ในการไปหาหมอของเราแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะโรงพยาบาลของรัฐบาล เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช หรือ โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ การได้พบอาจารย์หมอถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ เพราะสามารถมั่นใจได้ว่า ได้พบกับอาจารย์หมอที่มีความชำนาญในสาขานั้นจริง ดังนั้นโอกาสประสบความสำเร็จในการรักษาสูงและโรคแทรกซ้อนจากโรคที่ทำการรักษาที่มีแนวโน้มน้อยกว่าการพบแพทย์ที่จบใหม่ที่มีประสบการณ์น้อยกว่า
เช่นเดียวกับเจ้าของหลายคนที่พาสุนัขและแมวของตัวเองไปหาสัตวแพทย์ตามคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ก็มักจะถามคำถามว่า “ขอพบ สัตวแพทย์เฉพาะทาง ได้ไหมครับ/คะ” ซึ่งถ้าต้องตอบคำถามนี้เมื่อ 4 ปีก่อนตามความเป็นจริง คำตอบคือไม่มีโรงพยาบาลสัตว์ไหนเลยที่มีสัตวแพทย์เฉพาะทางครับ คุณหมอและอาจารย์แต่ละท่านที่ปฏิบัติงานในแต่ละโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยในสาขาที่ตนเองสนใจนั้นยังไม่มีการรองรับด้วยสัตวแพทยสภา ดังนั้นโรงพยาบาลสัตว์เอกชนยิ่งไม่ต้องพูดถึงครับ
แต่ในขณะนี้เรามีสัตวแพทย์เฉพาะทางแล้ว วันนี้คุณหมอจะมาเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของ สัตวแพทย์เฉพาะทาง ในประเทศไทยกันครับ
วิทยาลัยวิชาชีพการสัตวแพทย์ชำนาญการแห่งประเทศไทย (The College of Veterinary Specialties of Thailand) ก่อตั้งโดยสัตวแพทยสภาในวันที่ 15 กันยายนพ.ศ. 2557 โดยเริ่มต้นด้วยคณะกรรมการก่อตั้งวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ประมาณ 10 ท่าน และ หลังจากที่ได้ทำการประชุมกันแล้ว จึงทำการกำหนดกฏเกณฑ์ของการคัดเลือกอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหลักของโรงเรียนสัตวแพทย์ ซึ่งมีความชำนาญทางคลินิกในแต่ละสาขาเข้ามาเป็นคณะทำงานและบริหารงานวิทยาลัยชำนาญการและจัดการสอบผู้ขออนุมัติบัตรและวุฒิบัตรแสดงความรู้ชำนาญในการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ โดยกำหนดกฏเกณฑ์ถึงว่าคุณวุฒิ การตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการและสามารถเก็บจำนวนเคส (จำนวนสัตว์ป่วยที่ทำการรักษา) ปริมาณเท่าไรจึง จะมีสิทธิ์ สมัคร และ ขอสอบเพื่อรับวุฒิได้
สาขาชำนาญการที่ออกอนุมัติบัตรและวุฒิบัตรมี 5 สาขา ได้แก่
1. สาขาพยาธิวิทยา (Veterinary Pathology) คือกลุ่มสัตวแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในงานด้านพยาธิวิทยาซึ่งเป็นวิชาที่ทำการศึกษาขั้นตอนการดำเนินของโรค การวินิจฉัยโรคจากการตรวจอวัยวะ เนื้อเยื่อหรือเซลล์ เจ้าของสัตว์ส่วนใหญ่จะไม่ได้พบคุณหมอที่ทำงานด้านพยาธิวิทยาโดยตรงเพราะคุณหมอที่ทำงานในสายงานนี้จะทำการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยการอ่านผลเซลล์หรือชิ้นเนื้อที่ได้รับการตัดออกมาแล้วมากกว่าการลงตรวจตามโรงพยาบาลหรือคลีนิก
2. สาขาเวชศาสตร์ระบบสืบพันธุ์ (Veterinary Theriogenology) คือกลุ่มสัตวแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในงานด้านการผสมพันธุ์สัตว์รวมถึงสรีระวิทยาและพยาธิวิทยาของ ระบบสืบพันธุ์ของสัตว์เพศผู้และเพศเมีย รวมถึงการอนุบาลลูกสัตว์ ถ้าเปรียบเทียบให้เราเห็นภาพ ถ้าเราจะพบคุณหมอในสายงานนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับคนก็จะเป็น ”ศูนย์ผู้มีบุตรยาก” นั่นเอง
3. สาขาศัลยศาสตร์ (Veterinary Surgery) คือกลุ่มสัตวแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในงานด้านการผ่าตัดทั้งเนื้อเยื้ออ่อน ออร์โธปีดิสก์(กระดูก เอ็น ข้อต่อ) ระบบประสาท วิสัญญีวิทยา (วิชาว่าด้วยการให้ยาสลบยาชาเพื่อระงับความรู้สึกเจ็บปวดของสัตว์ป่วย) และการวินิจฉัยด้วยภาพ
