ภาวะโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะของสุนัขและแมว

โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะพบได้มากทั้งในสุนัขและแมว โดยนิ่วเกิดจากการสะสมรวมกันของตะกอนแร่-ธาตุในทางเดินปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็นที่ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะ

สำหรับ ภาวะโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะของสุนัขและแมว ปัจจุบันมีการแบ่งชนิดของนิ่วตามองค์ประกอบแร่ธาตุของนิ่วชนิดนั้น ๆ โดยนิ่วที่พบมีทั้งหมด 8 ชนิด ได้แก่

1. Magnesium ammonium phosphate
(แมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟตหรืออีกชื่อเรียกว่า struvite (สตรู-ไวท์) หรือ MAP)
2. Calcium oxalate (แคลเซียมออกซาเลต) หรือ CaOx
3. Urate (ยูเรต)
4. Cystine (ซีสทีน)
5. Calcium phosphate (แคลเซียมฟอสเฟต) หรือ CaPo
6. Silica (ซิลิกา)
7. Compound
8. Mixed

แต่จะพบว่ามี 2 ชนิดที่พบได้บ่อยในสุนัขและแมว คือ MAP และ CaOx ซึ่งมีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำสูง

สาเหตุการเกิดภาวะโรคนิ่ว

การเกิดนิ่วมีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น สายพันธุ์ อายุ เพศ อาหาร การกินน้ำ น้ำหนัก พฤติกรรม สภาพแวดล้อม ความเป็นกรดและด่างในปัสสาวะ
การติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะหรือโรคบางชนิดที่สามารถเหนี่ยวนำทำให้เกิดนิ่วตามมา เช่น ไทรอยด์ หรือ มะเร็งบางชนิด เป็นต้น

อาการที่พบ

เมื่อมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เช่น ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะลำบากหรือมีอาการเบ่งปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
ปัสสาวะติดขัดหรือปัสสาวะออกมาเป็นหยด ๆ เป็นต้น

อาหารสามารถช่วยรักษา ภาวะโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะของสุนัขและแมว ได้อย่างไร

การวินิจฉัย

ในปัจจุบันการวินิจฉัยโรคนิ่วจะใช้การเอกซเรย์เป็นหลัก แต่นิ่วบางชนิดอาจไม่สามารถเห็นได้จากการเอกซเรย์ ดังนั้นจะใช้การอัลตราซาวน์ช่วยวินิจฉัยร่วมด้วย ส่วนการตรวจปัสสาวะนั้นไม่สามารถตอบได้ว่ามีนิ่วในทางเดินปัสสาวะแต่สามารถพบตะกอนของแร่ธาตุได้ ซึ่งถ้าพบตะกอนแร่ธาตุเป็นจำนวนมากแสดงว่ามีโอกาสเกิดนิ่วของแร่ธาตุนั้น ๆ ได้ และ การตรวจเลือดไม่สามารถช่วยวินิจฉัยได้ แต่ปกติสัตวแพทย์จะตรวจเลือดร่วมด้วย เนื่องจากถ้าเกิดนิ่วอุดตันในทางเดินปัสสาวะจะส่งผลให้การขับออกของปัสสาวะลดลง จะทำให้ค่าไตเพิ่มสูงขึ้นตามมา ดังนั้นการวินิจฉัยจึงใช้การตรวจหลายอย่างร่วมกัน

ขอบคุณภาพจาก : www.hvsevet.com

เนื่องจากนิ่วที่พบได้มีหลายชนิด จึงขอยกตัวอย่างเพียง 2 ชนิดที่พบได้บ่อย คือ นิ่ว MAP และ CaOx

1.Magnesium ammonium phosphate (แมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต) / MAP หรือ Struvite urolith พบได้มากในสุนัขสายพันธุ์พุดเดิ้ล ชิสุห์ พบได้ในสุนัขเพศเมียมากกว่าเพศผู้ และช่วงอายุน้อยจะพบการเกิดนิ่วได้มากกว่า และ การติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะสามารถโน้มนำทำให้เกิดนิ่วชนิดนี้ แต่ในแมวนิ่วชนิดนี้เกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือจากปัจจัยอื่นได้ ลักษณะของนิ่วที่พบในเอกซเรย์ คือ ผิวเรียบ พบได้หลายก้อน รูปร่างกลมคล้ายก้อนกรวดและเป็นนิ่วที่สามารถละลายได้โดยการปรับเปลี่ยนอาหารร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะ ดังนั้นเมื่อพบว่าเป็นนิ่วชนิดนี้จึงมีการนำปัสสาวะไปเพาะเชื้อ เพื่อที่จะหาว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดใดที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และจะได้ให้ยาปฏิชีวนะตามผลเพาะเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถใช้อาหารสูตรเฉพาะโรคนิ่วเพื่อป้องกัน และสลายนิ่วได้

