ลำไส้ใหญ่โป่งพองในแมว ภาวะที่เกิดขึ้นได้กับแมวทุกตัว

ลำไส้ใหญ่โป่งพองในแมว ส่งผลให้แมวมีอาการท้องผูก และขับถ่ายน้อยลง และหากปล่อยไว้นานเกินไป อาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

ภาวะ ลำไส้ใหญ่โป่งพองในแมว (Megacolon) คืออะไร ?

ภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองในแมว คือความผิดปกติที่เกิดจากลำไส้ใหญ่ส่วน Colon ขยายใหญ่มากอย่างผิดปกติ ซึ่งมักเกิดขึ้นเนื่องจากภาวะท้องผูกเรื้อรัง บวกกับจากการสะสมของอุจจาระที่มีขนาดใหญ่ และก้อนแข็งจำนวนมาก จนเส้นผ่านศูนย์กลางของลำไส้ขยายใหญ่ขึ้น สูญเสียการบีบตัว และเกิดการอุดตันของอุจจาระบริเวณลำไส้ใหญ่ได้

ภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองในแมว มีอาการอย่างไร

แมวจะท้องผูกแบบเรื้อรัง ขับถ่ายอุจจาระลดลง หรืออาจไม่พบการขับถ่ายเลย ความถี่ในการถ่ายอุจจาระ และเข้ากระบะทรายลดลง แมวบางตัวจะแสดงอาการปวดเบ่ง หรือเจ็บขณะถ่ายอุจจาระ มีอาการปวดบริเวณช่องท้อง อุจจาระมีก้อนแข็ง หรือก้อนขนาดใหญ่

ในบางรายที่มีอาการต่อเนื่องมาสักระยะหนึ่ง จะเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาเช่น กินอาหารลดลง น้ำหนักลดลง อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร มีภาวะขาดน้ำ อ่อนแรง และขนแห้งหยาบ เป็นต้น

ลำไส้ใหญ่โป่งพองในแมว, โรคแมว, โรคระบบทางเดินอาหารในแมว

สาเหตุของภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพอง (Megacolon) เกิดจากอะไร ?

สาเหตุการเกิดมักเกี่ยวข้องกับการมีอาการท้องผูกเรื้อรัง ลำไส้ใหญ่อุดตันเป็นเวลานาน และมีความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมบริเวณลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ใหญ่ทำงานผิดปกติ หรืออาจเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุได้

อาการท้องผูกเรื้อรังในแมวสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น แมวดื่มน้ำน้อย มีความผิดปกติของกระเพาะ และลำไส้แบบเรื้อรัง มีความผิดปกติของระบบประสาท มีความผิดปกติของกระดูกและข้อต่อ ก้อนเนื้อหรือเนื้องอกในทางเดินอาหารหรือช่องท้อง เคยได้รับอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกเชิกรานตีบแคบลง หรืออาจเกิดจากการอุดตันในลำไส้ เช่น มีสิ่งแปลกปลอม และก้อนขนมากเกินไป หรือโรคในระบบร่างกายอื่น ๆ อย่างโรคไฮเปอร์ไทรอยด์

ลำไส้ใหญ่โป่งพองในแมว, โรคแมว, โรคระบบทางเดินอาหารในแมว
รูปภาพ : ภาพถ่ายรังสีช่องท้องของแมวที่มีภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพอง (Megacolon) จะพบลักษณะก้อนอุจจาระขนาดใหญ่ในลำไส้ใหญ่ส่วน colon / ภาพประกอบ : PURRfect Cat Hospital

การตรวจวินิจฉัย

สัตวแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นด้วยการคลำผ่านหน้าท้อง และจะพบลักษณะก้อนอุจจาระก้อนแข็งขนาดใหญ่ หลังจากนั้นจะใช้การเอ็กซเรย์ เพื่อดูขนาดของลำไส้ โดยจะพบขยายใหญ่ของลำไส้ใหญ่ส่วน colon

โดยส่วนใหญ่ ลำไส้ของแมวที่มีภาวะนี้จะมีขนาดมากกว่า 1.5 เท่าของความยาวของกระดูกสันหลังท่อนที่ 5 นอกจากนี้ สัตวแพทย์อาจตรวจเลือด ค่าทางเคมีของเลือด ค่าอิเล็กโตรไลท์เพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วไป ในบางรายอาจอัลตร้าซาวด์ หรือส่องกล้องทางลำไส้ใหญ่ เพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม

การรักษาและการจัดการแมวที่มีภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพอง

การรักษาภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองขึ้นอยู่กับสาเหตุ และความรุนแรงของอาการ โดยจะใช้การรักษาทางยาร่วมกับการจัดการด้านอาหาร เป็นทางเลือกแรก ส่วนการผ่าตัดจะมีความจำเป็นในรายที่มีอาการรุนแรง เรื้อรัง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา

โดยการรักษาทางยา สัตวแพทย์จะให้ยาระบาย การสวนระบายอุจจาระทางทวารหนัก ยาที่ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ และการให้สารน้ำเพื่อช่วยแก้ไขภาวะแห้งน้ำ ร่วมกับการปรับอาหาร

ในแมวที่มีภาวะ megacolon ที่ลำไส้มีการสูญเสียการบีบตัว ในช่วงระยะแรก ควรเปลี่ยนอาหารจากเดิมเป็นสูตรที่ย่อยง่ายขึ้น (highly digestibility) หรือเป็นอาหารที่สัดส่วนของปริมาณน้ำในอาหารมากกว่าร้อยละ 75

ลำไส้ใหญ่โป่งพองในแมว, โรคแมว, โรคระบบทางเดินอาหารในแมว

แต่ถ้าหากลำไส้ใหญ่ยังไม่สูญเสียสภาพการบีบตัว อาหารที่แนะนำจะเป็นอาหารที่มีสัดส่วนของปริมาณน้ำ (water) และไฟเบอร์ (fiber) สูง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้การเคลื่อนของอุจจาระเร็วขึ้น และอุจจาระตกค้างอยู่ในลำไส้น้อยลง ลดการดูดกลับน้ำกลับที่บริเวณลำไส้ใหญ่ และทำให้อุจจาระนิ่มขึ้นได้อีกด้วย

ภาวะลำไส้ใหญ่โป่งพองหากตรวจพบ และรักษาในระยะแรก อาจทำให้ลำไส้ใหญ่กลับมาทำงานและบีบตัวได้ปกติ แต่โดยส่วนใหญ่มักพบว่า แมวกลับมาเป็นภาวะเดิมซ้ำได้อีก ดังนั้น เจ้าของจึงควรดูแลในระยะยาว เช่น การดูแลจัดการด้านอาหาร การจัดการด้านพฤติกรรมการกินน้ำ และการสังเกตพฤติกรรมการขับถ่ายอุจจาระเป็นประจำ เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยการเกิดโรคซ้ำได้

บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : แมวชอบกินสิ่งแปลกปลอม ที่ไม่ใช่อาหาร หรือ PICA