แมวป่ากับแมวบ้าน แตกต่างกันอย่างไร เรื่องราวของแมวที่เข้ามาครองหัวใจ และบ้าน ของพวกเรา เมื่อหลายพันปีก่อน
สัตว์เลี้ยงในบ้านส่วนใหญ่มีหน้าตาแตกต่างจากญาติในป่าที่มีบรรพบุรุษร่วมกัน ลองนึกภาพสุน้ขบ้านและสุนัขป่า แต่ในทางกลับกัน แมวบ้าน ที่นั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นของเรา หน้าตาของพวกเขาอาจไม่ได้ดูแตกต่างจากแมวป่าในปัจจุบันสักเท่าไร และหลายครั้ง เราก็ยังเข้าใจผิดว่า แมวป่ากับแมวบ้าน เป็นสายพันธุ์เดียวกัน
ความจริงข้อหนึ่งที่เจ้าของแมวมีความเห็นตรงกันคือ ไม่ใช่แมวบ้านทุกตัวจะมีลักษณะเหมือนกับแมวป่า แมวบางสายพันธุ์มีสีสัน ลวดลาย และเส้นขนที่มีความหลากหลาย และไม่พบในแมวป่า แมวบ้านบางตัวมีลักษณะของร่างกายที่โดดเด่น เช่น แมวมันช์กินขาสั้น แมวไทยที่ใบหน้ายาว และแมวเปอร์เซียหน้าสั้น
อย่างไรก็ตาม แมวบ้านบางสายพันธุ์ก็มีรูปร่างหน้าตาคล้ายแมวป่ามาก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างแมวบ้านและแมวป่า พบว่า มีความแตกต่างกันเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น ในกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ในทางกลับกัน สุนัขบ้านและสุนัขป่ามีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมถึง 3 เท่า

แล้ว แมวป่ากับแมวบ้าน แตกต่างกันอย่างไร
นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ในเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้สำหรับจำแนกแมวบ้านและแมวป่า มีเพียงสองวิธีเท่านั้นที่จะสามารถระบุได้อย่างชัดเจน
วิธีที่หนึ่ง คือ การวัดขนาดของสมอง โดยสมองของแมวบ้านจะมีขนาดเล็กกว่าแมวป่า โดยเฉพาะสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความก้าวร้าว ความกลัว และการตอบสนองโดยรวม
วิธีที่สอง คือ การวัดความยาวของลำไส้ ซึ่งแมวบ้านจะมีความยาวของลำไส้มากกว่า เนื่องจากต้องย่อยอาหารที่มีส่วนประกอบของพืชที่ได้รับจากมนุษย์ หรือธัญพืชที่อยู่ในอาหารแมวสำเร็จรูป
การเปลี่ยนแปลงทางวิวัฒนาการที่สำคัญที่สุดของแมวบ้าน เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางสังคม เมื่อแมวบ้านอยู่รวมตัวกันมากกว่าหนึ่งตัวในบ้านที่มีมนุษย์คอยให้อาหาร พวกเขาจะอยู่รวมกันเป็นสังคมคล้ายกับสิงโต
พฤติกรรมการรวมฝูงพบได้เฉพาะในสิงโตตัวเมียเท่านั้น ซึ่งไม่พบในบรรพบุรุษของแมวบ้าน อย่างแมวป่าแอฟริกัน ซึ่งมักจะอาศัยอยู่ในป่าอย่างโดดเดี่ยวมากกว่า และจะจับคู่กันเฉพาะฤดูผสมพันธุ์ ในขณะที่สิงโตตัวเมีย จะรวมฝูงกัน และทำหน้าที่ในการช่วยเหลือกันและในฝูง ตั้งแต่การหาอาหารไปจนถึงการคลอดลูก
พฤติกรรมการทักทายกัน เป็นหนึ่งในความคล้ายคลึงทางพฤติกรรมระหว่างแมวบ้านและสิงโต แมวบ้านจะยกหางขึ้นตรง ซึ่งพบในสิงโตเช่นกัน แต่ไม่พบในแมวสายพันธุ์อื่น การชูหางตั้งตรงของแมว เป็นการสื่อสารว่า “ฉันอยากเป็นเพื่อน” เมื่อพวกเขาแสดงพฤติกรรมนี้กับมนุษย์ นั่นหมายความว่า พวกเขารวมเราไว้ในสังคมด้วย

