ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมกับภาวะซึมเศร้าในสัตว์เลี้ยง

สุนัขและแมวก็มีโรคทางจิตเวชนะรู้ยัง มีมานานแล้วด้วยเพียงแต่เราอาจจะเพิกเฉย หรือ ไม่คิดว่ามันคือปัญหาที่แก้ไขได้ โดยโรคจิตเวชในคนที่เราพบกันบ่อยๆ อย่าง โรคซึมเศร้า ไบโพลาร์ โรควิตกกังวล (เคยเจอคนที่มีอาการกลัวความสูง กลัวที่แคบ กลัวอะไรแปลกๆ จนมีอาการหอบหายใจแรง หรือ เป็นลม บางคนมีอาการย้ำคิดย้ำทำ นั่นคือตัวอย่างของโรควิตกกังวล) เรามาดูกันว่าสัตว์เลี้ยงของเราเป็นโรคเหล่านี้แล้วหรือยัง

ภาวะซึมเศร้า เกิดขึ้นได้กับทั้งในคนและสัตว์ เมื่อพบกับสถานการณ์ที่ผิดหวัง ถูกทำร้ายจิตใจ ย่อมมีภาวะเศร้าได้เป็นธรรมดา เจ้าตูบที่ถูกเจ้านายดุ เพราะกัดโซฟา ขุดดิน ทำบ้านสกปรก ก็ย่อมหงอยเป็นธรรมดา แต่ถ้าในคนที่เป็น “โรค” ซึมเศร้าแล้ว จะไม่แค่หงอยหรือซึมเฉยๆ อาจจะมีอาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ กระวนกระวาย หรือ แม้แต่คิดฆ่าตัวตายเลยทีเดียว ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานจากทั่วโลกว่ามี “โรคซึมเศร้า” ในสุนัขและแมว (ไม่พบรายงานไม่ได้หมายความว่าไม่มีนะจ๊ะ แอปเปิ้ลก็หล่นลงพื้นมาตั้งแต่กำเนิดต้นแอปเปิ้ลต้นแรกของโลก ซึ่งน่าจะหลายพันปีมาแล้ว แต่เพิ่งจะมารายงานค้นพบกฎความโน้มถ่วงแห่งเอกภพโดยไอแซก นิวตันเมื่อ 300 กว่าปีที่แล้วนี้เอง) แต่อาการผิดปกติทั้งหลายที่คล้ายคลึงกับในคน ก็อาจจะเป็นหลักฐานที่บอกว่า หมาแมวก็เป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

กลไกหนึ่งของโรคซึมเศร้าในมนุษย์คือการที่สมองมีสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า เซโรโทนิน (serotonin) และ นอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ต่ำผิดปกติ ซึ่งในสัตว์ก็ใช้สารสื่อประสาทเหล่านี้ในการแสดงอารมณ์ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นเป็นไปได้ว่าสัตว์ก็สามารถเป็น โรคซึมเศร้า หรือ มี ภาวะซึมเศร้า ได้เช่นเดียวกับมนุษย์นั่นเอง

ขอบคุณภาพจาก : https://fearfreepets.com

การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชในคนต้องใช้การสัมภาษณ์อย่างละเอียด รวมถึงการทำแบบทดสอบที่เกี่ยวกับความรู้สึก (ทีนี้คุณลองคิดว่าตัวเองเป็นน้องหมา น้องเหมียวแล้วช่วยตอบคำถามนี้หน่อยนะ คุณจะสื่อสารกับเจ้านายคุณยังไง หรือคุณๆ เจ้านาย คุณตอบคำถามเหล่านี้แทนสัตว์เลี้ยงของคุณได้หรือไม่)

  • รู้สึกเบื่อบ่อยๆ ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลิน
  • รู้สึกไม่สบายใจ ท้อแท้
  • คิดว่าตัวเองล้มเหลว ทำให้ตัวเองหรือครอบครัวผิดหวัง
  • คิดว่าตัวเองไร้ค่า เสียจนต้องการฆ่าตัวตาย

และคำถามอื่นๆอีกมาก ที่อาศัยอารมณ์ ความรู้สึกในการตอบ ฉะนั้นคุณๆเจ้านายและคุณหมอไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคำตอบจะเป็นเช่นไร นั่นน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราไม่สามารถสรุปว่าในสุนัขและแมวป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้หรือไม่ ทีนี้เรามาดูอาการที่พอจะคล้ายกับอาการของโรคซึมเศร้ากัน

ภาวะซึมเศร้า
ขอบคุณภาพจาก : https://slate.com

เจ้าตูบที่บ้านทำไมเอาแต่นอน ไม่ร่าเริงเหมือนแต่ก่อน? อย่าเพิ่งสรุปว่าเป็นโรคซึมเศร้า หรือ โรคชราทั่วไป เค้าอาจจะกำลังป่วยอยู่ก็ได้นะ หมออาจจะตรวจพบโรคของฮอร์โมนไธรอยด์ (Thyroid) หรือ โรคคุชชิ่ง (Cushing, Hyperadrenocorticism) ซึ่งไม่ใช่แค่ทำให้เกิดอาการเหงาซึมเท่านั้น โรคนี้อาจจะกำลังก่อปัญหาในร่างกายอยู่อย่างเงียบๆ ก่อนที่จะระเบิดปัญหาจนเกินแก้ไขได้ในอนาคตก็เป็นได้ นอกจากนี้ โรคกระดูกและข้อ สะโพกเสื่อม สะบ้าหลวม โรคหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือแม้แต่โรคอ้วน ก็อาจจะทำให้เค้าเจ็บปวดเกินกว่าที่จะลุกขึ้นมาวิ่งเล่นได้อย่างแต่ก่อน

