“โรคไข้หัดแมว” คือโรคอะไร มีความเกี่ยวข้องกับโรคไข้หัดสุนัขหรือไม่ ติดต่ออย่างไร ก่อโรคในมนุษย์ได้หรือไม่ แล้วจะมีวิธีการที่จะป้องกันแมวสุดที่รักของเราจากโรคนี้ได้หรือไม่ อย่างไร
ในโอกาสนี้ หมอก็จะขออนุญาตนำข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ “โรคไข้หัดแมว” มาสรุปสั้นๆ ให้ทุกท่านได้รู้จักกันครับ
โรคไข้หัดแมว คืออะไร
“โรคไข้หัดแมว” หรือ “feline distemper” นั้น มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการในวงการสัตวแพทย์อยู่หลายชื่อ โดยคุณหมอสัตวแพทย์บางท่านอาจจะเรียกว่า “โรคลำไส้อักเสบติดต่อในแมว (feline infectious enteritis)” หรือ “โรคติดเชื้อพาร์โวไวรัสในแมว (feline parvovirus infection)” หรือบางท่านก็อาจจะขนานโรคนี้ว่า “โรคแพนลิวโคพีเนียในแมว (feline panleukopenia)”
ซึ่งคำว่า “แพนลิวโคพีเนีย” นี้ เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่แปลว่าเม็ดเลือดขาวต่ำ ทั้งนี้เนื่องจากแมวที่ติดโรคดังกล่าวนี้ มักมีจำนวนเม็ดเลือดขาวทุกชนิดลดต่ำลงอย่างมาก (ซึ่งจะได้มีการกล่าวถึงรายละเอียดของภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำต่อไปหลังจากนี้)
โรคไข้หัดแมวเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม “Carnivore protoparvovirus 1” โดยพบว่า ร้อยละ 95 ของแมวที่ป่วยด้วยโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อพาร์โวไวรัสในแมว (feline parvovirus; FPV) และส่วนน้อย (อีกราว ๆ ร้อยละ 5) ของแมวที่ป่วยด้วยโรคนี้ อาจเกิดจากการติดเชื้อพาร์โวไวรัสในสุนัข (canine parvovirus; CPV) โดยเฉพาะสายพันธุ์ หรือ variant CPV-2a, b และ c
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นอกจากจะพบการเกิดโรคไข้หัดในแมวที่ติดเชื้อไวรัส FPV หรือ CPV เพียงชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ยังเคยมีรายงานพบการติดเชื้อไวรัส FPV และ CPV ร่วมกันในแมวตัวเดียวกันอีกด้วย
โดยในปี 2013 มีบทความวิชาการของ Battilani และคณะ ซึ่งรายงานการพบการติดเชื้อไวรัส FPV และ CPV-2a ร่วมกันในลูกแมวพันธุ์ผสมอายุ 3 เดือนรายหนึ่งในประเทศอิตาลี ซึ่งเสียชีวิตเนื่องจากมีอาการป่วยที่รุนแรงและมีลักษณะอาการทางคลินิกที่สอดคล้องกับการติดโรคไข้หัดแมว
โรคไข้หัดแมวเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อของแมวที่มีอัตราการป่วย และการเสียชีวิตภายหลังการติดโรคค่อนข้างสูง และในปัจจุบันยังมีรายงานการพบการติดโรคอยู่บ่อยครั้งในประเทศไทย
โดยในแต่ละปีก็จะมีรายงานว่า พบแมวที่ป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ปีละไม่น้อย อีกทั้งยังเคยพบการระบาดของโรคอย่างรุนแรงจนเป็นสาเหตุทำให้แมวแสดงอาการป่วย และเสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นจำนวนหลายร้อยตัว ซึ่งเป็นการระบาดของโรคไข้หัดแมวในกลุ่มประชากรแมว ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน ซึ่งเกิดขึ้นในเขตจังหวัดอ่างทองเมื่อราว พ.ศ. 2555-2557 ที่ผ่านมา
ไวรัส FPV ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้หัดแมวนี้ เป็นเชื้อไวรัสที่มี DNA เป็นสายเดี่ยว (single-stranded DNA) ซึ่งเมื่อมีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายของแมวแล้ว จะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 2-10 วัน ก่อนที่แมวจะเริ่มแสดงอาการป่วย
โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีเป้าหมายอยู่ที่กลุ่มเซลล์ที่มีการแบ่งตัวได้ไว โดยเฉพาะเซลล์ที่อยู่ในเนื้อเยื่อน้ำเหลือง (lymphoid tissue) รวมทั้งกลุ่มเซลล์ต้นกำเนิดของเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ในไขกระดูก และที่บริเวณ intestinal crypt epithelium ที่อยู่บนผนังของลำไส้
