ช่วงเวลาที่เราได้รับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เข้าบ้านนำมาซึ่งหลากหลายอารมณ์ ทั้งตื่นเต้น ดีใจ และรู้สึกเติมเต็ม อย่างไรก็ตาม เจ้าของมือใหม่บางท่านอาจเกิดความรู้สึกในเชิงลบขึ้นมาได้ อย่างอาการ New-Pet Blue หรือภาวะวิตกกังวลหลังจากรับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เข้าบ้าน
สัตวแพทย์และนักจิตวิทยา กล่าวว่า ความรู้สึกดีหรือไม่ดีที่เกิดขึ้นหลังรับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เข้าบ้าน มีปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ ฮอร์โมนที่ชื่อว่า ออกซิโทซิน (Oxytocin) จะหลั่งออกมาเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิต เพื่อทำให้เราเกิดความรู้สึกดีและผูกพัน ในทางกลับกัน เจ้าของสัตว์เลี้ยงมือใหม่ อาจเกิดอารมรณ์ในเชิงลบ หรือที่เรียกว่า New-Pet Blue หรือภาวะซึมเศร้าหลังจากรับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เข้าบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรับสัตว์เลี้ยงในวัยเด็กที่สุขภาพยังไม่แข็งแรงเต็มที่ หรือรับอุปการะสัตว์เลี้ยงที่ร่างกายอ่อนแอ หรือเคยถูกทำร้ายมาก่อน

ภาวะ New-Pet Blue หรืออาการซึมเศร้าหลังจากได้รับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ คืออะไร
อาการซึมเศร้าหลังจากได้รับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ ยังไม่มีชื่อเรียกในภาษาไทยอย่างเป็นทางการ เป็นคำที่ใช้เรียกปฏิกิริยาทางอารมณ์ต่าง ๆ เช่น รู้สึกเครียด วิตกกังวล เศร้า และบางครั้งรู้สึกเสียใจที่ได้รับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ ซึ่งเป็นภาวะทีเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและกินเวลาไม่นาน แม้ว่าก่อนหน้านี้ เราได้ตั้งตารอที่จะดูแลสัตว์เลี้ยงตัวใหม่อย่างใจจดใจจ่อก็ตาม
นายแพทย์ไมเคิล เคน หัวหน้าฝ่ายการแพทย์และจิตแพทย์ ศูนย์ฟื้นฟูอินเดียนา สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า พ่อแม่สัตว์เลี้ยงมือใหม่จะเกิดความรู้ไม่ต่างจากการนั่งรถไฟเหาะ บางครั้งอาจเกิดความรู้สึกเศร้าอย่างมาก บางท่านตั้งคำถามกับตัวเองว่า การตัดสินใจครั้งนี้ถูกต้องหรือไม่ หรือบางรายอาจรู้สึกว่า ตัวเองไม่เหมาะกับการดูแลสัตว์เลี้ยงที่รับมาเลย
ไมเคิลอธิบายว่า เนื่องจากการรับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ เป็นช่วงเวลาเริ่มต้นที่เราได้มีปฏิสัมพันธ์ใหม่กับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย การเกิดความสงสัยในตัวเอง หรือรู้สึกวิตกกังวล จึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัยที่จะทำให้ผ่านช่วงนี้ไปได้คือ การตระหนักและจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นด้วยการสร้างสายสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ให้ได้
สัญญาณที่บอกว่า เรากำลังเผชิญภาวะซึมเศร้าหลังจากได้รับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่
ดารทำความเข้าใจกับอารมณ์ของตัวเองจะช่วยให้เราจัดการกับความรู้เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแสดงออกของอาการเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่มีสัญญาณทั่วไปที่บ่งชี้ได้ว่า เรากำลังตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังจากได้รับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่
1. รู้สึกเหนื่อยล้าอย่างหนัก
เมื่อเราได้ดูแลสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ เราอาจรู้สึกเหนื่อยล้าที่ต้องทำกิจวัตรประจำวันเพิ่มเติม เช่น การพาสุนัขออกไปขับถ่ายตั้งแต่เช้าตรู่ หรือต้องตื่นมาให้อาหารในยามเช้า อย่างไรก็ตาม นอกจากต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตประวันแล้ว บางท่านยังรู้สึกเหนื่อยล้าทางใจด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เพลิดเพลินกับการใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่
2. ความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่อง
ความรู้สึกกังวลตลอดเวลาเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ ทั้งเรื่องสุขภาพ พฤติกรรม และความเป็นอยู่โดยรวมของสัตว์เลี้ยง อาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าในช่วงแรกที่รับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เข้าบ้าน โดยส่วนใหญ่ คุณพ่อคุณแม่มักจะกังวลว่า เราจะเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงได้ดีพอ และจะเป็นพ่อแม่สัตว์เลี้ยงที่ดี ได้หรือไม่

