ประวัติสายพันธุ์
แมวพันธุ์ สกอตติช โฟลด์ ถือกำเนิดขึ้นในประเทศสก็อตแลนด์ จากคนเลี้ยงแกะที่ชื่อนาย “วิลเลี่ยม รอส” ในปีค.ศ. 1961 โดยนายวิลเลี่ยมพบแมวตัวหนึ่งในโรงนาของเพื่อนบ้านที่มีลักษณะหูพับและมีสีขาวทั้งตัวโดยบังเอิญ ซึ่งแมวตัวนี้เป็นของเพื่อนบ้านของเขาที่ชื่อว่า “ซูซี่” นายวิลเลี่ยมสนใจซูซี่เป็นอย่างมาก เมื่อซูซี่ได้ให้กำเนิดลูกแมวน้อยที่มีลักษณะหูพับเหมือนกัน นายวิลเลี่ยมจึงขอซื้อจากเจ้าของ แล้วนำมาเลี้ยงที่บ้าน โดยตั้งชื่อแมวที่เป็นลูกของซูซี่นี้ว่า “สนู๊กส์” เมื่อโตขึ้นนายวิลเลี่ยมจึงนำมาผสมพันธุ์กับสายพันธุ์ บริติช ชอร์ตแฮร์ จนกลายเป็นต้นกำเนิดของสายพันธุ์นี้
จากนั้นก็เริ่มมีคนสนใจนำแมวที่มีลักษณะหูพับนี้ไปปรับปรุงพันธุ์ จนกระทั่งในปี 1966 ก็ได้มีการตั้งชื่อแมวหูพับนี้ว่า สกอตติช โฟลด์ เพื่อเป็นเกียรติให้กับสถานที่ที่กำเนิดแมวสายพันธุ์นี้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แมวพันธุ์นี้ก็ได้รับการยอมรับในวงกว้างอย่างรวดเร็ว และเป็นหนึ่งในแมวที่มีคนนิยมเลี้ยงมากที่สุดในโลกอีกด้วย
ลักษณะทางกายภาพ
สกอตติช โฟลด์ เป็นแมวขนาดกลาง รูปร่างกะทัดรัด รูปร่างกลม เพศเมียมีน้ำหนักอยู่ราว 2.5-4 กิโลกรัม ในขณะที่เพศผู้มีน้ำหนักได้ถึง 5.8 กิโลกรัม มีจุดเด่นที่ใบหูพับลงไปข้างหน้า และพับลงต่ำ อีกทั้งขนาดของใบหูมีขนาดค่อนข้างเล็ก มีดวงตาที่กลมโตคล้ายนกฮูก หัวค่อนข้างกลม ช่วงคอสั้น และมีจมูกสันโค้งกว้างรับกับดวงตา ซึ่งบางตัวมีปากโค้งได้รูปรับกับคางพอดี จึงเป็นที่มาของ Smiling Cat ส่วนหางจะยาวรับกับขนาดตัว หางเรียวยาว ปลายหางเป็นทรงมน เท้าทั้งสี่ขามีลักษณะกลม
แมวพันธุ์สกอตติช โฟลด์ จัดว่าเป็นแมวที่มีขนาดกลาง มีคอสั้นเมื่อเทียบกับพันธุ์อื่น โดยแต่เดิมแล้วสกอตติช โฟลด์เป็นแมวที่มีขนสีขาวตามแมวที่ชื่อว่าซูซี่ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกมัน แต่ในปัจจุบันสามารถพบได้หลายสี และมีทั้งสกอตติช โฟลด์ขนยาว และขนสั้น ซึ่งเกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์
คำอธิบายจาก The Cat Fanciers Association (CFA) ได้แบ่งสกอตติช โฟลด์เป็นสองสายจากลักษณะของขน คือขนสั้น และขนยาว สำหรับสกอตติช โฟลด์ที่มีขนสั้น จะมีขนที่หนาและนุ่มละเอียด ส่วนสกอตติช โฟลด์ขนยาว ถึงแม้ว่าขนส่วนใหญ่บนลำตัวจะยาว แต่ขนบริเวณใบหน้าและโคนขาจะสั้นกว่าขนบนลำตัว ส่วนสีขนสามารถพบได้หลายสีทั้งในขนสั้น และขนยาว
สีขนที่เป็นที่ยอมรับสำหรับสกอตติช โฟลด์นั้นมีหลากสี และหลายแบบแต่จะต้องมีสีหลักพื้นฐานอย่างน้อยหนึ่งสี เช่น
- สีขาว (White): สีขาวล้วน เป็นสีหนึ่งที่เป็นสีดั้งเดิมของสกอตติช โฟลด์ อุ้งเท้าและจมูกมีชมพู สีดวงตามีได้หลายสี ทั้งสีฟ้า ทองแดง หรือสีทอง
- สีดำ (Black): สีดำล้วน ตลอดจนอุ้งเท้าและจมูกก็มีสีดำเช่นกัน ดวงตาอาจมีสีทองแดง หรือสีทอง
- สีน้ำเงิน (Blue): เป็นสีน้ำเงินล้วนทั้งตัว อาจมีได้หลายเฉดสี รวมทั้งจมูกและอุ้งเท้าก็มีเช่นเดียวกับลำตัว ดวงตาอาจมีสีทองแดง หรือสีทอง
- สีแดง (Red): มีได้หลายเฉดสีตั้งแต่สีแดงอ่อนจนถึงสีแดงเข้ม จมูกและอุ้งเท้าก็มีสีเดียวกับสีขน ส่วนสีดวงตาอาจมีสีสีทองแดง หรือสีทอง