4. สาขาอายุรศาสตร์ (veterinary Medicine) คือกลุ่มสัตวแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในงานด้านการตรวจวินิจฉัยเพื่อค้นหาโรคและทำการรักษาโรคโดยการใช้ยาหรือทำหัตถการที่ไม่ใช่การผ่าตัด ในสาขานี้สามารถแบ่งเป็นสาขาย่อยได้ หลายสาขาเช่น โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบต่อมไร้ท่อ โรคหัวใจ โรคผิวหนัง โรคระบบประสาท เป็นต้น
5. สาขาสัตวแพทย์สาธารณสุข (Veterinary Public Health) คือกลุ่มสัตวแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในงานด้าน สาธารณสุขโดยใช้ความรู้ทางด้านสัตวแพทย์เพื่อป้องกันการติดโรคจากสัตว์สู่คน ตรวจสอบอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตจากสัตว์ รวมถึงการป้องกันการแพร่เชื้อและ การปนเปื้อนของสารเคมีและยาที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ไปยังสิ่งแวดล้อม
เราจะเห็นได้ว่าสัตวแพทย์เฉพาะทางในขณะนี้ยังไม่ได้มีการแบ่งออกเป็นสาขาย่อยเช่นเดียวกับแพทย์ แต่ในอนาคตจะมีการแบ่งสาขาย่อยอย่างแน่นอนครับ
สำหรับเจ้าของสัตว์ที่พาสุนัขและแมวไปหาสัตวแพทย์ตามโรงพยาบาลสัตว์ต่างๆ อีกทางหนึ่งก็คือการดูป้ายชื่อของคุณหมอที่โรงพยาบาลสัตว์หรือคลีนิครักษาสัตว์ที่เจ้าของพาไปหาประจำ สัตวแพทย์ผู้ชายจะมีคำนำหน้าชื่อเป็น นายสัตวแพทย์ หรือย่อว่า น.สพ. (ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ครับ หนังสือพิมพ์จะย่อว่า นสพ.) สัตวแพทย์ผู้หญิงจะย่อว่า สพ.ญ. (สัตวแพทย์หญิง) ให้เราดูท้ายชื่อคุณหมอครับ จะมีตัวย่อตามท้ายชื่อคือ อว.สพ. หรือ วว.สพ. แล้วตามด้วยสาขาที่ชำนาญการ หรือ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็จะใช้เป็น Diplomate of the Thai Board of …… หรือย่อที่สุดเป็น DTBV… เช่น
น.สพ. เรียนเก่ง รักดี (อว.สพ. อายุรศาสตร์)
Reankeng Rakdee, DVM, DBTVM
อว. สพ.คือ การอนุมัติบัตรหรือการได้รับหนังสือแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ในสาขาใดสาขาหนึ่งโดยมอบให้กับผู้ที่ได้รับวุฒิบัตรจากต่างประเทศหรือผ่านการสอบโดยวิทยาลัย กลุ่ม สัตวแพทย์เฉพาะทาง ที่ได้รับอนุมัติบัตรบางท่านได้เข้าระบบสัตวแพทย์ประจำบ้านของต่างประเทศอยู่ด้วยดังนั้นในภาษาอังกฤษที่ตามท้ายชื่อก็จะพบชื่อย่อ เช่น DACVD (Diplomate of the American College of Veterinary Dermatology) เป็น สัตวแพทย์เฉพาะทาง ด้านโรคผิวหนังจากอเมริกา, DECVIM (Diplomate of the European College of Veterinary Internal Medicine) เป็นสัตวแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์จากยุโรป, DAiCVD (Diplomate of the Asian College of Veterinary Dermatology) เป็นสัตวแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์จากเอเชีย เป็นต้น
วว. สพ. คือ วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ในสาขาใดสาขาหนึ่งออกให้กับผู้ที่ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ประจำบ้านของสัตวแพทยสภาและผ่านการสอบโดยวิทยาลัย
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่น้องหมาน้องแมวยังสามารถตรวจสอบรายชื่อสัตวแพทย์ที่เป็นสัตวแพทย์เฉพาะทางได้ตามลิงค์ตามด้านล่างนี้ครับ
http://www.vetcouncil.or.th/
บทความโดย
อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ อว.สพ. ศัลยศาสตร์
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital
10 สัญญาณ “โรคเหงา” หรือ “โรคซึมเศร้าในสุนัข” ที่คนเลี้ยงสุนัขต้องระวัง!
การดูแลหมาสูงอายุ หรือ หมาแก่ ให้แข็งแรงและอายุยืนยาว