แมวเป็นโรคหัวใจ ได้เช่นเดียวกับสุนัข และสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ และนำไปสู่ความเจ็บป่วยอื่น ๆ ตามมา
แมวเป็นโรคหัวใจ มีชื่อโรคในเชิงเทคนิคว่า cardiomyopathy เป็นโรคที่เกิดจาดการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ จึงทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแมวได้น้อยลงตามไปด้วย
เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ หัวใจของแมวแบ่งออกเป็น 4 ห้อง ได้แก่ ห้องบน 2 ห้อง และห้องล่าง 2 ห้อง ทั้งด้านซ้ายและขวา กล้ามเนื้อหัวใจเป็นกล้ามเนื้อชนิดพิเศษ ที่แตกต่างจากกล้ามเนื้อทั่วไป
ดังนั้น ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น กล้ามเนื้อหนาขึ้น หรือใหญ่ขึ้น ก็จะส่งผลให้การบีบตัว และการสูบฉีดเลือด ไม่เป็นไปตามปกติ เช่น ปริมาณเลือดที่ส่งไปยังปอด และอวัยวะต่าง ๆ ลดลง รวมไปถึงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเกิดลิ่มเลือดได้
ประเภทของโรคหัวใจในแมว
โรคหัวใจในแมวสามารถเกิดขึ้นได้จากความผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ การหดเกร็งของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจรั่ว หรือเกิดความผิดปกติร่วมกันจากอาการที่กล่าวมา
1. โรคหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด
โรคหัวที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิดมักเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ (hypertrophic cardiomyopathy) บางรายอาจพบว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับลิ้นหัวใจร่วมด้วย และส่วนใหญ่จะเกิดความผิดปกติที่หัวใจห้องล่างซ้าย ดังนั้น จึงส่งผลให้ปริมาณเลือดถูกสูบฉีดไปยังปอดน้อยลง นอกจากนี้ยังพบว่าแมวในบางสายพันธุ์มีความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดกล้ามเนื้อหัวใจหนามากกว่าสายพันธุ์อื่น คือ เมนคูน (Maine Coon), แรกดอล (Ragdoll) และ เปอร์เซีย (Persian)
2. โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง
กลุ่มโรคหัวใจประเภทนี้เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลังจากแมวเจริญเติบโตขึ้น โดยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจบาง (Dilated cardiomyopathy) เป็นความผิดปกติที่พบได้ในแมวส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหัวใจ เมื่อผนังกล้ามเนื้อหัวใจบางลงกว่าปกติ จะส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด
ที่่ผ่านมา สัตวแพทย์เคยพบว่า ในบางกรณี แมวป่วยด้วยโรคหัวใจที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างชัดเจน หรือ Unclassified cardiomyopathy
อาการของโรคหัวใจในแมว
แมวส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหัวใจมักไม่แสดงอาการ จึงเป็นเรื่องที่สัตวแพทย์มองว่าเป็นความยากของการวินิจฉัยโรคหัวใจในแมว ซึ่งบางรายกว่าจะแสดงอาการแมวก็เสียชีวิตแล้ว
แมวเป็นโรคหัวใจอาจแสดงอาการ ดังต่อไปนี้
- ตัวเย็น
- กินอาหารน้อยลง
- เซื่องซึม
- สุขภาพทรุดโทรม
- อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น หายใจหอบ หายใจทางปาก เหมือนหายใจลำบาก
- เกิดอัมพาตที่ขาหลังอย่างเฉียบพลัน
- เหงือกซีด หรือมีสีคล้ำ
- บางรายบอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
การวินิจฉัยโรคหัวใจในแมว
อย่างทีกล่าวมาแล้วว่า เมื่อแมวเป็นโรคหัวใจอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลยก็ได้ ดังนั้น เจ้าของควรตรวจสุขภาพของแมวเป็นประจำทุกปี โดยวิธีการที่นิยมใช้สำหรับการตรวจการทำงานของหัวใจ สัตวแพทย์จะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการอัลตราซาวด์ ที่สามารถเห็นความหนาบางของกล้ามเนื้อหัวใจ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ หรือเห็นลิ่มเลือดที่ค้างอยู่ในห้องหัวใจได้
นอกจากนี้ สัตวแพทย์อาจจำเป็นต้องวินิจฉัยเพิ่มเติม ในกรณีที่การวินิจฉัยแบบทั่วไปไม่สามารถระบุโรคได้ เช่น
- การตรวจเลือด และการตรวจปัสสาวะ
- การวัดความดัน และตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์
- การเอกซเรย์ทรวงอก
- การตรวจหาระดับโปรตีน Nt-proBNP ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผลิตจากหัวใจ
- การตรวจหาระดับกรดอะมิโนทอรีนในเลือด
การรักษาโรคหัวใจในแมว
การวางแผนการรักษาโรคหัวใจในแมวขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งสัตวแพทย์จะประเมินร่วมกับภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น ความหนาของผนังกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงของหัวใจ และการทำงานของลิ้นหัวใจ เป็นต้น
เมื่อวินิจฉัยและระบุความรุนแรงได้แล้ว การรักษาอาจเริ่มต้นตั้งแต่การดูแลแบบประคับประคอง การบำบัดด้วยออกซิเจน ตลอดจนการให้ยาเพื่อลดความเจ็บปวด และความเครียดของแมว บางรายที่มีภาวะน้ำคั่วในช่องออก สัตวแพทย์จะดำเนินการเจาะน้ำออกจากทรวงอกและช่องท้อง เพื่อช่วยให้แมวหายใจได้สะดวกขึ้น
โดยในกรณีการดูแลแบบประคับประคอง สัตวแพทย์จะวางแผนการดูแลร่วมกับการใช้ยาร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- ยาลดความดันเลือด
- ยาต้านเกล็ดเลือด
- ยาสลายลิ่มเลือด
- ยาช่วยลดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ
- ยาขับปัสสาวะ
นอกจากนี้ เจ้าของจำเป็นต้องดูแลเรื่องอาหารและโภชนาการให้เหมาะสม โดยแมวควรได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน หรือบางกรณี สัตวแพทย์อาจให้เจ้าของเลือกสูตรอาหารที่มีส่วนผสมของทอรีน และอาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ เพื่อช่วยควบคุมความดันเลือดไม่ให้สูงเกินไป
เช่นเดียวกับในมนุษย์ โรคหัวใจในแมวเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เจ้าของสามารถช่วยดูแลให้แมวมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นปกติได้ ด้วยการปฏิบัติตตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ดูแลเรื่องโภชนาการที่เหมาะสม และให้แมวกินยาให้ครบตามที่สัตวแพทย์สั่ง
ข้อมูลอ้างอิง
Cats Protection – Heart disease in cats