สุนัข เป็นหนึ่งในสัตว์ที่นิยมเลี้ยงกันค่อนข้างมาก เพราะ มีคุณลักษณะในแง่ของการเป็นเพื่อนไว้ให้พูดคุยแก้เหงา ช่วยให้ผ่อนคลาย คลายเครียด และ มีความสุขเมื่อได้ใช้เวลาร่วมกัน อีกทั้งบางสายพันธุ์ยังสามารถช่วยเฝ้าบ้าน และป้องกันขโมยได้อีกด้วย
แต่ในปัจจุบัน หากใครคิดจะเริ่มเลี้ยงสุนัขแล้วล่ะก็ อย่างหนึ่งที่สำคัญเลยก็คือ ‘ การเลือก ขนาดของสุนัข ’ เพราะว่าสุนัขมีหลากหลายขนาดและมากมายสายพันธุ์ จึงมีความต้องการในการดูแลและที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน วันนี้ บ้านและสวน Pets จึงจะมาแนะนำสุนัขและการเลือกขนาดสุนัขให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่อยู่อาศัยกันครับ
สุนัขพันธุ์จิ๋ว พันธุ์ตุ๊กตา หรือ สุนัขในกลุ่มทอย
ลักษณะ : สุนัขพันธุ์นี้ ถือว่าเป็นสุนัขที่มีขนาดน่ารัก น่าเอ็นดู น่าดูแล และน่าทะนุถนอมเป็นที่สุด สำหรับใครที่อยากเลี้ยงสุนัขที่พาไปไหนมาไหนได้สะดวกแล้วล่ะก็ ต้องขอแนะนำเป็นพันธุ์จิ๋วนี้เลยนะครับ ถึงแม้ว่าจะเป็นสุนัขพันธุ์จิ๋วที่สูงไม่ถึงไม้บรรทัด แต่ก็เป็นพันธุ์สุนัขที่มีทั้งความดื้อและความซนอยู่ในตัวค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
น้ำหนัก : น้ำหนักเมื่อถึงช่วงโตเต็มวัย(10 เดือน) อยู่ที่ต่ำกว่า 4 กก
ช่วงอายุ : ประมาณ 14-16 ปี
พื้นที่สำหรับเลี้ยงดู : ใช้พื้นที่น้อยมากในการเลี้ยงดู และเอาไปไหนมาไหนสะดวก เหมาะกับเลี้ยงในบ้าน คอนโด อพาร์ทเม้นท์ หรือหอพักต่าง ๆ
พลังงานที่ต้องการต่อวัน : อยู่ที่ประมาณ 269-318 แคลอรี
สารอาหารที่ต้องการ : ถึงแม้จะเป็นสุนัขพันธุ์จิ๋ว แต่เมื่อเทียบปริมาณอาหารที่ต้องการกับขนาดตัวแล้ว สุนัขพันธุ์นี้ต้องการสารอาหารมากกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่เสียอีก โดยจะเน้นไปทางอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนเป็นหลัก
สิ่งที่ควรดูแลเป็นพิเศษ : เนื่องจากมีขนาดตัวที่เล็กมาก ควรระมัดระวังเรื่องกระดูกต่าง ๆ รวมถึงฟันในช่องปากอีกด้วย ไม่ควรให้สุนัขกินอาหารที่แข็งหรือชิ้นใหญ่จนเกินไป อีกทั้งยังควรให้อาหารที่ย่อยง่าย เพราะระบบย่อยอาหารจะมีความอ่อนไหวมาก
- ชิวาวา หนัก 1.0-3.0 กก. สูง 15-25 ซม. อายุ 14-18 ปี
- มอลทีส หนัก 1.7-1.9 กก. สูง 22-25 ซม. อายุ 12-14 ปี
- ปอมเมอเรเนียน หนัก 1.7-2.5 กก. สูง 25-28 ซม. อายุ 12-16 ปี
- ชิสุ หนัก 4.0-7.0 กก. สูง 24-26 ซม อายุ 11-14 ปี
- ยอร์คเชียร์ เทอร์เรียร์ หนัก 3.0-5.4 กก. สูง 22-23 ซม. อายุ 10-15 ปี
สุนัขพันธุ์เล็ก
ลักษณะ : สุนัขพันธุ์นี้ ถึงแม้จะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่ากลุ่มสุนัขพันธุ์จิ๋วขึ้นมานิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้ช่วยลดความดื้อและความซนที่มีอยู่ในตัวของสุนัขกลุ่มนี้ได้เลย สำหรับใครที่ต้องการเพื่อนเล่น เพื่อนคุย หรือเพื่อนคลายเหงา ก็ต้องขอแนะนำสุนัขกลุ่มนี้ไปเลย เพราะเขาสามารถวิ่งเล่นกับได้ แล้วแรงก็ไม่ได้เยอะเกินไปจนเรารับมือไม่ไหวอย่างแน่นอน
น้ำหนัก : น้ำหนักเมื่อถึงช่วงโตเต็มวัย(10 เดือน) อยู่ที่ระหว่าง 4-10 กก.
