพันธ์ที่สวยงาม และมีคุณค่าต่อจิตใจ วันนี้ คุณหมอก้อย สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำ PURRfect Cat Hospital จึงได้มาเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการปรนนิบัติน้องแมวในหนึ่งวันให้ฟังว่า ในหนึ่งวันเราควร ดูแลน้องแมว อย่างไร และทำอย่างไรให้แลดูสุขภาพดีตลอดช่วงชีวิตที่เขาอยู่กับเรา
หมอก้อยได้แนะนำวิธีการดูแลพื้นฐาน 4 ข้อ สำหรับน้องแมวทุกตัว ดังนี้ ค่ะ
1. การดูแลเส้นขนและผิวหนัง
ระบบปกคลุมร่างกายของน้องแมวทุกตัวประกอบด้วย เส้นขน และผิวหนัง ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม น้องแมวจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ เรื่องการดูแลเส้นขนและผิวหนังเหมือนกันทุกตัว
เส้นขนของน้องแมวที่มีสุขภาพดีจะมีลักษณะนุ่มสลวย เงางาม ไม่แห้งกระด้าง และขนไม่หลุดเป็นหย่อมๆ เมื่อเราใช้มือลูบ หรือใช้แปรงหวีสางเส้นขน
การดูแลเส้นขนของน้องแมว หมอก้อยได้แนะนำไว้แบบนี้ค่ะ
- สำหรับน้องแมวสายพันธุ์ขนยาว
คุณพ่อคุณแม่ควรแปรงขนเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 5 – 15 นาที (อย่านานกว่านี้นะคะ เพราะน้องอาจรำคาญได้) เพื่อช่วยกำจัดขนที่หลุดร่วงออกจากร่างกาย (ลดการเลียกินขนเข้าสู่ทางเดินอาหารและเกิดเป็นก้อนขน) ลดการเกี่ยวพันกันของเส้นขนจนนำไปสู่การเป็นสังกะตัง และช่วยทำให้ขนอ่อนนุ่มขึ้น
ในแมวขนยาวจุดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือขนบริเวณรอบรูทวาร ซึ่งมักจมีอุจจาระไปติดอยู่กับเส้นขน ตุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดทำความสะอาดบริเวณนี้ทุกครั้งที่เลอะคราบอุจจาระ หรืออาจจะตัดเล็มขนบริเวณให้สั้นลง
- สำหรับน้องแมวพันธุ์ขนสั้น
คุณพ่อคุณแม่สามารถแปรงขนให้น้องสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง โดยวิธีการการแปรงขนสำหรับน้องแมว ทำได้ง่าย ๆ เลยค่ะ ใช้แปรงสำหรับสัตว์ หรือถุงมือที่มีหวี ค่อย ๆ เริ่มแปรงขนจากบริเวณหัวไหล่ไล่ลงไปที่หลัง และข้างลำตัว จากนั้นแปรงขนที่ใต้ลำคอ ส่วนบริเวณใต้รักแร้ อก และท้อง อาจจะให้น้องแมวอยู่ในท่านอนหงายอย่างสบายใจ แล้วค่อย ๆ แปรงอย่างนุ่มนวล (การแปรงขนบริเวณท้อง ต้องมั่นใจว่าน้องสงบและผ่อนคลายจริง ๆ นะคะ ระวังน้องแจกยันต์ห้าแถว)
2. การดูแลดวงตา
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตดวงตาน้องได้ทุกวันค่ะ ดวงตาที่มีสุขภาพดีจะต้องสดใส ไม่มีคราบน้ำตา ไม่มีอาการหรี่ตา ม่านหดและขยายได้ปกติ
การทำความสะอาดคุณหมอแนะนำว่า หากไม่มีคราบน้ำตา หรือดวงตามีสภาพปกติ ไม่จำเป็นต้องเช็ดความสะอาดทุกวันค่ะ
ในทางกลับกัน สำหรับน้องแมวที่มีคราบน้ำตาทุกวัน เช่น สายพันธุ์เปอร์เซีย และเอ็กโซติกขนสั้น สามารถใช้น้ำยาล้างตาเช็ดทำความสะอาดคราบน้ำตาได้ ซึ่งถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน จะเกิดเป็นคราบน้ำตาบนเส้นขนรอบดวงตาและร่องจมูกได้ค่ะ
