โรคโลหิตจางในแมว เนื่องจากภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดงตนเอง 

โรคโลหิตจางในแมว เนื่องจากภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดงตนเอง (Feline immune-mediated hemolytic anemia, IMHA ) เป็นโรคที่มีความรุนแรง และเป็นสาเหตุที่ทำให้แมวเสียชีวิตได้ 

โรคโลหิตจางในแมว เนื่องจากภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดงตนเอง เป็นความผิดปกดิของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายแมว ทำให้เม็ดเลือดแดงในระบบไหลเวียนโลหิตถูกทำลายมากผิดปกติ และเกิดภาวะโลหิตจางรุนแรง

แมวที่ป่วยด้วยโรคนี้ต้องได้รับการดูแล และวินิจฉัย อย่างทันท่วงที วันนี้ หมอจะพามาทำความรู้จักกับโรคนี้เพื่อเรียนรู้สาเหตุ การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค IMHA กันนะคะ

สาเหตุของโรค โลหิตจางในแมว

โรคโลหิตจางในแมวคือ ภาวะที่เซลล์เม็ดเลือดแดง (Red blood cells , RBC) มีปริมาณน้อยกว่าปกติ หรือมีค่า hematocrit (Hct) น้อยกว่า 27% 

หน้าที่และบทบาทสำคัญของเซลล์เม็ดเลือดแดง คือ การลำเลียงออกซิเจนจากปอด ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยอาศัยเฮโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเซลล์เม็ดเลือดแดง เป็นตัวนำออกซิเจนเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ

ดังนั้น ถ้าแมวเกิดภาวะโลหิตจาง นั่นหมายความว่า ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยลง ผลที่ตามมาคือ ปริมาณออกซิเจนที่ถูกลำเลียงไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ก็ลดลงตามไปด้วย  ในกรณีที่ปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลงอย่างรุรแรง อาจส่งผลให้แมวเสียชีวิตได้ 

ภาวะโลหิตจางเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งเกิดจากการเสียเลือด เช่น มีบาดแผลบาดเจ็บทางร่างกาย  และเกิดจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย เช่น การติดเชื้อ การได้รับสารพิษ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน    หรือเกิดจากความผิดปกติของกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง เป็นต้น

โรคโลหิตจางในแมว, แมวป่วย, แมวเหงือกซีด,

โรคโลหิตจางในแมว เนื่องจากภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดงตนเอง คืออะไร

โรคโลหิตจางที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย โดยความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือ Immune-mediated hemolytic anemia  มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า IMHA 

IMHA เป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของแมวของไม่สามารถจดจำเซลล์ของตัวเองได้ และมองว่าเซลล์เม็ดเลือดแดงเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกปลอมต่อร่างกาย 

ระบบภูมิคุ้มกันจึงสร้างแอนติบอดีขึ้นมาจับกับสารก่อภูมิต้านทานบนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดง เพราะระบบภูมิคุ้มกันระบุว่า เม็ดเลือดแดงเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ต้องกำจัดทิ้ง เมื่อเซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง  

สัญญาณอาการของ โรคโลหิตจางในแมว 

  • มีอาการอ่อนแรง เพลีย เหนื่อยหอบง่าย
  • สีเยื่อเมือกซีด  เหงือกซีด หรือ มีภาวะดีซ่าน ผิวหนัง และเยื่อเมือกมีสีเหลือง
  • ซึม เบื่ออาหาร
  • มีปัสสาวะสีน้ำตาล หรือสีแดงส้ม
  • อุจจาระมีสีดำ
  • หัวใจเต้นเร็วจนผิดปกติ หายใจหอบ
  • มีไข้
  • มีความดันต่ำ บางรายอาจหมดสติ

สาเหตุของการเกิดโรค IMHA

ภาวะโลหิตจาง เนื่องจากภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดงตนเอง สามารถแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 

แบบปฐมภูมิ ( Primary IMHA) หรือ  Autoimmune IMHA เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งพบได้บ่อยประมาณร้อยละ 60-75 ของภาวะ IMHA ในแมว

แบบทุติยภูมิ (Secondary IMHA) เป็นภาวะโลหิตจางที่สามารถหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดความผิดปกติได้  มีการเหนี่ยวนำจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสลิวคีเมีย  การติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด Mycoplasma haemofelis การได้รับสารพิษหรือสารเคมี  ปฏิกิริยาการตอบสนองจากการได้รับยาบางชนิดหรือวัคซีน การติดเชื้อแบคทีเรีย และ โรคมะเร็ง เป็นต้น

โรคโลหิตจางในแมว, แมวป่วย, แมวเหงือกซีด,

การตรวจวินิจฉัยโรค IMHA

การวินิจฉัยโรคนี้ทำได้โดย 

  • กาารตรวจเลือด และผลเลือดจะแสดงภาวะ โลหิตจาง (Anemia) ซึ่งค่าเม็ดเลือดแดงลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว  และพบภาวะการทำลายเม็ดเลือดจากระบบภูมิคุ้มกัน โดยจะพบการตกตะกอนของเลือด
  • การตรวจหาภูมิคุ้มกันบนผิวเม็ดเลือดแดง (direct agglutination test) โดยให้ผลเป็นบวก (positive)
  • การวิเคราะห์ฮีโมโกลบินในปัสสาวะ
  • ตรวจค่าโลหิตวิทยา ค่าเคมีทางเลือด
  • ตรวจหาการติดเชื้อของโรคต่าง ๆ เช่น การตรวจไวรัสเอดส์แมว และลิวคีเมีย หรือการตรวจพยาธิเม็ดเลือด เป็นต้น
  • การทำอัลตร้าซาวน์ และรังสีวินิจฉัย เพื่อประเมินสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย

การรักษา และวิธีป้องกันการเกิดโรค IMHA ในแมว

การรักษาจะใช้ยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพื่อหยุดการทำลายของเม็ดเลือดแดง เช่น prednisolone , dexamethasone , cyclosporin เป็นต้น 

ควบคู๋ไปกับการรักษาแก้ไขสาเหตุที่เหนี่ยวนำทำให้เกิดโรค เช่น หากมีการติดเชื้อพยาธิในเม็ดเลือดจะต้องให้ยาที่คุมการติดเชื้อพยาธิในเม็ดเลือด 

สำหรับการถ่ายเลือดในกรณีที่มีภาวะ IMHA สัตวแพทย์จะประเมิณความจำเป็น และความเสี่ยง เนื่องจากต้องระมัดระวังเพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันไวเกิน และอาจเกิดปฏิกิริยาจากการถ่ายเลือด ส่วนการรักษาในด้านอื่น ๆ จะเป็นการรักษาตามอาการ และประคับประคองอาการ  

สำหรับโรค IMHA เป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันการเกิดได้  แต่เราอาจจะลดความเสี่ยงของสาเหตุที่จะเหนี่ยวนำทำให้เกิดโรคได้ เช่น การป้องกันปรสิตภายนอก อย่างเห็บและหมัด ที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคพยาธิเม็ดเลือด   การเลี้ยงแมวระบบปิด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสลิวคีเมีย และเอดส์แมว การป้องกันไม่ให้แมวได้รับสารพิษ หรือสารเคมี ซึ่งการป้องกันเหล่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรค  IMHA ได้ 

บทความโดย

สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์

สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – โรคลิวคีเมียในแมว รู้วิธีดูแลก่อน ป้องกันได้