แมวท้องเสีย จากการติดเชื้อโปรโตซัว

แมวท้องเสีย เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพของแมวที่มักพบได้ค่อนข้างบ่อย และสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร วันนี้ เราจะมาทราบถึงอาการท้องเสียในแมว ที่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวกันค่ะ

แมวท้องเสีย จากการติดเชื้อโปรโตในทางเดินอาหาร

หนึ่งในสาเหตุ แมวท้องเสีย ที่พบได้บ่อยคือ การติดเชื้อโปรโตซัว (Protozoa) หรือเชื้อบิด โปรโตซัวเป็นปรสิตชนิดหนึ่ง ที่ติดเข้าสู่ภายในร่างกายของแมว และอาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร บริเวณลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่

เมื่อโปรโตซัวก่อโรคเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร จะก่อให้เกิดอาการความผิดปกด้านสุขภาพตามมา เช่น ถ่ายเหลว และอาเจียน เป็นต้น เชื้อโปรโตซัวสำคัญที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหารของแมวคือ เชื้อไกอาร์เดีย (Giardia) เชื้อทริโคโมแนส (Trichomonas) และเชื้อคอคซิเดีย (Coccidia) เป็นต้น เชื้อโปรโตซัวบางชนิดสามารถติดต่อสู่คนได้เช่น เชื้อไกอาร์เดีย (Giardia) ทำให้คนเกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน

อาการความผิดปกติที่แสดงออกเมื่อมีอาการติดเชื้อ

ในขณะที่ โปรโตซัวเข้าไปอาศัยอยู่ในผนังของลำไส้ของแมว เชื้อจะเจริญขึ้นโดยการแบ่งตัว และทำลายบริเวณผนังลำไส้ ทำให้เอนไซม์ชนิดต่าง ๆ ในลำไส้ทำงานผิดปกติ จากนั้นสส่งผลต่อเนื่องไปถึงเรื่องการย่อย และดูดซึมอาหาร

แมวที่ติดเชื้อโปรโตซัว แมวจะเริ่มแสดงอาการความผิดปกติหลังจากได้รับเชื้อในช่วงประมาณ 3-10 วัน โดยจะถ่ายเหลว ท้องเสีย ลักษณะอุจจาระอาจมีสีเหลืองอ่อน มีมูกเลือดปน หรือมีไขมันปน และมีกลิ่นเหม็น เป้นต้น

การติดเชื้อที่รุนแรงจะทำให้เกิดการถ่ายเหลวหนัก อาเจียน ซึม เบื่ออาหาร และมีภาวะแห้งน้ำได้ การติดเชื้อแบบเรื้อรังจะทำให้แมวมีอาการถ่ายเหลวเรื้อรัง น้ำหนักลด และในแมวบางรายอาจมีการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการแต่เป็นพาหะในการปล่อยเชื้อผ่านทางอุจจาระไปสู่แมวตัวอื่นได้

แมวท้องเสีย, อาการแมวท้องเสีย, แมวท้องเสียรักษา,

การติดต่อในแมว

แมวที่มีเชื้อโปรโตซัวจะปล่อยซีสต์ (Cyst) ปนออกมากับอุจจาระ และซีสต์สามารถอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมได้เป็นหลายสัปดาห์ถึงหนึ่งเดือน ส่วนใหญ่ การติดต่อเกิดจากการสัมผัสกับอุจจาระของแมวที่ติดเชื้อ แล้วเลียหรือกินเข้าไปทางปากเข้าสู่ทางเดินอาหาร หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อม เช่น ในแหล่งน้ำ ชามอาหาร และพื้นหญ้าที่มีซีสต์ของโปรโตซัวปนเปื้อนอยู่ เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัย และการรักษา

การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการซักประวัติ ซึ่งอาการที่เด่นชัด คือการถ่ายเหลว การตรวจร่างกาย และเก็บตัวอย่างอุจจาระ เพื่อตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติกา รเช่น การส่องตรวจอุจจาระเบื้องต้นด้วยกล้องจุลทรรศน์ การตรวจหาเชื้อโปรโตซัวด้วยชุดตรวจทสอบ (test kit) และการส่งอุจจาระตรวจหาเชื้อด้วยวิธีพีซีอาร์ เป็นต้น

การรักษาการติดเชื้อจะทำโดยการให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโปรโซตัว ใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 7-14 วัน อาจร่วมกับการให้ยาถ่ายพยาธิ และการรักษาตามอาการ เช่น การให้สารน้ำในรายที่มีภาวะขาดน้ำ ให้ยาลดกรด ลดอาการคลื่นไส้ในรายที่มีอาการอาเจียน เสริมอิเล็กโทรไลต์ในรายที่มีการเสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย อาจร่วมกับการโภชนบำบัดปรับให้อาหารที่ย่อยง่ายร่วมด้วย

การป้องกันการติดเชื้อ

เจ้าของแมวควรหมั่นรักษาความสะอาดบริเวณที่ขับถ่าย และกะบะทรายของแมว เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโปรโตซัวจากสิ่งแวดล้อมและลดการติดต่อ ทำความสะอาดชามน้ำ ชามอาหารอย่างเป็นประจำเพื่อลดการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม

หากสัตว์เลี้ยงออกไปเดินในบริเวณนอกบ้านควรเช็ดทำความสะอาดตัวสัตว์ เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอุจจาระของแมวป่วย และหากมีแมวป่วยจะต้องแยกออกจากแมวตัวอื่น แยกกระบะทรายและของใช้ต่าง ๆ เพื่อลดโอกาสการติดต่อสู่กัน และทำความสะอาดบริเวณที่แมวอยู่อาศัย เพื่อลดการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม

บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – แมวน้ำหนักลด เกิดจากโรคอะไรได้บ้าง