นอกจากนี้ บริเวณร่องใต้ตาบนในหน้าของน้องแมวหน้าสั้นยังสะสมความชื้นได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่ควรใช้สำลีเช็ดให้แห้งอยู่เสมอ เพราะว่าความชื้นจะนำไปสู่การเกิดโรคผิวหนังได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียและยีสต์ที่ผิวหนัง
3. การดูแลช่องปากและฟัน
การดูแลสุขภาพช่องปากของแมว เป็นสิ่งสำคัญที่คุณหมอแนะนำให้ทำเป็นประจำทุกวันค่ะ เพื่อช่วยลดการเกิดคราบหินปูน ลดแบคทีเรียในช่องปาก และป้องกันการเกิดโรคในช่องปาก
การฝึกแปรงฟันให้น้องแมว คุณหมอแนะนำว่า ควรฝึกฝนตั้งแต่เป็นลูกแมวเพราะจะทำให้แมวคุ้นเคยและยอมรับการแปรงฟันได้ง่ายขึ้น
อุปกรณ์การแปรงฟันที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องใช้ คือ แปรงสีฟันสำหรับแมว หรือปลอกสวมนิ้ว ป้ายด้วยยาสีฟันสำหรับแมวโดยเฉพาะ
วิธีการเริ่มจากถูแปรงเคลื่อนที่เป็นวงกลมเล็ก ๆ และเริ่มจากฟันด้านในสุด แปรงด้านละประมาณ 10 วินาที และค่อย ๆ เพิ่มเวลาเป็น 30-45 วินาที ในแต่ละด้าน จนครบทุกด้าน คุณหมอแนะนำให้ทำเป็นประจำทุกวัน วันละอย่างน้อย 1 ครั้ง
(สำหรับเทคนิคการฝึกแปรงฟันอย่างละเอียด อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ ฝึกฝนวิธีการแปรงฟันน้องแมวกัน)
4. การดูแลช่องหู
โดยปกติแล้ว ช่องหูของน้องแมวจะมีขี้หูสีเหลืองอ่อนเคลือบปกคลุมอยู่ ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่า ภายในช่องหูจะมีสีดำ หรือน้ำตาล น้องจะใช้เท้าเกาหู สะบัดหู หรือมีช่องหูบวมแดง
การทำความสะอาดช่องหูไม่จำเป็นต้องทำเป็นประจำทุกวัน ในกรณีที่น้องแมวไม่มีความผิดเกี่ยวกับช่องหู คุณหมอแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถทำความสะอาดช่องหูให้น้องสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง
ส่วนในกรณีที่เกิดความผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นเช็ดทำความสะอาดช่องหูทุกวันตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ หรือบ่อยครั้งขึ้นตามการวินิจฉัยของสัตวแพทย์
เหล่านี้ก็เป็นวิธีการดูแลน้องแมวง่าย ๆ จากคุณหมอก้อยนะคะ ที่คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านสามารถนำไปปฏิบัติกับน้องแมวได้ทุกวัน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความใส่ใจ และช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเราและน้องแมวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นได้ด้วยค่ะ
นอกจากเรื่องการดูแลภายนอกร่างกายของน้องแมวแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเรื่องโภชนาการ และพสุขอนามัยของน้องเพิ่มเติมด้วยนะคะ โดยการให้น้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และเหมาะสม ได้รับน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ รวมไปถึงการทำความสะอาดกระบะทรายทุกวัน เพื่อให้น้องได้ใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุขค่ะ
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ เทคนิคการอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์ ก่อนเลือกซื้ออาหารให้น้องแมว