แมวมีภาวะไขมันพอกตับ เหมือนในมนุษย์ ได้หรือไม่

เราอาจเคยได้ยินมาบ้าง เกี่ยวกับภาวะไขมันพอกตับในมนุษย์ แล้วในทางฝั่งลูกรักขนฟูของเรา แมวมีภาวะไขมันพอกตับ ได้หรือไม่

คำตอบคือ ได้ค่ะ! แมวมีภาวะไขมันพอกตับ ได้เช่นเดียวกันกับมนุษย์

ภาวะไขมันพอกตับในแมว หรือภาวะที่ตับสะสมไขมันสูงกว่าปกติ (Hepatic lipidosis) เป็นภาวะโรคตับที่พบได้บ่อยในแมว ทำให้เกิดภาวะดีซ่าน ตัวเหลือง ตับวาย และเสียชีวิตได้

โดยส่วนใหญ่ มักพบในแมวที่มีน้ำหนักเกิน หรือแมวอ้วน ที่มีอาการเบื่ออาหาร หรือไม่กินอาหารนานหลายวัน ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการป่วยโรคอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความไม่อยากกินอาหาร สำหรับในแมวที่มีน่ำหนักตัวปกติ ก็สามารถเกิดภาวะไขมันพอกตับได้เช่นกัน

แมวมีภาวะไขมันพอกตับ

สาเหตุของเกิดภาวะไขมันพอกตับในแมว

โรคไขมันพอกตับในแมวเกิดจากสะสมเซลล์ไขมันจำนวนมากในตับ โดยเซลล์ตับจะถูกแทนที่ด้วยไตรกลีเซอร์ไรด์มากกว่าร้อยละ 50 ของน้ำหนักตับทั้งหมด ส่งผลให้การทำงานของเซลล์ตับลดล งและแสดงความรุนแรงของโรคขึ้นภายหลัง อีกหนึ่งสาเหตุเกิดในแมวที่มีภาวะอดอาหารจะทำให้เกิดการสลายเนื้อเยื่อไขมัน และเกิดไตรกลีเซอร์ไรด์สะสมแทรกในเนื้อตับ

อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลัก ๆ มักมาจากโรคอ้วน (Obesity) เนื่องจากการกินอาหารที่มีระดับไขมันหรือโปรตีนสูงเป็นประจำเป็น ซึ่งอาจได้รับสารอาหารมากเกินความต้องการของร่างกายทำให้ร่างกายมีพลังงานส่วนเกิน และเกิดการสะสมไตรกลีเซอร์ไรด์ในเนื้อตับ

นอกจากนี้ เมื่อระดับไขมันในเลือดสูง จะส่งผลให้ฮอร์โมนอินซูลินทำงานผิดปกติ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานตามมาอีกด้วย ส่วนปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้เกิดไขมันพอกตับ เช่น การได้รับสารอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดสารอาหาร โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease) และการได้รับสารพิษที่มีผลต่อตับ เป็นต้น

อาการของแมวที่มีภาวะไขมันพอกตับ

  • เบื่ออาหาร มีช่วงเวลาที่เบื่ออาหารยาวนานมากกว่า 2 สัปดาห์ หรือถ้าในแมวบางรายเช่นแมวอ้วน ขาดอาหารระยะเวลาสั้นๆ 48-72 ชั่วโมง อาจแสดงอาการได้
  • น้ำหนักตัวลดลง โดยเฉลี่ยมากกว่า 25% ของน้ำหนักตัวปกติ
  • มีภาวะดีซ่าน ตัวเหลือง เยื่อเมือกเหลือง
  • อ่อนแรง ซึม
  • อาเจียน คลื่นไส้
  • ถ่ายเหลว หรืออาจมีภาวะท้องผูกได้
  • มีภาวะแห้งน้ำรุนแรง
  • มีอาการน้ำลายไหลมาก
  • ในบางรายอาจมีอาการชัก มีความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือดจากภาวะตับวาย

การตรวจวินิจฉัย แมวมีภาวะไขมันพอกตับ

  • การตรวจวินิจฉัยทางโลหิตวิทยา มักจะพบค่าเอนไซม์ตับผิดปกติ พบภาวะ Hyperbilirubinemia และอาจพบภาวะโลหิตจางร่วมด้วย
  • การตรวจปัสสาวะพบบิลิรูบินในปัสสาวะ
  • การอัลตร้าซาวด์อวัยวะบริเวณท้องจะมีความไวและจำเพาะ ช่วยในการวินิจฉัยภาวะนี้ได้
  • การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อตับ (Liver biopsy) เพื่อตรวจเนื้อเยื่อตับทางพยาธิวิทยา เป็นการวินิจฉัยขั้นสุดเพื่อยืนยันภาวะไขมันพอกตับ
แมวอ้วน, แมวเป็นไขมันพอกตับ, ไขัมนพอกตับในแมว, แมวมีภาวะไขมันพอกตับ

แนวทางการรักษาแมวที่มีภาวะไขมันพอกตับ

การรักษาแมวที่ป่วยด้วยภาวะไขมันพอกตับ ต้องตรวจวินิจฉัยโรคที่ทำให้แมวเกิดภาวะไม่อยากอาหาร และรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุร่วมด้วย เพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำ

การรักษาด้วยการให้สารน้ำ (fluid therapy) เพื่อทำให้ร่างกายกลับเข้าสู่สภาวะไม่ขาดน้ำเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งอาจมีความจำเป็นที่จะต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือด การให้ยาลดอาการคลื่นไส้ การแก้ไขภาวะเสียสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย

จากนั้น จัดการเรื่องอาหารให้แมวกลับมากินอาหารด้วยการป้อน หรือบางรายอาจจะต้องให้อาหารผ่านท่อที่สอดจากจมูกสู่กระเพาะอาหาร (Nasogastric tube) โดยสัตวแพทย์จะคำนวณปริมาณอาหารที่เหมาะสมในการเริ่มกลับมาให้อาหาร เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับอาหารมากไปหลังอดอาหารมาเป็นระยะเวลานาน

การรักษาต้องทำร่วมกับการใช้โภชนบำบัด การเสริมวิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อช่วยปกป้องเซลล์ตับ ภาวะไขมันพอกตับสามารถรักษาได้หากตรวจพบเร็ว และจัดการสาเหตุที่เป็นต้นตอของการเกิดภาวะนี้ อัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 50-85 แต่ในรายที่รุนแรงก็สามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ดังนั้น การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา เราจึงควรจัดสรรอาหารให้พอดีกับความต้องการของแมว ถ้าพบว่าแมวของเรามีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเกิน สามารถปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อวางแผนเรื่องการจัดโภชนาการร่วมกันได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีปริมาณไขมันสูงเกินไป

บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – แมวอ้วน ไม่ได้น่ารักอย่างที่คิด กับปัญหาสุขภาพที่ตามมา