เมื่อเจ้าของเครียด สุนัขก็เครียดตามไปด้วย

การศึกษาของมหาวิทยาลัยควีนส์ เบลฟาสต์ ประเทศไอร์แลนด์ พบว่า ระกับความเครียดในเจ้าของ ส่งผลต่อระดับ ความเครียดในสุนัข ได้

ก่อนหน้านี้ การศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้ความเครียดของมนุษย์ พบว่า สุนัขสามารถรับรู้ความเครียดของมนุษย์ ผ่านการดมกลิ่นได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาว่า ความเครียดของเจ้าของส่งผลกระทบต่อ ความเครียดในสุนัข หรือไม่

ทีมวิจัยจึงต้องการทราบว่า การเปลี่ยนแปลงระดับความเครียดของเจ้าของสุนัข ส่งผลต่อความเครียดที่เกิดขึ้นในสุนัข หรือไม่ เช่น เมื่อพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ หรือเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย เป็นต้น

อย่างที่เราทราบกันโดยทั่วไปว่า การไปพบสัตวแพทย์เป็นส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพของสุนัข แต่จากผลการศึกษาก่อนหน้านี้ ได้รายงานว่า การพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์อาจทำให้สุนัขเกิดความเครียดแบบเฉียบพลันได้ เนื่องจากสาเหตุที่ถูกจำกัดพื้นที่ ความไม่แน่นอน ความเจ้ฐปวด และการสูญเสียความเป็นอิสระของสุนัข

ทีมนักวิจัยได้รวบรวมเจ้าของและสุนัข จำนวน 28 ตัว เพื่อเข้าร่วมการศึกษาในครั้งนี้ โดยดำเนินการศึกษาที่คลิกนิกสัตวแพทย์แห่งหนึ่งในเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์

ในจำนวนสุนัขทั้งหมดที่เข้าร่วมการศึกษา แบ่งเป็นสุนัขเพศผู้ 10 ตัว และตัวเมีย 18 ตัว โดยมีช่วงอายุตั้งแต่ 1 ถึง 17 ปี

ความเครียดในสุนัข, สุนัขเครียด

การทดสอบความเครียดของเจ้าของต่อ ความเครียดในสุนัข

ทีมวิจัยได้แบ่งกลุ่มสำรวจอย่างละครึ่ง เป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก เจ้าของสุนัขจะทำสมาธิด้วยการฝึกหายใจเข้าออก เพื่อลดระดับความเครียด และให้รู้สึกผ่อนคลายระหว่างการศึกษา รวมถึงเจ้าของจะได้ได้อ่านข้อความเชิงบวก เพื่อสร้างทัศนคติที่ดี เช่น สุนัขทำให้ฉันมีความสุข และฉันดูแลสุนัขของฉันอย่างดี เป็นต้น

กลุ่มที่สอง เจ้าของสุนัขได้ทำ “การทดสอบความเครียดแบบดิจิทัล” ซึ่งส่งผลให้เจ้าของเกิดตวามเครียดระดับปานกลางได้

ระหว่างการศึกษาภายในคลินิกสัตวแพทย์ ทีมวิจัยได้วัดผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการติดเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจไว้ที่เจ้าของและสุนัข และได้บันทึกวิดีโอตลอดการสำรวจ เพื่อประเมินว่า พฤติกรรมของสุนัขเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร

ผลจากการสำรวจพบว่า “การเปลี่ยนแปลงระดับความเครียดของเจ้าของ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับความเครียดในสุนัขด้วย และสุนัขก็ตอบสนองต่อความเครียดของเจ้าของเช่นกัน”

ทีมนักวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงอัตรการเต้นของหัวใจในเจ้าของ “สามารถคาดการณ์” การเปลี่ยนแปลงอัตราการเต้นของหัวใจในสุนัขได้

ผลจากการสำรวจครั้งนี้สอดคล้องกับสมมติฐานที่ทีมนักวิจัยตั้งไว้ในตอนต้นว่า การเปลี่ยนแปลงระดับความเครียดของเจ้าของ ส่งผลต่อความเครียดในสุนัขได้

ดังนั้น ทีมนักวิจัยจึงให้คำแนะนำว่า สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสถานพยาบาลสัตว์ อาจจะต้องคิดค้นกลยุทธ์เพื่อช่วยลดความเครีดยของเจ้าของสุนัข เพื่อให้ความเครียดในสุนัขลดลงด้วย

แนวทางปฏิบัติอื่น ๆ ทีมวิจัยแนะนำเพิ่่มเติมว่า ระหว่างที่เจ้าของพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ในคลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์ ควรให้เวลาสุนัขได้ปรับตัวในสถานที่ก่อน และไม่ควรเร่งเร้าสุนัขมากจนเกินไป ด้วยแนวทางนี้ก็จะช่วยลอความเครียดในสุนัขได้อีกทางหนึ่ง

“งานวิจัยนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้เวลาสุนัขปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของคลินิก และโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อลดความเครียดที่สุนัขต้องเผชิญในสถานที่เหล่านี้ ซึ่งอาจช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจร่างกาย หรือการวินิจฉัยโรคได้” ทีมนักวิจัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยยอมรับว่า จำนวนสุนัขและเจ้าของที่เข้าร่วมมีจำนวนน้อยเกินไป เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลาในการศึกษาวิจัย และจุดนี้ก็ยังเป็นจุดที่ทำให้งานวิจัยครั้งนี้ยังต้องศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มากกว่านี้

ความเครียดในสุนัข, สุนัขเครียด

การรับรู้ความเครียดของสุนัข

ที่ผ่านมา การศึกษาความสัมพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างเจ้าของและสุนัข ให้ข้อมูลว่า สุนัขสามารถรับรู้ความเครียดจากเจ้าของ ผ่านการดมกลิ่นได้

เนื่องจาก สุนัขมีประสาทการดมกลิ่นที่ยอดเยี่ยม จึงสามารถรับรู้ฟีโรโมนที่ปลดปล่อยออกจากมนุษย์ เมื่อเราเครียดได้ การดมกลิ่นของสุนัขยังเป็นวิธีการหนึ่งที่สุนัขใช้เพื่อการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม และการทำความรู้จักกับมนุษย์ หรือสุนัขตัวอื่น ๆ

เมื่อสุนัขเกิดความเครียด พวกเขามักแสดงออกผ่านภาษากาย เช่น การเลียริมฝีปาก หายใจเร็วขึ้น กระสับกระส่าย แสดงความก้าวร้าว และอาจส่งผลถึงคุณภาพของการนอนหลับ ถ้าหากสุนัขมีความเครียดเรื้อรังในระยะยาว ก็จะส่งผลต่อพฤติกรรม และสุขภาพของสุนัขได้

งานวิจัยครั้งนี้เผยแพร่ เมื่อเดือนตุลาคม 2024 บนวารสาร Applied Animal Behaviour Science


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – ความผูกพันระหว่างสุนัขและเจ้าของ มีรูปแบบใดบ้าง