เมื่อเชื้อไวรัสเข้าไปแบ่งตัวที่เนื้อเยื่อเป้าหมายแล้ว ก็จะเป็นสาเหตุให้แมวป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวทุกชนิดลดต่ำลง รวมทั้งมีภาวะลำไส้อักเสบ เป็นต้น
อาการของ โรคไข้หัดแมว
แมวที่เป็นโรคไข้หัดแมวมักจะมีอาการซึม มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และมักพบอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย เนื่องจากมีภาวะลำไส้อักเสบ
แมวป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงถึงขั้นถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเหม็นคาว เนื่องจากผนังลำไส้ถูกทำลายจนเกิดการเสียหายอย่างรุนแรง
อาการดังกล่าวเหล่านี้ มักจะทำให้แมวป่วยมีภาวะขาดน้ำ และสูญเสียเกลือแร่ ไปจากร่างกายอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเกลือแร่เสียสมดุล ภาวะความดันต่ำ ภาวะช็อก (shock) ภาวะเลือดเป็นกรด หรือภาวะการอักเสบทั่วร่างกาย ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุให้แมวเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว
แล้วภาวะเม็ดเลือดขาวที่ลดต่ำลงล่ะ น่าเป็นห่วงอย่างไร
เม็ดเลือดขาวที่ว่านี้ ก็คือ ทหารของร่างกายที่ทำหน้าที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายนั่นเอง ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวลดต่ำลงอย่างมาก ก็เท่ากับว่าร่างกายจะขาดหน่วยทหารฝีมือดี ที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ
ดังนั้น เราจึงมักพบว่า แมวป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ มักจะมีโอกาสเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ง่ายและรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตได้เช่นกัน
สำหรับในกรณีแมวติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ พบว่า หากเชื้อไวรัสมีการติดต่อจากแม่ไปสู่ตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์ ก็อาจทำให้เกิดการแท้งลูก (abortion) หรือตัวอ่อนในท้องอาจกลายเป็นมัมมี่ หรือหากตัวอ่อนมีการเติบโตในครรภ์จนคลอดได้ ก็อาจพบว่า ลูกแมวมีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง หรือดวงตา ตั้งแต่กำเนิดได้
โดยความผิดปกติที่มักพบ ได้แก่ การพบการเจริญพัฒนาของสมองส่วนซีรีเบลลัมที่น้อยกว่าปกติ (cerebellar hypoplasia) ซึ่งก็จะทำให้ลูกแมวที่เกิดมา มีการเดินและการทรงตัวที่ผิดปกติไปจากที่ควร เนื่องจากสมองส่วนดังกล่าวมีความสำคัญต่อการควบคุมการทรงตัวนั่นเอง นอกจากนี้ ยังอาจพบความผิดปกติในรูปแบบอื่นๆ เช่น การเจริญผิดปกติของจอประสาทตา หรือการเจริญพัฒนาน้อยกว่าปกติของเส้นประสาทตา เป็นต้น
การรักษาโรคไข้หัดแมว ?? โรคหัดแมวรักษาเอง ได้หรือไม่
ในปัจจุบัน โรคไข้หัดแมวยังไม่มีการรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การรักษาหลัก ๆ จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการ ดังนี้
- การให้น้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อแก้ไขภาวะสูญเสียน้ำ
- การให้เกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียเกลือแร่ออกไปทางอุจจาระ หรือการอาเจียน
- การให้สารอาหารชดเชยให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย รวมทั้งอาจมีการให้วิตามินเสริมตามที่จำเป็น ซึ่งรูปแบบการให้สารอาหารและวิตามินจะแตกต่างกันไป ขึ้นกับอาการของแมวป่วยแต่ละราย
- การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
- การให้ยาลดอาเจียน ยาลดอาการปวดเกร็งช่องท้อง
- ในรายที่มีภาวะโลหิตจางมาก อาจจำเป็นต้องได้รับการถ่ายเลือด
- ในบางราย อาจมีการพิจารณาให้ยาที่มีส่วนช่วยปรับหรือเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งสัตวแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาจะพิจารณาเลือกใช้อย่างเหมาะสมเป็นรายๆ ไป
