ปัจจุบัน หลายท่านเลี้ยงแมวในระบบปิดมากกว่าหนึ่งตัว และบางครั้งก็ต้องพบเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือ แมวกัดกัน หรือทะเลาะกันจนต่างฝ่ายต่างก็มีบาดแผล ในฐานะเจ้าของเราควรทำอย่างไรเมื่อแมวกัดกันจนเกิดบาดแผล
แมวกัดกัน เพราะอะไร
แมวบ้านเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีพฤติกรรมอย่างหนึ่งคล้ายกับญาติที่เป็นแมวป่า คือ การสร้างอาณาเขต ดังนั้น เมื่อเราเลี้ยงแมวมากกว่าหนึ่งตัวภายในบ้านหลังเดียวกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบเจอกับเหตุการณ์ แมวกัดกัน หรือทะเลาะข่วนกัน จนเกิดบาดแผล
พฤติกรรมการหวงแหนอาณาเขตของแมว ทำให้เกิดการแบ่งพื้นที่ภายในบ้านอย่างชัดเจน โดยเฉพาะแมวที่เคยอยู่ตัวเดียวมาก่อน แล้วมีแมวตัวใหม่เพิ่มขึ้นภายหลัง แมวบางตัวจึงต้องการป้องกันอาณาเขตด้วยการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น การขู่ กัด หรือข่วน เพื่อให้แมวอีกตัวออกไปจากพื้นที่ของตนเอง
ในธรรมชาติ แมวป่าจะสร้างเขตแดนของตนเองด้วยการทิ้งกลิ่นไว้ เมื่อแมวตัวอื่นผ่านเข้ามา หรือได้กลิ่น ก็มักจะเลี่ยงออกไป และไม่พยายามเผชิญหน้ากัน แต่แมวบ้านที่อยู่ในระบบปิดอาจจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าได้ยากกว่าในธรรมชาติ ดังนั้น เมื่อเกิดการเผชิญหน้ากัน การแสดงออกของพฤติกรรมการป้องกันอาณาเขตจึงเกิดขึ้น กลายเป็นสงครามย่อม ๆ ภายในบ้าน
ผลที่ตามมาคือ แมวได้รับบาดแผลทางร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อจนแผลอักเสบ และกลายเป็นหนอง นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อการติดโรคร้ายแรงจะเพิ่มขึ้น ถ้าแมวของเราไปกัดกับแมวจรที่ไม่ได้รับวัคซีน อาจจะนำไปสู่การติดโรคเอดส์แมว และลิวคีเมีย
โดยส่วนใหญ่ เมื่อแมวได้รับบาดเจ็บจากการถูกกัดหรือข่วน บาดแผลมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้า ลำคอ บริเวณขา โคนหาง และก้น ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สร้างความเจ็บปวดได้มาก

ลักษณะบาดแผลแมวกัด และอักเสบจนเกิดฝีหนอง
บาดแผลที่เกิดขึ้นมักจะเป็นแผลเปิด รอยข่วนยาว รอยเล็บจิก รอยแผลเปิดรูเขี้ยวจากการกัด บริเวณบาดแผลอาจมีเลือดซึมออกมา และมักจะพบมากกว่าหนึ่งบาดแผล
แผลที่เกิดการติดเชื้อจะพัฒนากลายเป็นฝีหนองในช่วงตั้งแต่ 2 – 3 วันหลังจากได้รับบาดเจ็บ ในบางราย อาจเกิดรอยเล็บ หรือแผลเล็ก ๆ ที่อาจมองเห็นได้ยาก เจ้าของต้องคอยสังเกตอาการที่แสดงออกต่าง ๆ เหล่านี้
- มีอาการเดิน กระเผลก หรือเจ็บบริเวณที่โดนกัด
- มีอาการบวม ร้อน แดง ตามอวัยวะในร่างกายที่โดนกัด
- เมื่อเราสัมผัสแมวมักแสดงอาการเจ็บ ร้อง เกรี้ยวกราด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราสัมผัสถูกจุดที่เขาบาดเจ็บ
- มีอาการซึม เบื่ออาหาร หลังจากโดนกันกัด