3. ความรู้สึกเสียใจหรือสงสัย
ความเสียใจ หรือความสงสัย ในการตัดสินใจของตัวเองที่รับลูกสัตว์เลี้ยงเข้ามา โดยเฉพาะเมื่อต้องคิดถึงความท้าทายเรื่องการฝึกพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง ถือเป็นสัญญาณชัดเจนอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ถึงภาวะซีมเศร้าหลังจากมีสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ แม้ว่าการรู้สึกเสียใจเป็นครั้งคราวจะถือเป็นเรื่องปกติ แต่การรู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจ หรือแม้แต่การพิจารณาปล่อยทิ้งสัตว์เลี้ยงตัวใหม่อาจไม่ใช่เรื่องที่ปกติ
4. ความหงุดหงิด และอารมณ์แปรปรวน
ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ กับลูกสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ อาจทำให้เราหงุดหงิด หรือโกรธมากกว่าปกติ เช่น เราอาจพบว่าตัวเองหงุดหงิดกับการขับถ่ายไม่เป็นที่ของลูกสัตว์เลี้ยง และเราก็รู้สึกแย่กับตัวเองที่โกรธ หรือหงุดหงิดกับเรื่องพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง
5. การปลึกตัวออกจากสังคม
หากเราปฏิเสธคำเชิญที่จะออกไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ รู้สึกลังเลที่จะใช้เวลานอกบ้านเพราะสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่หลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงของคุณกับคนที่คุณรัก นี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าหลังรับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ได้
6. อาการเศร้าหรือซึมเศร้า
ความรู้สึกเศร้าผิดปกติ หรือมีอาการคล้ายกับซึมเศร้า เช่น ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบทำ อาจบ่งบอกว่า เรากำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหลังรับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ โดยภาวะนี้อาจพัฒนาไปสู่ความเครียดเรื้อรังได้
ถ้าเราพบว่าตัวเองกำลังเผชิญกับความรู้สึกเหล่านี้ ขอให้เข้าใจว่า ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเพียงอาการชั่วคราว และสามารถจัดการได้ เจ้าของมือใหม่แทบทุกคนผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ และในที่สุดเราก็จะสามารถก้าวข้ามผ่านความรู้สึกไม่ดีไปได้
การรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังจากรับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่
ดร.เปาลา กูเอวาส สัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ และนักบำบัดพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง จาก Dogster.com กล่าวว่า บางคนรู้สึกผิดและโทษตัวเอง ที่รับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เข้าบ้าน และจมอยู่กับความรู้สึกนั้นจนเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว
เธอแนะนำว่า ในช่วงนี้ เจ้าของมือใหม่ควรเสริมสร้างแรงจูงใจเชิงบวกให้กับตัวเอง และมุ่งความสนใจในการฝึกสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ การพัฒนาความสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงในรูปแบบนี้ จะช่วยเสริมสร้างความผูกพัน และสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จดบันทึกความเปลี่ยนแปลงระหว่างเรากับสัตว์เลี้ยง เพื่อให้เรามองเห็นการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งอาจช่วยสร้างความแตกต่างทางความรู้สึกได้

เทคนิคเหล่านี้คือการรับมือกับความรู้สึกเชิงลบอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่
- ขั้นแรก เราต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่า ไม่มีสัตว์เลี้ยงตัวไหนสมบูรณ์แบบ ดังนั้น การฝึกฝนพวกเขาต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง เจ้าของควรตั้งเป้าหมายอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เพื่อไม่ให้รู้สึกหงุดหงิด หรือรู้สึกว่า เราฝึกสัตว์เลี้ยงไม่สำเร็จ
- จากนั้น สร้างกิจวัตรประจำวันที่ช่วยส่งเสริมให้สัตว์เลี้ยงได้เติบโตตามวัย โดยการปรึกษาสัตวแพทย์เกี่ยวกับเรื่องโภชนาการ การออกกำลังกาย และจัดการเวลาเล่น รวมถึงการเข้านอน ให้สอดคล้องกับสัตว์เลี้ยงและตัวของเรา
- คุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจเข้าร่วมเป็นสมาชิกทั้งแบบออนไลน์ และพบกันในที่สาธารณะ ของสังคมเจ้าของสัตว์เลี้ยงสายพันธุ์เดียวกันได้ เนื่องจาก เจ้าของที่เลี้ยงสัตว์สายพันธุ์เดียวกัน หรือมีประสบการณ์เลี้ยงสัตว์มาก่อนเรา มักจะเข้าอกเข้าใจกัน และสามารถให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลได้ดีเช่นกัน
- ถ้าเรารู้สึกเหนื่อยล้าเกินไปกับการดูแลสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ เราสามารถหาเวลาพักเพื่อไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่เราชื่นชอบได้สักสองสามชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด ที่ไม่ได้ดูแลพวกเขาทั้งวัน
โดยสรุปแล้ว สัตวแพทย์ด้านพฤติกรรมส่วนใหญ่แนะนำว่า เราสามารถเรียนรู้การเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงไปพร้อม ๆ กับการเจริญเติบโตของพวกเขาได้ ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงตัวใหม่อย่างสมบูรณ์แบบในช่วงแรก และสิ่งสำคัญ คือ การเรียนรู้ที่จะปรับตัวไปตามสถานการณ์ ปรึกษาผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน และอย่าลืมดูแลตัวเอง แบ่งเวลาดูแลสัตว์เลี้ยง และพักผ่อนอย่างเพียงพอ
บทความโดย
ณภัทรดนัย
เอกสารอ้างอิง
American Kennel Club – Can Dog Owners Experience the ‘Puppy Blues?’
Very Well Mind – How to Deal With the Puppy Blues
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – สุนัขรับฟังสิ่งที่เราพูด อยู่ตลอดเวลา
