สุนัขชอบฉี่ใส่ที่นอน ของเรา เพราะอะไรกันนะ

ปัญหา สุนัขชอบฉี่ใส่ที่นอน เป็นปัญหาที่สร้างความหงุดหงิดแก่ผู้ปกครองเป็นอย่างมากแน่ ๆ เพราะเราจะต้องหมดแรงไปกับการทำความสะอาดที่เครื่องนอนทั้งชุด และต้องกำจัดกลิ่นฉี่ของสุนัขให้หมดไปจากฟูก ซึ่งไม่ใช่เรื่องสนุกอย่างแน่นอน

ทำไม สุนัขชอบฉี่ใส่ที่นอน ของเรา

ผู้ปกครองบางท่านเล่าให้เราฟังว่า แม้ว่าสุนัขจะถูกฝึกให้ฉี่ในที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะแล้ว แต่บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็พบว่า สุนัขชอบฉี่ใส่ที่นอน และจากข้อมูลที่หลายท่านเคยรับรู้มาคือ เตียงมีลักษณะบางอย่างที่ดึงดูดสุนัขให้มาฉี่ เช่น นุ่ม ปลอดภัย และมีกลิ่นตัวเจ้าของติดอยู่ ซึ่งสุนัขต้องการใช้เวลาอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน

คำถามที่ตามมาคือ… “พวกเขาทำไปเพราะอะไร?” “โกรธเราหรือไม่?” “กำลังป่วยใช่ไหม?” “หรือเป็นเพราะเราทำอะไรผิด?” ความจริงคือ — ไม่มีคำตอบเดียวที่ใช้ได้กับทุกตัว

เพราะเบื้องหลังของการปัสสาวะที่ไม่พึงประสงค์มีทั้งร่างกาย พฤติกรรม อารมณ์ และช่วงอายุ เข้ามาเกี่ยวข้อง

สัตวแพทย์พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมสุนัขฉี่ใส่ที่นอนของเรา มีดังนี้

สุนัขชอบฉี่ใส่ที่นอน, สุนัขฉี่ใส่ที่นอน, สุนัขปัสสาวะบนเตียง

สาเหตุทางร่างกาย (Physical Causes)

ถ้าหากเจ้าของสังเกตพบว่า สุนัขฉี่ใส่ที่นอนของเราแบบกระทันหัน หรือเกิดขึ้นซ้ำบ่อย ๆ โดยไม่มีสัญญาณเตือน อาจเกิดจากปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะหลายครั้ง… สิ่งที่เราคิดว่าเป็น “พฤติกรรมไม่ดี” แท้จริงแล้วคือ “สัญญาณเตือนของร่างกาย” โดยโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิกปกติในการขับปัสสาวะได้แก่

โรคระบบทางเดินปัสสาวะ

โรคระบบทางเดินปัสสาวะที่พบได้บ่อยคือ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ที่อาจเกิดจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เจ้าของสามารถสังเกตได้โดย สุนัขจะไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หากสงสัยว่า สุนัขติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่ ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ และวางแผนการรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะต่อไป

ปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะที่อาจเกิดขึ้นกับสุนัขได้ เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ โรคไต และเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ โดยส่วนใหญ่ โรคเหล่านี้รักษาได้ด้วยให้ยา อาหารเสริม ร่วมกับการจัดการโภชนาการที่เหมาะสม ในกรณีที่รุนแรงกว่านั้น เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ สุนัขอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด นอกจากนี้ โรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวานและโรคคุชชิ่ง อาจส่งผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะของสุนัขได้เช่นกัน

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

เมื่อสุนัขกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ พวกเขาจะปัสสาวะออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจเกิดขึ้นได้ในหลายสถานการณ์ โดยเฉพาะในขณะที่สุนัขกำลังนอนหลับ แต่สุนัขบางรายที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่จะปัสสาวะเล็ดออกมาในขณะที่ตื่นได้เช่นกัน

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่พบได้ค่อนข้างบ่อยในสุนัขอายุมาก แต่ก็พบว่าในสุนัขอายุน้อยก็สามารถเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้เช่นกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ

นอกจากนี้ ฮอร์โมนเพศยังเกี่ยวข้องกับการกลั้นปัสสาวะในสุนัขด้วย โดยสุนัขเพศเมียจะพบได้บ่อยกว่าสุนัขเพศผู้ แต่โอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก และมีวิธีการรักษาให้หายขาดด้วยการใช้ยา

คำแนะนำ : ถ้าสุนัขของเราเคยปัสสาวะเป็นที่เป็นทางมาโดยตลอด แต่เริ่มมีพฤติกรรมปัสสาวะไม่เป็นที่กระทันหัน อย่ารอให้เกิดซ้ำหลายครั้ง ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพทันที

สาเหตุทางพฤติกรรม (Behavioral Causes)

บางครั้งการปัสสาวะไม่เป็นที่ อาจไม่ได้เกิดจากความเจ็บป่วยของร่างกาย แต่อาจเกิดจาก สุนัขยังไม่ได้เรียนรู้ว่า พฤติกรรมที่เหมาะสมเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกับลูกสุนัข หรือสุนัขที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่

พฤติกรรมที่อาจเป็นสาเหตุได้ เช่น:

  • ยังไม่รู้จักการขับถ่ายในที่ที่จัดไว้ให้ โดยเฉพาะลูกสุนัข
  • ไม่พาไปฉี่เป็นเวลา ทำให้ปัสสาวะผิดที่จนกลายเป็นนิสัย
  • ทำเครื่องหมายอาณาเขต (Marking) โดยเฉพาะในสุนัขเพศผู้ หรือสุนัขที่ยังไม่ได้ทำหมัน
  • ได้กลิ่นของตัวเองบนเตียง แล้วกลับมาฉี่ซ้ำ

ดังนั้น ค่อย ๆ สร้างวินัย ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา และทำความสะอาดจุดที่เคยฉี่ด้วยน้ำยาขจัดกลิ่น (แบบเอนไซม์) เพื่อป้องกันการปัสสาวะซ้ำ

สาเหตุทางจิตใจ และอารมณ์ (Emotional/Psychological Causes)

ความตื่นเต้น ความกลัว ความเครียด หรือความวิตกกังวล

สุนัขไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าของด้วยการพูดได้ ดังนั้น การปัสสาวะจึงเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งที่พวกเขาทำได้ สุนัขบางตัวฉี่ใส่ที่นอนของเจ้าของ เพื่อจะบอกว่า พวกเขารู้สึกเครียด กลัว คิดถึง หรืออยากให้เจ้าของหันมาสนใจ

ความกลัว ความเครียด และความวิตกกังวล อารมณ์เชิงลบเหล่านี้อาจทำให้สุนัขปัสสาวะออกมาได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของสุนัข อาจทำให้สุนัขเกิดความเครียดได้อย่างกระทันหัน

สาเหตุทางอารมณ์ที่พบได้บ่อย เช่น:

  • ความเครียด เช่น การย้ายบ้าน มีคนแปลกหน้า หรือสัตว์ใหม่
  • การถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว อาจเกิด “Separation Anxiety”
  • อยากเรียกร้องความสนใจ เพราะรู้ว่าฉี่แล้วเจ้าของจะสนใจ
  • ผูกพันกับเจ้าของมาก กลิ่นของเราบนที่นอนคือจุดปลอดภัย
  • ตกใจเฉียบพลัน เช่น เสียงฟ้าร้อง พลุ หรือเสียงดังอื่น ๆ
สุนัขชอบฉี่ใส่ที่นอน, สุนัขฉี่ใส่ที่นอน, สุนัขปัสสาวะบนเตียง

สาเหตุจากช่วงวัยของสุนัข

ช่วงวัยของสุนัขมีผลต่อพฤติกรรมขับถ่ายเป็นอย่างมาก และสามารถบอกถึงสาเหตุได้ชัดเจนมากขึ้น

ลูกสุนัข อายุ 0-6 เดือน : ระบบยังไม่สมบูรณ์ ฉี่พลาดได้บ่อย
สุนัขวัยรุ่น อายุ 6 เดือน – 2 ปี : เริ่มแสดงอาณาเขต เนื่องจากระบบฮอร์โมนทำงานเต็มที่
สุนัขวัยผู้ใหญ่ อายุ 2 – 7 ปี : ถ้าเคยปัสสาวะเป็นที่ทาง และกลับมาแสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ อาจเกิดจากความเครียด และปัญหาด้านสุขภาพ
สุนัขสูงวับ อายุ 7 ปีขึ้นไป อาจเกิดจากกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ลุกไปจุดขัยถ่ายไม่ทัน หรือเริ่มหลงลืม

ลองมาดูพร้อมกันว่า สุนัขแต่ละช่วงวัยบอกอะไรเราบ้าง

1. ลูกสุนัขวัยซน (0-6 เดือน)

เจ้าตัวน้อยที่เพิ่งมาอยู่กับเรา มักยังควบคุมกระเพาะปัสสาวะไม่ได้ดี พวกเขาไม่ได้ตั้งใจทำผิดที่ — พวกเขาแค่ยังไม่รู้ว่า “ถูกที่” คืออะไร บางครั้งกลิ่นของเจ้าของบนที่นอนก็ให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย จนเผลอ “ปล่อยตัว” ออกมาโดยไม่รู้ตัว