เจ้าตูบหรือน้องเหมียวที่เคยกินเก่ง กลับมีอาการไม่ยอมกิน ทำไมกินน้อยลงเป็นแมวดมล่ะ เค้าเสียใจที่โดนหม่าม๊าดุไปเมื่อวันก่อนจนอดอาหารประท้วงหรือเปล่า เป็นปัญหาทางจิตเวชหรือเปล่า? คำตอบในฐานะของสัตวแพทย์คือ “ก็ไม่รู้สินะ…” แค่คำคาดเดาอาจเป็นไปได้ แต่เพื่อความมั่นใจ รบกวนพาน้องมาตรวจสุขภาพเสียก่อนเถิด โรคตับ โรคไต โรคเหงือก ฟันผุ หูอักเสบ มีไข้ ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ เนื้องอกในทางเดินอาหาร มดลูกอักเสบ ม้ามแตก หรือการป่วยอื่นๆอีกมากมาย ที่ทำให้สัตว์เลี้ยงของคุณยังไม่อยากกินอาหารในช่วงนี้

น้องหมาที่บ้านนอนไม่หลับ กลางคืนตื่นเดินไปเดินมา วนไปวนมา แต่ไม่เห็นเค้าทำอะไรสักที แบบนี้เค้าเป็นอาการนอนไม่หลับจากโรคซึมเศร้าคล้ายในคนหรือเปล่า? เอาจริงๆทั้งสุนัขและแมวก็มีภาวะนอนไม่หลับได้นะ หมอเรียกว่า night-time awake อันเป็นอาการที่พบบ่อยว่าเกิดจากโรคสมองเสื่อมในสุนัขชรา หรือจริงๆแล้วอาจจะบ่งชี้ว่าเค้ามีโรคทางสมองอยู่ จนทำให้วงจรการหลับตื่นเค้ามีปัญหา นอกจากนี้โรคเบาหวาน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ลำไส้อักเสบ ก็อาจจะเป็นต้นเหตุให้เค้าตื่นขึ้นมาทำธุระเวลากลางดึกก็เป็นได้

ส่วนของการคิดฆ่าตัวตายนั้นไม่พบทั้งในสุนัขและแมว เคยมีรายงานข่าวเรื่องสุนัขกระโดดจากสะพาน แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่การตั้งใจฆ่าตัวตาย จากการวิเคราะห์เราพบว่ามันคืออาการทางสมองที่ทำให้ขาดสติชั่วคราว แล้วมีการวิ่งอย่างบ้าคลั่ง จนสุดท้ายก็กระโดดตกจากสะพาน ทำให้เสียชีวิต อย่างไรก็ตามน้องหมาน้องแมวอาจมีอาการทำร้ายตัวเองได้ เช่น กัดแทะตามส่วนต่างๆของตัวเอง ข่วนหรือแม้แต่การทึ้งถอนขนตัวเอง บางตัวแทะจนลึกถึงกระดูก โดยสาเหตุจะมาจากโรคของปลายประสาท โรคผิวหนัง หรือสุดท้ายคือโรควิตกกังวลจนทำให้เกิดการย้ำคิดย้ำทำ ไล่งับตัวเองเพื่อระบายความกังวล

สรุปแล้ว ถ้าสัตว์เลี้ยงแสนรักของเรามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ควรพาไปพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจว่าเค้ามีปัญหาสุขภาพซ่อนอยู่หรือเปล่า แต่ถ้าเคลียร์เรียบร้อยแล้วล่ะก็ ลองย้อนมาดูว่าเราเอง อาจจะเป็นคนทำให้เค้าเกิดปัญหานั้น เช่น การปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่เช่นเคย มีการนำสัตว์ตัวใหม่เข้ามาในบ้านโดยเค้าไม่เห็นด้วย เราไปทำให้สิ่งแวดล้อมที่เค้าคุ้นเคยและรู้สึกว่าอบอุ่นปลอดภัยมาตลอดนั้นเปลี่ยนไปทันที หรือเราแสดงออกอะไรให้เค้าสับสน เช่น ดุด่า ตี ทำโทษเค้าในทางผิดๆ หรือแม้แต่การโอ๋ในทางที่ผิด ก็อาจจะเป็นสาเหตุให้เค้าเกิดภาวะซึมเศร้าได้

นอกจากนี้ ถ้ามีการปรับปรุงการเลี้ยงให้ดีขึ้นแล้ว เค้าก็ยังไม่ดีขึ้น การใช้ยาเพื่อปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองก็อาจจะช่วยให้เค้ามีความสุขมากขึ้น ทั้งนี้ต้องใช้ยาโดยการควบคุมของสัตวแพทย์เท่านั้น เพราะยาเหล่านั้นอาจก่อผลข้างเคียง หรืออาจทำให้อาการที่เป็นอยู่แล้วแย่ลงไปอีกก็ได้ บ้านและสวน Pets

 

บทความโดย

สพ.ญ.แทนหทัย กระจ่างแจ้ง
Tanhatai Krajarngjang
คลินิกระบบประสาท โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
Neurology Clinic, Thonglor International Pet Hospital


 

น้องหมา น้องแมว เป็นโรคเครียดได้ด้วยหรือ? เค้าเครียดเรื่องอะไรกันนะ?

ถ้ารู้จักท่าทางก็อ่านใจแมวได้

10 สัญญาณ “โรคเหงา” หรือ “โรคซึมเศร้าในสุนัข” ที่คนเลี้ยงสุนัขต้องระวัง!