2.Calcium oxalate (แคลเซียมออกซาเลต) หรือ CaOx จะพบได้มากในสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ชิวาว่า ยอร์คเชียร์ เทอร์เรียและมิเนเจอร์ พินซ์เชอร์ พบได้ในสุนัขเพศผู้มากกว่าเพศเมียและพบได้ในช่วงอายุปานกลางถึงมาก ส่วนใหญ่นิ่วชนิดนี้สาเหตุการเกิดมักจะเกิดจากหลายปัจจัย เช่น อาหารหรือความผิดปกติของเมตาบอลิซึมของร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่มีองค์ประกอบของแคลเซียมสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มาจากนม งาดำ ถั่วเหลือง เต้าหู้ กุ้งแห้ง กะหล่ำปลี บรอคโคลี่ แอปเปิ้ล ส้ม สับปะรด หรือ กล้วยไข่ เป็นต้น และโรคอื่น ๆ ที่อาจโน้มนำได้ เช่น โรคมะเร็งบางชนิด ลักษณะนิ่วที่พบในเอกซเรย์ คือ นิ่วจะมีความทึบแสง ผิวขรุขระ เป็นนิ่วที่ไม่สามารถละลายได้จากการปรับอาหาร ดังนั้นอาหารของโรคนิ่วจะทำได้แค่ป้องกันการเกิดนิ่วเท่านั้นและควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดนิ่วชนิดนี้

ขอบคุณภาพจาก : www.cliniciansbrief.com

การรักษา

สามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธีหลัก ๆ คือ

1. การผ่าตัดเป็นหลัก

2. กรณีที่ไม่ผ่าตัดจะใช้วิธีสำหรับนิ่วขนาดเล็กเท่านั้น ได้แก่

  • Voiding urohydropropulsion คือ การใช้แรงดันโดยการใช้มือบีบตรงตำแหน่งกระเพาะปัสสาวะเพื่อให้นิ่วหลุดออกมา และการที่จะใช้วิธีนี้นั้นนิ่วจะต้องมีขนาดเล็กกว่าท่อปัสสาวะ
  • Diet management คือ การใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเฉพาะที่ใช้สำหรับป้องกันและสลายนิ่ว โดยการใช้อาหารสลายนิ่วจะทำได้แค่นิ่วแมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต (MAP) ส่วนนิ่วชนิดอื่นๆจะใช้สำหรับการป้องกันการเกิดนิ่ว

สำหรับวิธี Laser lithotripsy คือ ใช้หลักการทำงานของเลเซอร์เพื่อให้ก้อนนิ่วแตกออกมา โดยจะใช้อุปกรณ์ใส่ผ่านเข้าไปทางท่อปัสสาวะและทำให้นิ่วแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ หลุดออกมา โดยนิ่วที่แตกออกมาจะมีอุปกรณ์นำออกมาอีก และ วิธี Extracorporeal shock wave lithotripsy คือ การใช้คลื่นเสียงผ่านผิวหนังตรงบริเวณตำแหน่งที่มีนิ่วอยู่ เพื่อให้นิ่วแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ส่วนใหญ่มักใช้กับนิ่วที่อยู่บริเวณไตและท่อไต ทั้ง 2 วิธีนี้ยังไม่มีในประเทศไทย

โรคนิ่วเป็นโรคที่พบได้บ่อยและสาเหตุการเกิดมีหลายปัจจัยดังที่กล่าวไว้ข้างต้นและเป็นโรคที่มีอัตราการเกิดซ้ำสูง ดังนั้นเมื่อได้รับการรักษาหายแล้วควรจะต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่องและหลีกเลี่ยงหรือปรับอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำและจะต้องมีการตรวจปัสสาวะเป็นประจำ ในกรณีที่เป็นนิ่วที่เกิดจากการติดเชื้อควรจะต้องมีการเพาะเชื้อจากปัสสาวะ เพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง

บทความโดย

สพ.ญ. เมลานี สุขสำราญทวีรัชต์
Melanee Suksamranthaweerat, DVM
หน่วยโรคไตและทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
Nephrology and Urology Clinic, Kasetsart Veterinary Teaching Hospital, Bangkhen

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่