- มีไข้
- มีหนองออกมาจากบริเวณที่เป็นแผล หรือมีกลิ่นเหม็นที่บริเวณบาดแผล
เราควรทำอย่างไรเมื่อแมวถูกกัดจนเป็นแผล
เบื้องต้น ถ้าพบว่าแมวเกิดบาดแผล เจ้าของควรทำความสะอาดแผลเบื้องต้นด้วยการใช้น้ำเกลือล้างบริเวณแผล และจากนั้นพาแมวไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจเช็คตามร่างกายโดยละเอียด และทำแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ในกรณีที่เกิดบาดแผลฝีหนอง สัตวแพทย์จะต้องเจาะระบายหนองที่คั่งอยู่ภายใน ร่วมกับการล้างทำความสะอาดแผล และพิจารณาการให้ยาลดการอักเสบ และยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อ ซึ่งอาจจะต้องส่งเพาะเชื้อจากบาดแผล เพื่อวางแผนการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่อง
ถ้าในกรณีแมวในบ้านของเราไปกัดกับแมวจรข้างนอก หรือแมวที่ไม่ทราบประวัติการรับวัคซีนอย่างชัดเจน สัตวแพทย์อาจจะพิจารณาเรื่องการกระตุ้นวัคซีนพิษสุนัขบ้าตามความเหมาะสม และวางแผนการตรวจติดตามโรคติดเชื้อไวรัส เช่น โรคเอดส์แมว และลิวคีเมีย ซึ่งจะนัดตรวจหาเชื้อตามระยะรอคอยของโรค เนื่องจากในวันที่แมวถูกจัด จะยังไม่สามารถตรวจหาเชื้อพบได้

การป้องกันไม่ให้แมวกัดกัน ย่อมดีกว่าการพาแมวมารักษา
หากเราพบว่า แมวกำลังกัดกัน ให้ใช้ผ้าเช็ดตัวคลุมแมวตัวใดตัวหนึ่ง แล้วดึงแยกออกจากกัน อย่าพยายามใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเข้าไปขัดขวางแมวสองตัวที่กำลังกัดกัน
วิธีการป้องกันไม่ให้แมวกัดกัน ทำได้ง่ายที่สุดคือ การแยกพื้นที่ไม่ให้แมวเจอกัน เช่น แยกห้อง หรือกั้นพื้นที่สำหรับแมวหนึ่งตัว โดยจัดเครื่องใช้พื้นฐานให้แต่ละตัว แยกจานข้าว น้ำ และกระบะทราย ที่ลับเล็บ และที่นอน เพื่อไม่เป็นการกระตุ้นพฤติกรรมหวงแหนอาณาเขต
เจ้าของควรมีเวลาสังเกตพฤติกรรมของแมวแต่ละตัวในบ้าน เนื่องจากแมวแต่ละตัวมีนิสัยที่แตกต่างกัน แมวบางตัวอาจไม่ยอมรวมฝูงกับแมวตัวอื่น เราจำเป็นจัดพื้นที่ให้เขาได้อยู่เพียงตัวเดียว หรือสังเกตสิ่งแวดล้อมโดยรอบว่า อะไรคือสิ่งกระตุ้นพฤติกรรมก้าวร้าวที่นำไปสู่การต่อสู้กัน หากพบแล้ว ควรจัดการกับสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดการกัดกันซ้ำ
ถ้าเราพบว่าแมวกัดกัน เจ้าของควรหลีกเลี่ยงการทำโทษแมวด้วยความรุนแรง เพราะจะยิ่งทำให้พฤติกรรมก้าวร้าวซับซ้อนมากขึ้น และการจัดการปรับพฤติกรรมก็จะทำได้ยากขึ้นตามไปด้วย ในกรณีที่ไม่ทราบว่าจะจัดการอย่างไร เจ้าของควรไปรับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ ด้านพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง เพื่อวางแผนแนวทางการปรับพฤติกรรมอย่างถูกต้อง
บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์
สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – แมวป่า VS. แมวบ้าน