- สีครีม (Cream): เป็นหนึ่งในสีหลักที่ได้รับความนิยมในผู้เลี้ยง โดยเฉพาะสีครีมสว่าง แล้วจะมีจมูกและอุ้งเท้าเป็นสีชมพู
ส่วนดวงตาอามีสีเดียวกับสีขน หรือสีทอง - สีเทา (Lilac): สีออกอมเทาเป็นสีที่นิยมในผู้เลี้ยงอีกสีหนึ่ง โดยจะมีสีของจมูกและอุ้งเท้าเช่นเดียวกับสีขน และสีดวงตาอาจเป็นสีทองแดง หรือสีทอง
- สีน้ำตาลไหม้ (Cinnamon): สีน้ำตาลแดงอ่อน อาจมีสีของจมูกและอุ้งเท้าเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม
- สีน้ำตาลแกมเหลืองหรือสีลูกวัว (Fawn) : เป็นสีเหลืองทองและมีสีดำปกคลุมทั้วทั้งตัว จมูกและอุ้งเท้าอาจมีเฉดสีอ่อนกว่า
อายุขัย
สกอตติช โฟลด์มักมีอายุประมาณ 8-15 ปี หรือมากกว่านั้น
ลักษณะนิสัย
สกอตติช โฟลด์มักมีนิสัยที่สุภาพ ฉลาด และมีนิสัยว่านอนสอนง่าย อีกทั้งยังสามารถปรับตัวได้ดี ยิ่งไปกว่านั้น สกอตติช โฟลด์เป็นแมวที่ชอบแสดงความรักมาก พวกมันติดเจ้าของมาก แต่ก็จะไม่รบกวนหรือทำให้รำคาญ
อย่างไรก็ตาม แมวพันธุ์นี้ก็เหมือนกับแมวพันธุ์อื่น ๆ ตรงที่มักเพลิดเพลินกับการเล่น และสามารถตอบสนองต่อการฝึกได้ดี
การเข้ากับเด็ก
พวกมันเข้ากับเด็ก ๆ ได้ดี เหมาะกับครอบครัว อีกทั้งยังเหมาะกับครอบครัวที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่แล้ว พวกมันเหมาะจะเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว เพราะความปรับตัวได้ดี พวกมันมักชอบเรียกร้องความสนใจจากเด็ก ๆ อย่างมาก จะพยายามเข้าไปเล่น หรือคลอเคลียตลอดเวลา และจะไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวทำร้ายเด็ก ๆ
การดูแล
การออกกำลังกาย
การเลี้ยงแมวพันธุ์สกอตติช โฟลด์ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายมาก เป็นแมวที่ออกกำลังกายปานกลางพวกมันจะชอบที่จะเล่นกับเจ้าของ รักที่จะได้อยู่ใกล้ ๆ เจ้าของ
กิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้แมวออกกำลังกาย เช่น การเล่นปาบอล จะช่วยให้แมวได้ใช้พลังงานบ้าง อีกทั้งการเล่นของพวกมันยังเป็นการพัฒนาสมองอีกด้วย
อาหาร
การให้อาหารที่จำเป็นสำหรับสกอตติช โฟลด์ ควรมีสัดส่วนที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย และกิจกรรมในแต่ละวันของแมว โดยปริมาณแคลอรี่ที่แนะนำต่อวันในแมวคือ 60-80 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หากให้มากจนเกินไปอาจเสี่ยงเกิดโรคอ้วนได้
โรคประจำพันธุ์
- โรคผิวหนัง
- การติดเชื้อที่หู (Ear Infection)
- โรคระบบประสาท
- โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก หรือเกิดจากบาดแผลทางใจ (Separation Anxiety Disorder)
- โรคระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy : HCM)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Dilated Cardiomyopathy : DCM)
- โรคระบบโครงกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้าง
- โรคทางพันธุกรรมเดี่ยวกับการเจริญผิดปกติของกระดูก (Osteochondrodysplasic)
- โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
- ภาวะหลอดเลือดดำที่ตับลัดเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด (Portosystemic Shunts : PSS)
- โรคระบบทางเดินปัสสาวะและไต
- โรคทางเดินปัสสาวะส่วนล่างของแมว (Feline Lower Urinary Tract Disease : FLUTD)
เรื่อง : ชนิฏฐา กล้าแข็ง