ช่วงอายุ : ประมาณ 14-16 ปี
พื้นที่สำหรับเลี้ยงดู : ใช้พื้นที่เลี้ยงดูมากกว่ากลุ่มของสุนัขพันธุ์จิ๋วเล็กน้อย แต่ยังเหมาะกับเลี้ยงในบ้าน คอนโด อพาร์ทเม้นท์ หรือหอพักต่าง ๆ ได้อยู่
พลังงานที่ต้องการต่อวัน : อยู่ที่ประมาณ 364-534 แคลอรี
สารอาหารที่ต้องการ : ความต้องการจะเน้นไปทางโปรตีน และอาหารที่ให้พลังงานเหมือนกับสุนัขพันธุ์จิ๋วเลย บางสายพันธุ์อาจจะเสริมแคลเซียมเพื่อไปดูแลกระดูกส่วนหลัง เช่น พ็อมโบรค เวล์ช คอร์กี้, ดัชชุน เป็นต้น หรือสามารถให้อาหารที่มีดีเอชเอ เพื่อช่วยพัฒนาสมองและทักษะต่าง ๆ ของสุนัข และอาหารที่มีกลูตามีน เพื่อให้น้องหมาของเราดูดซึมอาหารได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย
สิ่งที่ควรดูแลเป็นพิเศษ : ในบางสายพันธุ์ที่มีขาสั้น น้ำหนักตัวของเขาจะไปกดทับบริเวณข้อกระดูกต่างๆ อาจนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับขาที่เกิดความโก่งหรืองอผิดปกติ วิธีแก้ คือ ไม่ควรให้อาหารในปริมาณที่มากจนเกินไป ซึ่งอาจจะนำไปสู่โรคอ้วนในสุนัข และหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนัก ๆ หรือการกระโดด เพื่อลดการกระทบกระเทือนไปยังส่วนขาและกระดูกสันหลัง
- ปั๊ก หนัก 6-8 กก. สูง 28-31 ซม. อายุ 12-15 ปี
- มินิชเนาเซอร์ หนัก 4.5-8.1 กก. สูง 33.0-35.6 ซม. อายุ 12-14 ปี
- พ็อมโบรค เวล์ช คอร์กี้ หนัก 10.8-12.7 กก. สูง 25.4-30.5 ซม. อายุ 11-13 ปี
- บีเกิ้ล หนัก 8.1-13.6 กก. สูง 33.0-38.1 ซม. อายุ 12-15 ปี
- ดัชชุน หนัก 5.4-14.5 กก. สูง 13.0-23.0 ซม. อายุ 12-14 ปี
สุนัขพันธุ์กลาง
ลักษณะ : สุนัขพันธุ์นี้เป็นขนาดของสุนัขที่ถือว่าพอดิบพอดีมาก ๆ แนะนำว่าใครที่อยากได้สุนัขที่ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป ก็ต้องเลือกเป็นสุนัขกลุ่มนี้เลย โดยมักนิยมเล่นไว้เพื่อความสวยงาม ประกวดแข่งขัน หรือไว้เพื่อเฝ้าบ้าน ซึ่งบางสายพันธุ์ค่อนข้างที่จะเป็นมิตรกับมนุษย์และเด็ก แต่บางสายพันธุ์ก็ไม่ควรให้อยู่ใกล้เด็ก เพราะจะอันตรายเป็นอย่างมาก ฉะนั้น หากบ้านใครมีเด็กเล็ก ก็อาจจะต้องพิจารณาสายพันธุ์อีกทีว่าควรจะเลี้ยงสุนัขพันธุ์กลางสายพันธุ์ไหนดี
น้ำหนัก : น้ำหนักเมื่อถึงช่วงโตเต็มวัย(12 เดือน) อยู่ที่ระหว่าง 11-25 กก.
