เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของลอสแองเจลีส ได้ออกคำเตือนไปยังเจ้าของสัตว์เลี้ยง ให้หลีกเลี่ยง อาหารดิบสำหรับสัตว์เลี้ยง (BARF food) แก่สุนัขและแมว หลังจากพบ ไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ในตัวอย่างที่สุ่มตรวจ
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (FDA) เปิดเผยว่า แมวมากกว่าสิบตัวทั่วสหรัฐฯ ตายหรือล้มป่วย ด้วยโรคไข้หวัดนก ที่แพร่ระบาดในผลิตภัณฑ์ อาหารดิบสำหรับสัตว์เลี้ยง (BARF food) ทำให้ทางการระดับรัฐบาลกลางต้องสอบสวนว่า อาหารสัตว์เลี้ยงที่ไม่ปรุงสุก ปนเปื้อนไวรัสไข้หวัดนก ได้อย่างไร
ในแถลงการรณ์ล่าสุด FDA แนะนำว่า ผู้ผลิตอาหาร และเจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรพิจารณาการให้อาหารสัตว์อย่างรอบคอบมากขึ้น เช่น เลือกวัถุดิบจากแหล่งที่่น่าเชื่อถือ และตรวจสอบย้อนกลับได้ หรือเลือกอาหารสัตว์เลี้ยงที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ซึ่งจะช่วยกำจัดไวรัสที่ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ได้
ไวรัสไข้หวัดนก H5N1 เริ่มแพร่ระบาดในสหรัฐฯ ช่วงปี 2022 จนถึงปัจจุบัน ไวรัสได้แพร่กระจายผ่านสัตว์ปีกเข้าไปในหลายรัฐ ส่งผลให้แมวบ้าน และแมวจรหลายสิบตัว รวมถึงปศุสัตว์ ติดเชื้อจนกระทั่งเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต โดยเฉพาะแมวบ้านที่กินอาหารดิบที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ปนเปื้อนเชื้อไข้หวัดนก
คำแนะนำของ FDA ระบุว่า “การสืบสวนเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อ H5N1 พบไวรัสแพร่สู่แมวผ่านทางอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์นมดิบ ที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรส์ และเนื้อสัตว์ดิบ โดยเชื้อ H5N1 อาจเป็นสาเหตุให้สุนัขและแมวเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ผู้บริโภคพิจารณาความเสี่ยงของเชื้อก่อโรคที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้อย่างรอบคอบ ก่อนให้สัตว์เลี้ยงของตนกินเนื้อสัตว์ดิบ หรือผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ดิบ”
ทางด้านของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค และสมาคมสัตวแพทย์ แห่งสหรัฐอเมริกา ไม่แนะนำให้ให้อาหารที่มีส่วนผสมของเนื้อดิบแก่สัตว์เลี้ยง เนื่องจากอาจมีเชื้อก่อโรค H5N1 ปนเปื้อนอยู่
“การปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทุกรูปแบบ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถกำจัดเชื้อไวรัส H5N1 ในเนื้อสัตว์ นม และไข่ จึงแนะนำว่า เจ้าของควรปรุงเนื้อสัตว์ให้สุกกก่อนนำไปให้สัตว์เลี้ยง และดูแลไม่ให้สัตว์เลี้ยงออกไปล่านกนอกบ้าน” FDA กล่าวเพิ่มเติม
ในฝั่งของผู้ผลิตอาหาร BARF หรืออาหารดิบสำหรับสัตว์เลี้ยง ต่างพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ถึงความปลอดภัยในอาหาร BARF ที่จำหน่ายในปัจจุบัน โดยกล่าวอ้างถึงกระบวนการคัดเลอกวัตถุดิบที่มีคุณภาพ จากฟาร์มที่ได้รับการรับรองจาก FDA และเป็นวัตถุดิบเกรดเดียวกับอาหารมนุษย์ และยังผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้แรงดันสูง (high pressure processing, HPP) เพื่อกำจัดเชื้อก่อโรคที่ปนเปื้อนมาในเนื้อสัตว์
กระบวนการผลิตที่ใช้แรงดันสูง เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตอาหาร ที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในวิธีที่กำจัดเชื้อก่อโรคที่อยู่ในอาหาร โดยไม่สูญเสียความสดใหม่ของวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม HPP เป็นเพียงขั้นตอนในโรงงานผลิตเท่านั้น การปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในอาหาร อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการขนส่ง และการเตรียมอาหารในครัวเรือน ก่อนนำไปให้สัตว์เลี้ยง
“ดังนั้น วิธีการเดียวที่จะมั่นใจได้ว่า เนื้อสัตว์ปราศจากเชื้อก่อโรค คือการปรุงสุกด้วยความร้อน” ดร. เจ. สก็อตต์ วีส อาจารย์ วิทยาลัยสัตวแพทย์ออนแทรีโอ และผู้อำนวยการศูนย์สาธารณสุขและโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน มหาวิทยาลัยเกลฟ์ กล่าว
เจ้าของสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ อาจคิดว่า อาหารสดแช่งแข็งสามารถยับยั้งเชื้อก่อโรคที่ปนเปื้อนมาในอาหารได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การแช่แข็งไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้

การเฝ้าระวังในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายศรชัย โตวานิชกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (สงต.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ว่า ตลาดนัดมีนบุรี และตลาดนัดธนบุรี ซึ่งเป็นตลาดสังกัด กทม. ที่มีการจำหน่ายสัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้กำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวด
โดยได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ และเฝ้าระวังโรค การเก็บตัวอย่างมูลสัตว์ปีกเพื่อตรวจหาเชื้อ รวมถึงการตรวจสอบใบอนุญาตค้าสัตว์เลี้ยง เพื่อให้มั่นใจว่าการค้าสัตว์ในตลาดเป็นไปตามมาตรฐานด้านสุขอนามัย
ทั้งนี้ สงต. เตรียมขยายการตรวจสอบไปยังสัตว์ประเภทอื่นเพิ่มเติม เพื่อป้องกันความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่มาใช้บริการ
ปัจจุบัน ในประเทศไทยยังไม่พบการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก และกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเฝ้าระวังไวรัส H5N1 ตั้งแต่ปี 2024 ที่ผ่านมา โดยผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ ได้ให้คำแนะนำกับประชาชนไว้ว่า ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีก หรือสัตว์ป่วย และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่ไปสัมผัสสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ
เจ้าของควรสังเกตสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ หากพบอาการผิดปกติ เช่น เบื่ออาหาร เซื่องซึม มีไข้ และมีสารคัดหลั่งไหลออกจากตาและจมูก ให้รีบติดต่อสัตวแพทย์ทันที และคัดแยกสัตว์เลี้ยงที่มีอาการผิดปกติออกจากสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ
ข้อมูลอ้างอิง
CBS News – More than a dozen cats dead or sickened by bird flu in raw pet food, FDA says
NBC News – FDA recommends pet food companies revisit safety plans amid bird flu outbreak
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ – อาหาร BARF (Bone And Raw Food) ชัวร์หรือมั่วนิ่ม ?