สิ่งที่เราทำได้: ฝึกเขาแบบนุ่มนวล พาออกไปฉี่ทันทีหลังนอน/กิน ให้รางวัลเมื่อพกวเขาฉี่ถูกที่ และอย่าลงโทษ เพราะจะยิ่งทำให้เขากลัว และมีปัญหาพฤติกรรมซับซ้อนมากขึ้น

2. วัยรุ่นหัวแข็ง (6 เดือน – 2 ปี)

ช่วงวัยนี้ ระบบฮอร์โมนในร่างกายทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ หวงของ และเริ่มอยาก “มีที่ยืน” บางตัวฉี่เพื่อทำเครื่องหมาย บางตัวฉี่เมื่อเครียด หรือเมื่อรู้ว่า “ถ้าทำแบบนี้ เจ้าของจะหันมาสนใจ”

สิ่งที่เราทำได้: ทำหมันหากยังไม่ได้ทำ จัดเวลาเล่น และใช้พลังงานให้พอ เสริมสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ ถ้าฉี่เพราะความเครียด ต้องเข้าใจ ไม่ใช่โกรธเขา

3. วัยผู้ใหญ่ (2 – 7 ปี)

สุนัขในวัยนี้มักจะควบคุมการขับถ่ายได้ดีแล้ว ถ้าอยู่ดี ๆ ก็กลับมาฉี่ผิดที่อาจมีสัญญาณบางอย่างที่เราควรสังเกต เช่น เครียดหรือไม่ พวกเขาแสดงความเบื่อไหม หรือเจ็บป่วยอยู่ภายใน หรือมีการเปลี่ยนแปลงในบ้าน มีสมาชิกใหม่ หรือเจ้าของหายไปนาน ๆ

สิ่งที่เราทำได้: ทบทวนความเปลี่ยนแปลงในบ้าน พาไปตรวจสุขภาพประจำปี พาพวกเขาทำกิจกรรมใหม่ ๆ บ้าง
ทำให้ชีวิตเขานิ่ง มั่นคง และรู้สึกว่า “เขายังสำคัญ”

4. วัยชรา (7 ปีขึ้นไป)

การฉี่ผิดที่ในวัยนี้อาจไม่ใช่เพราะดื้อ… แต่มาจากการที่ “เขาไม่ไหวแล้ว” — กลั้นไม่อยู่ ลุกไม่ทัน หรือเริ่มมีภาวะหลงลืม (Canine Cognitive Dysfunction) สุนัขบางตัวเป็นโรคไต เบาหวาน หรือแค่นั่งนานแล้วลุกไม่ได้ทันเวลาฉี่
เขาอาจดูเหมือนผิด แต่จริง ๆ คือเขากำลังบอกว่า “หนูพยายามแล้วนะ…”

สิ่งที่เราทำได้: พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจรางหายอย่างละเอียด ปรับสภาพแวดล้อมให้ง่ายสำหรับเขา ใช้แผ่นรองฉี่ ผ้าอ้อม หรือจัดตารางพาไปฉี่ เปลี่ยนจากการ “สอน” มาเป็นการ “ดูแล”

และบางครั้ง… มันคือภาษาสุนัข ที่บอกเราว่าเขารู้สึกยังไง

บางตัวเครียด แต่พูดไม่ได้
บางตัวกลัวจะถูกทิ้ง
บางตัวคิดถึง
บางตัวอยากบอกว่า “หนูยังอยู่ตรงนี้นะ”

การฉี่ใส่ที่นอน อาจเป็นสัญญาณของความรู้สึกมากกว่าความผิด
และถ้าเรามองให้ลึกลงไป เราอาจเข้าใจหัวใจของเขามากขึ้น

เพราะหมาไม่ได้พูด แต่เขาก็พยายามสื่อสารเสมอ

อย่าด่วนตีตราว่าเขาดื้อ หรือทำผิด
ให้ลองฟังเขา ด้วยหัวใจที่พร้อมจะเข้าใจ

แล้วคุณจะพบว่า… สิ่งที่เขาต้องการ อาจไม่ใช่แค่ที่ฉี่ แต่คือ “พื้นที่ในใจเรา” ที่ไม่เปลี่ยนไป