ช่วงอายุ : ประมาณ 10-12 ปี
พื้นที่สำหรับเลี้ยงดู : ต้องการพื้นที่ในการเลี้ยงดูพอสมควร เหมาะกับเลี้ยงในบ้าน แต่ไม่เหมาะกับคอนโด อพาร์ทเม้นท์ หรือหอพักต่าง ๆ หรืออย่างในบางสายพันธุ์ก็สามารถเลี้ยงไว้นอกบ้านได้
พลังงานที่ต้องการต่อวัน : อยู่ที่ประมาณ 613-1030 แคลอรี
สารอาหารที่ต้องการ : ต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมและสมดุล ซึ่งอาจจะเน้นโปรตีน ลดไขมัน แล้วเสริมด้วยอาหารที่มีแคลเซียม เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง หรืออาหารที่มีฟอสฟอรัส ซึ่งจะไปทำงานร่วมกับแคลเซียมในการเสริมความแข็งแรงของกระดูก
สิ่งที่ควรดูแลเป็นพิเศษ : ควรพาไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะโรคอ้วนจากการนั่งหรือนอนเป็นระยะเวลานานจนเกินไป บริเวณในบ้านหรือนอกบ้านควรมีพื้นที่กว้าง เพื่อให้สุนัขสามารถวิ่งเล่นและออกกำลังกายไปในตัวได้
- ชิบะ อินุ หนัก 9-14 กก. สูง 35-41 ซม. อายุ 12-15 ปี
- ดัลเมเชียน หนัก 20.4-27.2 กก. สูง 48.2-58.4 ซม. อายุ 12-14 ปี
- ไทยบางแก้ว หนัก 13.0-16.0 กก. สูง 43.1-53.3 ซม. อายุ ปี
- ไทยหลังอาน หนัก 15-35 กก. สูง 55.8-66.0 ซม. อายุ 12-13 ปี
- บ๊อกเซอร์ หนัก 22.6-36.2 กก. สูง 55.8-60.9 ซม. อายุ 8-10 ปี
สุนัขพันธุ์ใหญ่
ลักษณะ : สุนัขพันธุ์นี้ ถือเป็นขนาดของสุนัขที่ค่อนข้างใหญ่ และนิยมเลี้ยงไว้นอกบ้านเสียมากกว่า ในด้านของนิสัยและประโยชน์ค่อนข้างที่จะคล้ายกับกลุ่มของสุนัขพันธุ์กลาง คือเลี้ยงไว้เพื่อเฝ้าบ้าน กันโจร หรือเป็นสุนัขตำรวจ
น้ำหนัก :น้ำหนักเมื่อถึงช่วงโตเต็มวัย(15 เดือน) อยู่ที่ระหว่าง 26-44 กก.
พลังงานที่ต้องการต่อวัน : อยู่ที่ประมาณ 1094-1511 แคลอรี
พื้นที่สำหรับเลี้ยงดู : ไม่เหมาะกับเลี้ยงในคอนโด อพาร์ทเม้นท์ หรือหอพักต่างๆ บางสายพันธุ์สามารถเลี้ยงในบ้านได้ แต่บางสายพันธุ์ก็ควรเลี้ยงไว้นอกบ้าน ซึ่งมีพื้นที่ที่กว้างจึงจะดีกว่า
ช่วงอายุ : ประมาณ 9-12 ปี
สารอาหารที่ต้องการ : เนื่องจากมีโครงสร้างทางร่างกายที่ใหญ่และต้องรับน้ำหนักมาก จึงควรให้อาหารที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัส เพื่อเสริมสร้างและบำรุงกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ ให้แข็งแรง และอาหารที่มีวิตามิน D จะจำเป็นต่อกระบวนการควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในสุนัข ทั้งนี้ ควรให้วิตามิน D ในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะหากให้มากเกินไป จะเป็นพิษต่อร่างกายของสุนัขได้
สิ่งที่ควรดูแลเป็นพิเศษ : สุนัขอาจมีปัญหาทางระบบย่อยอาหาร ควรให้อาหารจำพวกโปรตีนที่ย่อยง่ายและได้โปรตีนสูง เช่น ไข่ขาว เนื้อไก่ไม่ติดมัน ถั่วเหลือง ข้าว เป็นต้น
- เยอรมัน เชฟเพิร์ด หนัก 22.0-40.0 กก. สูง 55.8-66.0 ซม. อายุ 10-12 ปี
- โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ หนัก 21.2-31.7 กก. สูง 53.3-60.9 ซม. อายุ 12-14 ปี
- สก็อตติช คอลลี่ หนัก 22.6-27.2 กก. สูง 58.4-63.5 ซม. อายุ 8-12 ปี
- ลีออนเบอร์เกอร์ หนัก 40.8-68.0 กก. สูง 68.5-76.2 ซม. อายุ 8-10 ปี
- ไจแอนด์ อลาสกัน มาลามิวท์ หนัก 34.0-38.5 กก. สูง 58.4-63.5 ซม. อายุ 13-16 ปี
สุนัขพันธุ์ยักษ์
ลักษณะ : สุนัขพันธุ์นี้ มีขนาดที่เรียกได้ว่าแทบจะเทียบเคียงกับเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งได้แล้ว ส่วนใหญ่ ในสมัยก่อนมักเลี้ยงไว้เพื่อเฝ้าสัตว์ ต้อนฝูงแกะ หรือบางสายพันธุ์มีประวัติในอดีตว่าเลี้ยงไว้เพื่อช่วยเหลือมนุษย์อีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็มีวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงที่ต่างจากเดิม เพราะถือว่าเป็นกลุ่มของสุนัขที่มีความสวยงาม จึงเลี้ยงไว้เพื่อประกวด หรือสำหรับใครที่อยากได้สุนัขที่กอดได้เต็มไม้เต็มมือ ก็ต้องเลือกสุนัขพันธุ์ยักษ์นี้อย่างแน่นอน
น้ำหนัก : น้ำหนักเมื่อถึงช่วงโตเต็มวัย(18-24 เดือน) อยู่ที่มากกว่า 45 กก.