ผลลัพธ์ของการรักษาโรค นอกจากจะขึ้นกับวิธีการรักษาแล้ว ยังขึ้นกับระดับความรุนแรงของการเกิดโรค และขึ้นกับความแข็งแรงของร่างกายและระดับภูมิคุ้มกันของแมวป่วยแต่ละรายด้วย
อย่างไรก็ตาม หากพบว่าแมวของท่านมีประวัติอาการป่วยที่คาดว่าอาจจะเป็นโรคนี้ เจ้าของควรรีบพามาพบสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นาน ความรุนแรงของอาการก็จะมากขึ้น และความแข็งแรงของแมวก็จะลดลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการรักษาลดลงตามไปด้วย และแมวอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้
โรคไข้หัดแมวเกี่ยวข้องกับโรคไข้หัดสุนัขหรือไม่
โรคไข้หัดแมวมีเชื้อไวรัสซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคที่แตกต่างจากโรคไข้หัดสุนัข (canine distemper เกิดจากเชื้อไวรัส canine distemper virus หรือ CDV) แต่มีความใกล้เคียงกับโรคลำไส้อักเสบจากเชื้อพาร์โวไวรัสในสุนัข (สาเหตุเกิดจากเชื้อ canine parvovirus หรือ CPV) ดังนั้น โปรดอย่าสับสนกันระหว่าง “โรคไข้หัดแมว” และ “โรคไข้หัดสุนัข” นะครับ
โรคไข้หัดแมวติดต่อระหว่างแมว ได้อย่างไร
การติดต่อของโรค อธิบายง่าย ๆ ก็คือ เป็นการถ่ายทอดเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของโรคจากร่างกายของแมวที่เป็นโรค ไปยังแมวตัวอื่น ๆ นั่นเอง
โดยปกติแล้ว แมวที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มักจะปล่อยแพร่เชื้อไวรัสออกมาทางอุจจาระ และเมื่อแมวตัวอื่นมาสัมผัสอุจจาระที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ ก็จะได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปในที่สุด
เนื่องจากเชื้อไวรัส FPV เป็นเชื้อที่มีความคงทนที่อุณหภูมิห้อง และในสภาพแวดล้อมได้ค่อนข้างนาน ดังนั้น เชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนออกมากับอุจจาระของแมว ก็อาจจะตกค้างอยู่ในสภาพแวดล้อมได้
จากนั้นเชื้อจะปนเปื้อนไปกับสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น กรง ถาดใส่น้ำ ถาดใส่อาหาร คอลลาร์ ของเล่น และกระบะทราย เป็นต้น รวมถึงวัสดุปูรอง แล้วทำให้เกิดการถ่ายทอดเชื้อไปยังแมวตัวอื่นได้
นอกจากนี้ หากเจ้าของสัมผัสกับอุจจาระของแมวป่วยที่มีการปนเปื้อนเชื้อ แล้วไปจับสัมผัสแมวตัวอื่นต่อโดยไม่ล้างมือให้สะอาดเสียก่อน ก็อาจจะทำให้มีการถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปยังแมวตัวอื่นได้ด้วย
การติดเชื้อไข้หัดแมวสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักพบว่ามีความเสี่ยงของการติดเชื้อและการก่อโรคที่รุนแรงมากขึ้นในกลุ่มแมวอายุน้อยที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรค หรือยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรค รวมทั้งในแมวสูงอายุ แมวที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่ดี และแมวที่อยู่ในสถานที่เลี้ยงที่แออัดหรือมีการเลี้ยงอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ
แมวกลุ่มนี้หากมีการติดเชื้อ มักจะแสดงอาการของโรคอย่างรุนแรงและมีโอกาสการเสียชีวิตได้มาก ในขณะเดียวกัน สำหรับแมวที่โตเต็มวัยแล้ว หรือแม้จะได้รับวัคซีนแล้ว ก็ควรได้รับการเอาใจใส่ที่ดี เพราะหากมีการสัมผัสกับเชื้อในขณะที่ร่างกายมีภาวะการป่วยอื่นเกิดขึ้น หรือเป็นช่วงที่ร่างกายไม่แข็งแรง ก็อาจจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้เช่นกัน
เชื้อไข้หัดแมวสามารถก่อโรคในมนุษย์ ได้หรือไม่
ในปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการศึกษาหรือหลักฐานทางการแพทย์ ที่บ่งชี้ว่าเชื้อ FPV ที่เป็นต้นเหตุของโรคไข้หัดแมวแพร่ไปสู่การเกิดโรคในมนุษย์
วิธีการป้องกันแมวจากโรคไข้หัดแมว