แนวทางการฝึกสุนัขไม่ให้ฉี่บนเตียง

อันดับแรก เจ้าของต้องแน่ใจว่า สุนัขไม่ได้เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ โดยการพาสุนัขไปตรวจร่างกายกับสัตวแพทย์ ด้านอายุรกรรมทั่วไป จากนั้น เมื่อผลการตรวจวินิจฉัยทุกอย่างยืนยันแล้วว่า การปัสสาวะไม่เป็นที่ไม่ได้เกิดจากโรคในร่างกาย เจ้าของจึงควรพาสุนัขไปปรึกษาสัตวแพทย์ ด้านพฤติกรรม ต่อไป โดยมีแนวทางพื้นฐาน ดังนี้

1. ตรวจสอบสภาพแวดล้อมโดยรอบบริเวณที่สุนัขอยู่อาศัย

ขั้นแรก เจ้าของต้องประเมินสภาพแวดล้อมโดยรอบว่า มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่จะนำไปสู่ความเครียดหรือไม่ เช่น มีสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามาในบ้าน มีข้าวของชิ้นใหม่ที่สุนัขไม่คุ้นเคย หรือมีคนแปลกหน้าที่สุนัขไม่เคยพบมาก่อน เข้ามาในบ้าน

นอกจากนี้ สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่รับรู้ความเครียดของเจ้าของได้ นั่นหมายความว่า เมื่อเจ้าของเครียดสุนัขก็รู้สึกเครียดตามไปด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านพฤติกรรมของสุนัขได้ ดังนั้น เราจะต้องลดความเครียดลงก่อนที่จะเริ่มฝึกสุนัข สัตวแพทย์อาจช่วยให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละบ้านได้

2. สร้างนิสัยที่ดีอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อเริ่มฝึกสุนัขไม่ให้ปัสสาวะบนเตียง เราต้องจำกัดการเข้าถึงเตียงให้ได้ก่อน หากจำเป็น ให้จำกัดพื้นที่สุนัขเมื่อเจ้าของไม่อยู่บ้าน และเมื่อกลับมาถึงบ้าน อย่าลืมพาสุนัขออกไปปัสสาวะนอกบ้านบ่อย ๆ และอนุญาตให้สุนัขขึ้นบนเตียงเฉพาะเมื่อเจ้าของอยู่บนเตียงเท่านั้น

หากสุนัขของคุณเริ่มปัสสาวะในที่ที่ไม่เหมาะสม ให้พาสุนัขของคุณออกไปปัสสาวะนอกบ้านทุกครั้ง หลังจากพวกเขากินอาหาร ดื่มน้ำ หรือตื่นนอน และให้รางวัลเมื่อสุนัขปัสสาวะกลางแจ้ง แต่ไม่ต้องลงโทษหากพวกเขาฉี่ในที่ที่ไม่เหมาะสม

ในระหว่างการฝึกและปรับพฤติกรรม หากเรายังพบว่าสุนัขยังปัสสาวะบนที่นอน หรือปัสสาวะในที่ที่ไม่ได้จัดเตรียมไว้ให้ ห้ามทำโทษสุนัขโดยใช้ความรุนแรง หรือทำให้สุนัขรู้สึกกลัวโดยเด็ดขาด แต่ให้นำสุนัขออกไปปัสสาวะนอกบ้านทันที และให้รางวัลเมื่อสุนัขปัสสาวะในที่ที่จัดไว้ให้

หากคุณกำลังเจอสถานการณ์แบบนี้ ลองหยุดฟังหมาดูสักนิด เพราะบางครั้ง คราบปัสสาวะที่เลอะบนที่นอน อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจที่ลึกขึ้น… ระหว่างคนกับหมา

สุนัขฉี่ใส่ที่นอนของเรา ไม่ได้แปลว่าเขาดื้อหรือไม่รักเรา แต่มันคือ “บางอย่างที่เขาอยากบอก” ซึ่งอาจเป็นความไม่สบายในร่างกาย ความสับสนในใจ หรือความรักที่ล้นจนล้นออกมาผิดทาง

หน้าที่ของเรา ไม่ใช่แค่หาวิธีแก้ แต่คือ “หาความหมาย” ในสิ่งที่เขากำลังบอก ลองฟังเขาด้วยความเข้าใจแทนการตำหนิ เพราะในทุกความผิดพลาดนั้น ๆ … อาจมีบางอย่างที่หัวใจเขาอยากให้เรารู้

บทความโดย
คุณภาณุ ศรีรัตนประภาส และณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง
The Spruce Pets – Why Does My Dog Pee on My Bed?
American Kennel Club – Why Do Dogs Pee on Beds?
Dog Friendly Co. – Why is My Dog Peeing on My Bed All of a Sudden?


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – ทำไมสุนัขชอบให้ลูบท้อง คำตอบอาจทำให้เรารักพวกเขายิ่งขึ้น