พลังงานที่ต้องการต่อวัน : อยู่ที่ประมาณมากกว่า 1511 แคลอรี
พื้นที่สำหรับเลี้ยงดู : ไม่เหมาะกับเลี้ยงในบ้าน คอนโด อพาร์ทเม้นท์ หรือหอพักต่าง ๆ ควรเลี้ยงไว้ในพื้นที่ที่กว้างหรือเลี้ยงไว้นอกบ้าน
ช่วงอายุ : ประมาณ 7-9 ปี
สารอาหารที่ต้องการ : เช่นเดียวกันกับสุนัขพันธุ์ใหญ่ ที่มีโครงสร้างที่ใหญ่และต้องรับน้ำหนักตัวเองที่มากเป็นพิเศษ จึงต้องการอาหารที่มีวิตามิน C และ E แล้วยังต้องการกลูโคซามีนเพื่อช่วยในการสร้างกระดูกอ่อน หรืออย่างคอนดรอยตินที่ช่วยบำรุงข้อต่อให้กลับมาทำงานได้ดีอีกครั้ง
สิ่งที่ควรดูแลเป็นพิเศษ : ปัญหาส่วนมากจะคล้ายกับสุนัขพันธุ์ใหญ่ คือเรื่องของกระดูกและระบบย่อยอาหาร แต่อาจจะมีปัญหาย่อยๆอีก เช่น ปัญหาสุขภาพฟันและขน ปัญหาความเครียดจากการไม่ได้ออกไปเดินเล่นหรือถูกทิ้งไว้คนเดียว ปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักตัว เป็นต้น
- เกรทเดน หนัก 45.3-54.4 กก. สูง 76.2-81.2 ซม. อายุ 6-8 ปี
- ทิเบตัน มาสทีฟฟ์ หนัก 31.7-68.0 กก. สูง 61-72 ซม. อายุ 11-14 ปี
- บูล มาสทีฟฟ์ หนัก 45.3-58.9 กก. สูง 63.5-66.0 ซม. อายุ 8-10 ปี
- เกรท ไพรีนีส หนัก 38.5-49.8 กก. สูง 63.5-81.2 ซม. อายุ 10-12 ปี
- นิวฟาวน์แลนด์ หนัก 45.3-68.0 กก. สูง 66.0-71.1 ซม. อายุ 8-10 ปี
สุนัขแบ่งได้หลายสายพันธุ์ แถมแต่ละสายพันธุ์ก็ยังมีความต้องการทางด้านอาหาร การดูแล หรือแม้แต่พื้นที่เลี้ยงดูที่แตกต่างกันไป เจ้าของเราจึงควรพิจารณาเงื่อนไขต่างๆก็ที่จะรับพวกเขาเข้ามาอยู่ในการเลี้ยงดูนะครับ บางสถานที่อย่างคอนโดหรืออพาร์ทเม้นท์อาจจะไม่อนุญาตให้เราเลี้ยงสัตว์เลี้ยงหรือห้ามส่งเสียงดัง เราก็ควรเคารพกฎของเขา หรือหากเรามีพื้นที่ที่อยู่อาศัยไม่มาก ก็ไม่ควรเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์กลางหรือใหญ่ เพราะจะทำให้เขาไม่สามารถวิ่งเล่นได้ และอาจจะเกิดภาวะเครียด หรือซึมเศร้าตามมา ฉะนั้น เลือกสุนัขพันธุ์ที่ใช่และพอดีกับบริบทของเรา ก็จะทำให้เราและสุนัขอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขนะครับ
story : กิตตินัย ผิวเณร
เข้าใจภาษากายด้วยท่าทางและหางสุนัขบอกอารมณ์
อยากเลี้ยงสุนัข จะเริ่มหาสุนัขจากที่ไหนดี ?