ในปัจจุบันนี้ มีการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการช่วยป้องกันโรคนี้ได้ โดยแนะนำให้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้เมื่อลูกแมวมีอายุ 8 สัปดาห์ และควรมีการฉีดกระตุ้นซ้ำป้องกันโรคนี้ (รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ) ตามกำหนด และต่อเนื่องสม่ำเสมอ
โปรแกรมวัคซีนในสุนัขและแมว ฉีดให้ครบถ้วนเพื่อสุขภาพที่ดี
ถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนจะมีส่วนช่วยในป้องกันโรคได้ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ควรมีการดูแลไม่ให้แมวของเราไปสัมผัสกับไวรัสก่อโรค
โดยการเลี้ยงแมวในแบบระบบปิด ทดแทนการเลี้ยงแบบปล่อย เพื่อลดโอกาสการออกไปสัมผัสกับแมวที่ติดเชื้อนอกบ้าน รวมทั้ง ไม่ควรพาลูกแมวที่ยังไม่ทำวัคซีน หรือเพิ่งเริ่มทำวัคซีนใหม่ ๆ ไปเล่นในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดโรค
ในกรณีที่ต้องพาแมวไปพบสัตวแพทย์ไม่ว่าจะที่โรงพยาบาลสัตว์ใด ๆ ไม่ควรปล่อยแมวของท่านให้วิ่งเล่นตามพื้นโรงพยาบาล แต่ควรใส่ตะกร้า หรืออุ้มไว้ตลอดเวลา เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อที่อาจจะปนเปื้อนตกค้างอยู่บนพื้น
นอกจากนี้ เจ้าของแมวควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแมวตัวอื่นที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีน หรือประวัติการป่วย หรือถ้าจับสัมผัสแล้ว ควรล้างมือให้สะอาด ก่อนจะมาสัมผัสกับแมวในบ้านของเรา
ในกรณีที่นำสมาชิกแมวใหม่เข้าบ้าน ช่วงแรกควรจัดพื้นที่แยกแมวตัวใหม่ออกจากตัวเดิมในสถานที่ที่เหมาะสมเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1-3 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าแมวตัวใหม่ไม่มีโรคติดเชื้อที่อาจจะนำมาแพร่สู่แมวตัวเดิมได้ และควรมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับแมวตัวใหม่
ในกรณีที่มีแมวในฝูงที่ป่วยและแสดงอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นการติดเชื้อไข้หัดแมว ควรมีการแยกแมวป่วยออกจากฝูงทันที และควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
รวมทั้งควรมีการแยกวัสดุเครื่องใช้ กระบะทราย และวัสดุปูรอง ระหว่างของแมวป่วยและแมวปกติออกจากกันอย่างเด็ดขาด และต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม
ในกรณีที่แมวหายจากอาการป่วยแล้ว ก็ควรที่จะต้องมีการแยกเลี้ยงต่อไปก่อนอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากมีรายงานว่าแมวป่วยบางรายสามารถขับเชื้อออกมากับอุจจาระได้นานถึง 6 สัปดาห์หลังจากหายป่วยแล้ว
เชื้อไวรัส FPV ถูกทำลายได้ง่ายโดยน้ำยาฟอกขาว (โซเดียมไฮโปคลอไรท์) ความเข้มข้นร้อยละ 6 น้ำยาฟอร์มัลดีไฮด์ความเข้มข้นร้อยละ 4 กลูตัลดีไฮด์ความเข้มข้นร้อยละ 1 ซึ่งในกรณีที่ต้องการฆ่าเชื้อที่พื้นผิวกรง วัสดุอุปกรณ์ กระบะทราย รวมทั้งวัสดุปูรอง แนะนำให้มีการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฟอกขาวเจือจางกับน้ำในอัตราส่วน 1:30 – 1:32 เพื่อทำลายเชื้อที่ปนเปื้อน
…. ในปัจจุบัน อัตราการป่วยและการเสียชีวิตของแมวจากโรคไข้หัดแมวในเมืองไทยยังสูงมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลการที่เจ้าของยังไม่รู้จักโรคนี้อย่างเพียงพอ ดังนั้น สัตวแพทย์และทีมงานทุกๆ คนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าว่า บทความชุดนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้เจ้าของแมว และผู้รักแมวทุกๆ ท่านได้เรียนรู้ และเข้าใจถึงแนวทางการป้องกันโรคไข้หัดแมว ให้กับแมวของพวกท่านกันได้ดี และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นครับ ….
บทความโดย
อ.น.สพ. เสลภูมิ ไพเราะ (อว. สพ. อายุรศาสตร์)
Selapoom Pairor DVM, MS, DTBVIM
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Department of Companion Animal Clinical Science, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – ต่อมเหม็นของแมว หรือต่อมข้างก้น คืออะไร