ทำไมต้องเป็นแมวป่าแอฟริกัน
สัตว์ในตระกูลแมวใหญ่ อย่างสิงโต เสือโคร่ง และเสือพูม่า เป็นสัตว์ที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนทั่วโลก แต่ในบรรดาแมวป่าจำนวน 41 สายพันธุ์ แทบไม่มีใครได้ยินชื่อ เช่น แมวป่าบอร์เนียว แมว kodkod หรือแมวลายหินอ่อน ซึ่งเป็นแมวป่าขนาดกลางถึงเล็ก
ตามทฤษฎีของวิวัฒนาการ แมวป่าสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งอาจเป็นบรรพบุรุษของแมวบ้านก็ได้ แต่หลักฐานจากการศึกษาพันธุกรรม แสดงให้เห็นว่า แมวบ้านในปัจจุบันมีบรรพบุรุษเป็นแมวป่าแอฟริกัน โดยมีความใกล้ชิดกับสายพันธุ์ Felis silvestris lybica มากที่สุด
เพราะอะไร แมวป่าจากแอฟริกาเหนือจึงกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงคู่ใจในบ้านของเรา
โดยสรุปแล้ว แมวป่าแอฟริกันอยู่ในสถานที่ที่ถูกต้อง และถูกเวลา ซึ่งสอดคล้องกับอารยธรรมของมนุษย์ที่เฟื่องฟูขึ้นในแถบพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ ประมาณ 10,000 ปีก่อน และเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์รู้จักการเพาะปลูก และการตั้งถื่นฐาน
พื้นที่พระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอียิปต์ ตุรกี ซีเรีย อิหร่าน และอีกหลายพื้นที่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ของแเมวป่าขนาดเล็กจำนวนมาก รวมถึงแมวคาราวัล แมวเซอร์วัล และแมวทะเลทราย แต่แมวป่าแอฟริกัน เป็นแมวที่เข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกของมนุษย์ และเข้ามาอยู่ในบ้านร่วมกับมนุษย์จนถึงวันนี้
ในยุคนั้น นักมานุษยวิทยาสันนิษบานว่า แมวป่าแอฟริกันเป็นแมวป่าเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่เป็นมิตรกับมนุษย์มากที่สุด เมื่อได้รับการเลี้ยงดูอย่างอ่อนโยนจากมนุษย์ ในทางกลับกัน ญาติที่ใกล้ชิดกับแมวป่าแอฟริกัน อย่างแมวป่ายุโรป กลับกลายเป็นแมวป่าที่มีนิสัยดุร้ายเมื่อเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัย
เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มเหล่านี้ เราคงพอจินจนาการได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เผื่อผู้คนเริ่มตั้งรกราก และเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น พืชบางส่วนก็จะถูกเก็บไว้ในยุ้งฉาง ซึ่งส่งผลให้หนูเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว
แมวป่าแอฟริกันบางตัวที่ไม่ค่อยกลัวคน จึงใช้โอกาสนี้เข้ามาล่าหนูที่คอยทำลายพืชผลทางการเกษตรของมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์จึงพบว่า แมวป่าแอฟริกันที่อยู่รอบ ๆ พื้นที่การเกษตรได้สร้างประโยชน์แก่พวกเขา จึงเริ่มปฏิบัติต่อแมวเหล่านั้นด้วยความเมตา โดยการให้อาหารและที่อยู่อาศัย แมวป่าบางตัวอาจยอมให้มนุษย์ลูบตัว จึงทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกเอ็นดู และเป็นจุดกำเนิดของการเลี้ยงแมว
อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าแมวบ้านเกิดขึ้นที่ไหนกันแน่ หลักฐานบางชิ้นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับแมวปรากฏในภาพวาด และประติมากรรมในสุสานของอียิปต์ เมื่อประมาณ 3,500 ปีก่อน
การศึกษาทางพันธุกรรม ซึ่งรวมถึงตัวอย่างจากมมัมมี่แมวในอียิปต์ และข้อมูลทางโบราณคดี แสดงให้เห็นถึงเส้นทางการอพยพของแมว โดยเชื่อว่า แมวบ้านได้อพยพไปทางเหนือผ่านยุโรป (และท้ายที่สุดไปยังอเมริกาเหนือ) แมวบ้านยังได้กระจายไปยังแอฟริกาใต้ และไปทางตะวันออกสู่เอเชีย นอกจากนี้ หลักฐานทางพันธุกรรมยังให้ข้อมูลว่า ชาวไวกิ้งมีบทบาทมในการกระจายพันธุ์แมวบ้านไปทุกหนทุกแห่ง

วิวัฒนาการของการร้องเหมียว ๆ
เมื่อแมวบ้านเข้ามาอยู่ร่วมกับมนุษย์ พวกเขาสื่อสารกับเราด้วยเสียงร้องเหมียว ๆ อย่างไรก็ตาม การสื่อสารระหว่างแมวป่าด้วยกันเอง กลับพบว่าพวกเขาไม่ส่งเสียงร้อง แต่ใช้การสื่อสารด้วยภาษากายและกลิ่น
แมวป่าได้พัฒนาเสียงร้องขึ้นมาในช่วงที่เข้ามาอยู่ร่วมกับมนุษย์ เพื่อสื่อสารกับเราอย่างประสิทธิภาพ นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่า เสียงแหลมสูงของแมว คล้ายกับเสียงทารักของมนุษย์ ซึ่งเมื่อมนุษย์ได้ยินเสียงนี้แล้ว จะทำให้เกิดความรู้สึกดี และกระตุ้นอยากให้มนุษย์ดูแล
นอกจากนี้ เสียงครางต่ำ ๆ ของแมวก็สร้างความดึงดูดต่อมนุษย์ได้เช่นกัน เช่น แมวส่งเสียงครางเมื่อเรากำลังฉีกซองอาหารเปียก ซึ่งไม่ได้หมายถึงความพึงพอใจ แต่พวกเขากำลังเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ
นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์คลื่นของเสียงแมว และพบว่า เสียงร้องครางต่ำ ๆ ต่อเนื่อง มีตวามใกล้เคียงับช่วงคลื่นเสียงของเด็กทารก ซึ่งมนุษย์ไวต่อเสียงเด็กทารกร้องเป็นพิเศษ แมวบ้านอาจะพัฒนาเสียงนี้ขึ้นมาเพื่อดึงดูดความสนใจจากเรา
เหล่าบรรดาเจ้าของแมวต่างเข้าใจดีว่า เสียงร้องของแมวมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของเรามากแค่ไหน และมนุษย์เองก็ได้เรียนรู้ชีวิตของตัวเองผ่านการมีอยู่ของแมวบ้านในช่วงตลอดระยะเวลาที่พวกเขาเข้ามาครองพื้นที่ในหัวใจเรา
เรื่อง
ณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย – แมวบ้าน แมวเลี้ยง หรือ แมวป่า?
Live Sicence – What is the difference between a pet cat and a wildcat?
Science – The Near Eastern Origin of Cat Domestication
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – แมวบ้าน ผสมข้ามสายพันธุ์กับ แมวป่า เพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
