แมวขนสาก และหยาบ พร้อมกับอาเจียนเรื้อรัง แม้ว่ากินอาหารมากแต่น้ำหนักลด น้องอาจกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับตับอ่อน
ขนแมวที่นุ่มสลวยเงางาม เป็นหนึ่งในลักษณะภายนอกที่บ่งบอกว่าแมวมีสุขภาพดี ในทางกลับกัน ถ้า แมวขนสาก เมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกหยาบกระด้าง ร่วมกับมีอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ เช่น อาเจียนเรื้อรัง และน้ำหนักลดทั้ง ๆ ที่กินอาหารมากกว่าปกติ ความผิดปกติทางด้านสุขภาพเหล่านี้ อาจนำไปสู่โรคบางอย่างได้
หนึ่งในโรคที่ทำให้แมวขนสาก หยาบ และมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร คือ โรคตับอ่อนทำงานบกพร่องในแมว หรือ Exocrine Pancreatic Insufficiency (EPI) ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ระบบการย่อย และดูดซึมอาหาร มีประสิทธิภาพลดลง เป็นสาเหตุให้ร่างกายของแมวได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
สาเหตุการเกิด EPI ที่พบได้บ่อยในแมว
- เซลล์ตับอ่อนฝ่อ (Pancreatic acinar atrophy) เป็นการตอบสนองอย่างผิดปกติของเซลล์ตับอ่อนต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแมว
- ภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (Chronic pancreatitis)
- มะเร็งตับอ่อน
- ภาวะท่อเชื่อมระหว่างตับอ่อนและลำไส้อุดตัน
โรคนี้มีรายงานพบได้ในแมวที่อายุน้อย ประมาณ 6 เดือน แต่ก็พบในแมวโตเต็มวัยได้เช่นกัน และพบแมววัยโตเต็มวัย อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบรายงานความสัมพันธ์ของสายพันธุ์แมวที่มีแนวโน้มของโรคนี้
อาการของแมวที่มีภาวะ EPI
- ถ่ายอุจจาระเหลวเรื้อรัง , ถ่ายอุจจาระไม่เป็นรูปทรง
- มักพบอุจจาระสีเหลืองซีดและมีไขมันปนอยู่ (steatorrhea) หรือมีเศษอาหารที่ไม่ย่อยปนอยู่ในอุจจาระ
- อาเจียนเรื้อรัง
- น้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ
- กินอาหารมากแต่น้ำหนักลด
- ขนหยาบ
การตรวจวินิจฉัย
เมื่อเจ้าของสังเกตพบอาการที่กล่าวมาข้างต้น และนำแมวมาพบสัตวแพทย์ สัตวแพทย์จะเริ่มต้นการสอบถามประวัติอาการที่แสดง จากนั้นจะส่งตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และการตรวจค่าเคมีพื้นฐาน เพื่อวินิจฉัยแยกแยะจากโรคในระบบอื่นๆ
สำหรับการตรวจที่เฉพาะเจาะจงต่อโรคนี้ เรียกว่า การตรวจ trypsin-like immunoreactivity (TLI) test นอกจากนี้ การตรวจระดับ Cobalamin หรือวิตามินบี 12 และ Folate ในเลือดโดยในแมวที่มีภาวะ EPI มักพบการมีระดับ Cobalamin ในเลือดอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ รวมไปถึงการตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการ เพื่อแยกแยะโรคในระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ
การรักษา และการจัดการ แมวที่ป่วยด้วยโรค EPI
การรักษาภาวะตับอ่อนทำงานบกพร่องในแมวเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการ โดยมีหลักการจัดการดังนี้
- การเสริมเอนไซม์ ซึ่งเป็นเอนไซม์สังเคราะห์ที่ช่วยเรื่องการทำงานของระบบการย่อยอาหาร มีทั้งในรูปแบบผงแป้ง หรือผงแกรนูลในแคปซูล โดยให้แมวกินพร้อมกับมื้ออาหาร
- การเสริมด้วยวิตามินบี 12 ด้วยวิธีฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือวิธีการกิน เพื่อทดแทนปริมาณวิตามินบี 12 ในร่างกายต่ำลง จากการป่วยเป็นโรค EPI
- การจัดการทางโภชนาการ เจ้าของต้องปรับอาหารแมวที่มีคุณสมบัติย่อยง่าย มีโปรตีนคุณภาพสูง มีกากใยต่ำ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณไขมันสูง
- การให้ยาปฏิชีวนะ ในรายที่มีการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารมากอย่างผิดปกติ
ปัจจุบัน โรคตับอ่อนทำงานบกพร่อมยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และยังไม่สามารถพยากรณ์ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้อย่างชัดเจน สิ่งสำคัญ เมื่อเจ้าของทราบว่า แมวป่วยด้วยโรคนี้คือ การจัดการที่ดีในระยะยาว ซึ่งแมวที่ตอบนสนองต่อการรักษาดี จะสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี และอายุยืนยาวได้
บทความโดย
สพ.ญ.ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมว PURRfect Cat Hospital
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – แมวอ้วก เกิดจากสาเหตุอะไร และเราจะช่วยได้อย่างไร